สั่งเข็นส่งออกปีหน้าโต 14%

สั่งเข็นส่งออกปีหน้าโต 14%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เร่งปรับกลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพแยก 4 กลุ่มคุมสินค้า 10 อันดับต้น

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังประชุมร่วมระหว่างกระทรวงพาณิชย์และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยว่า ได้ชี้แจงให้ภาคเอกชนรับทราบถึงการปรับยุทธศาสตร์การส่งออกใหม่ โดยตั้งประธานกลุ่มสินค้าเพื่อดูแลสินค้าส่งออก 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสินค้าหลักที่ทำรายได้เข้าประเทศสูงสุด 10 อันดับแรก กลุ่มสินค้าเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทย กลุ่มสินค้าใหม่ที่มีศักย ภาพในการส่งออก และกลุ่มสินค้า เอสเอ็มอีและโอทอป เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและทำงานกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งผลักดันให้การส่งออกในปี 53 ขยายตัว 14% ให้ได้ โดยจะมีการวัดผลการทำงานทุก 3 เดือน

ทั้งนี้กลุ่มสินค้าที่ทำรายได้สูงสุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วยข้าว สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มสินค้ายานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยางพารา สินค้าวัสดุก่อสร้าง และเม็ดพลาสติก กลุ่มสินค้าเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ ผ้าไหม กล้วยไม้ อาหารไทย สปาไทย กลุ่มสินค้าใหม่ที่มีโอกาสในการขยายการส่งออก เช่น เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์เภสัช เครื่องมือแพทย์ เครื่องเขียน ธุรกิจสิ่งพิมพ์ และกลุ่มสินค้าเอสเอ็มอี และโอทอป

นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ ถือเป็นแผนที่สอดคล้องกับเอกชน และเชื่อว่าเป็นแนวทางทำงานที่ถูกต้อง ที่จะมีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวได้ แต่เป้าหมายปี 53 ที่กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะขยายตัว 14% ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก โดยในมุมมองของภาคเอกชนคิดว่า 10% ถ้าทำได้ก็ถือว่าเก่งแล้ว แต่ถ้าทำได้ 14% จริง จะเป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวกได้มากขึ้น

การที่รัฐมนตรีกล้าตั้งเป้า 14% ถือว่าท้าทายมาก ผมเองคิดว่าได้ 10% ก็เก่งแล้ว แต่คิดว่าการที่ตั้งเป้าไว้สูง ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะคนค้าคนขาย ถ้าตั้งเป้าที่ทำได้ ไม่ท้าทาย ไม่มีใครเขาทำกัน

ส่วนการแก้ไขปัญหามาบตาพุด ในส่วนของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มอบหมายให้ สภาอุต สาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รับไปประสานงานต่อ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่รู้ปัญหาเรื่องนี้ดี โดยในส่วนของภาคเอกชนต้องการให้การแก้ไขปัญหาจบภายใน 4-5 เดือนนี้ และให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย เพราะถ้าหากการแก้ไขปัญหายังล่าช้ามากกว่า 1 ปี จะยิ่งเป็นแรงบั่นทอนเศรษฐกิจและการลงทุนในอนาคต ทำให้เม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่มูลค่า 40,000-50,000 ล้านบาท หายไปในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า และอาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทรุดตัวลงช่วง 10 ปีข้างหน้าได้.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook