รร.ร่วมฤดีฯปิดอีก2ปีข้างหน้า

รร.ร่วมฤดีฯปิดอีก2ปีข้างหน้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ระบุผู้บริหารเจอมรสุมมีคำสั่งลดเงินเดือนครู

นักเรียนโรงเรียนนานาชาติไฮโซ ร่วมฤดีวิเทศศึกษา เศร้า อดร่วมฉลองงานคริสต์ มาสประจำปีนี้ หลังผู้บริหารเจอมรสุมข่าวโรงเรียนอายุเก่าแก่ 46 ปี จะปิดตัวลงอีก 2 ปีข้างหน้า ต้องสั่งปิดโรงเรียนชั่วคราวถึงปีใหม่หลังเด็กสอบเสร็จ แจ้งเปิดอีกครั้ง 11 ม.ค.53 ผู้ปกครอง ระบุ โรงเรียนขอเงินค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้นอ้างเหตุผลจะนำไปขึ้นเงินเดือนครู แต่กลับมีปัญหาไปขอลดเงินเดือนครู-หากครูไม่พอใจให้ลาออกไป จนหวั่นเกรงจะส่งผลกระทบต่อการศึกษาของบุตรหลาน สอบถามแล้วไม่มีใครชี้แจงชัดเจน ย้ำ แต่ละปีได้เงินกว่า 600 ล้านบาท แล้วทำไมบริหารขาดทุน ส่วน นักเรียน เผยครูเข้าข่ายถูกลดเงิน-เลิกจ้าง ปล่อยโฮกลางห้องเรียน เด็กที่มีผู้ปกครองเคลื่อนไหวถูกจับตามองเป็นพิเศษ ผู้บริหาร ชี้ เป็นความเข้าใจผิดโรงเรียน-ครู-ผู้ปกครอง เตรียมหารือแล้ว

จากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 51 ต่อเนื่องมาถึงปี 52 ส่งผลกระทบให้การบริหารงานในหน่วยงานต่าง ๆทั้งภาครัฐและเอกชนเกิดภาวะขาดทุนกันทุกแห่ง บางแห่งมีการปรับเปลี่ยนแนวนโยบายการทำงานทั้งลดเงินเดือน ปลดพนักงาน หรือลดโบนัส สวัสดิการ เป็นต้น โดยในกลุ่มของ สถานศึกษา ซึ่งเป็นสถาบันหลักของสังคมในการให้ความรู้แก่เยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตนั้นก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน บางแห่งต้องมีการปิดกิจการไป ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนนานาชาติที่ก่อตั้งมานานเกือบ 50 ปี อย่างโรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษา ที่ช่วงปลายเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา เกิดกระแสข่าวจะปิดโรงเรียนอีก 2 ปีข้างหน้า

โดยกระแสข่าวดังกล่าวทำให้กลุ่มนักเรียน ผู้ปกครอง ต่างแตกตื่นตรวจสอบข่าวดังกล่าวกับกลุ่มผู้บริหารโรงเรียนกันจ้าละหวั่น แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จนเมื่อต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เกิดการชุมนุมหยุดเรียนของนักเรียนเพื่อประท้วงและทวงถามความชัดเจนเรื่องการปิดโรงเรียน ส่วนกลุ่มผู้ปกครองได้ยื่นเรื่องต่อคณะสงฆ์วัดมหาไถ่ที่ จ.ชลบุรี ใน ฐานะเจ้าของโรงเรียน และกระทรวงศึกษาธิการ ให้ตรวจสอบการบริหารจัดการของคณะผู้บริหารโรงเรียน และเรื่องการปิดโรงเรียนด้วย เนื่องจากโรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษา หรือโรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี เป็นโรงเรียนที่มีอายุ 46 ปี เป็นสถาบันที่ให้ความรู้แก่เยาวชนไทยและต่างชาติมายาวนาน หากมีการปิดกิจการจริงจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากสำหรับสถานศึกษาที่อยู่คู่สังคมไทยมานานแบบนี้นั้น

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ ซึ่งเป็นผู้ปกครองนักเรียน เปิดเผยว่า เท่าที่ทราบข่าวโรงเรียนแห่งนี้จะปิดอีก 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากมีปัญหาภาวะด้านการเงิน จนถึงขั้นที่ต้องปิดโรงเรียนในอีก 2 ปีข้างหน้า ทำให้กลุ่มผู้ปกครองต่างวิตกกังวลว่าบุตรหลานของตนจะไม่มีที่เรียน ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมามีนักเรียนไปพบเอกสารฉบับหนึ่งในห้องพักอาจารย์โดยบังเอิญ ซึ่งเนื้อหาในเอกสาร ระบุว่าจะปรับลดอัตราค่าจ้างเงินเดือนของอาจารย์ผู้สอน โดยปรับลดตั้งแต่ 15,000-70,000 บาท ต่อคนต่อเดือน ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้มีการเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 8% โดยคณะกรรมการผู้บริหารโรงเรียนอ้างว่าเพื่อนำเงินไปเพิ่มค่าจ้าง เงินเดือนให้กับอาจารย์ผู้สอนซึ่งไม่สอดคล้องกัน

นอกจากนี้โรงเรียนมีการออกหนังสือให้อาจารย์ผู้สอนยอมรับเงื่อนไขสำหรับการ ปรับลดเงินเดือนอีกด้วย แต่ถ้าหากผู้ใดไม่ยอมรับเงื่อนไขก็จะให้ออกจากโรงเรียนไป ซึ่งอาจารย์ที่ถูกลดเงินเดือนส่วนย์ชาวเอเชียที่สอนมีกว่า 15-20 ปีขึ้นไป กลุ่ม ผู้ปกครองจึงเกรงว่าหากครูกลุ่มนี้ไม่อยู่ในโรงเรียนนี้แล้วจะทำให้คุณภาพการเรียนการสอนทางวิชาการของเด็กนักเรียนจะลดต่ำลง ซึ่งจะไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปต่อปีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดกระแสข่าวจะปิดโรงเรียนอีก ทำให้เมื่อช่วงต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ปกครองและนักเรียนจำนวนหนึ่ง มาชุมนุมสอบถามเรื่องดังกล่าว แต่ไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใดว่าโรงเรียนจะปิดหรือจะเปิดต่อไป แจ้งเพียงว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบและพิจารณาของคณะกรรมการบริหารโรงเรียน

ส่วนการยื่นหนังสือต่อกระทรวงศึกษาธิการนั้นเป็นความจริง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงจะเรียกทั้งฝ่ายผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง ครู ไปหารือร่วมกัน แต่ยังไม่ทราบวันเวลาที่ชัดเจน แต่กลุ่มผู้ปกครองจะเดินทางไปกระทรวงฯวันที่ 23 ธ.ค.นี้ เพื่อสอบถามความคืบหน้า ส่วนการยื่นเรื่องต่อเจ้าคณะมหาไถ่ ที่ศูนย์พระมหาไถ่ พัทยานั้น กลุ่มผู้ปกครองกว่า 50 คน ได้ไปยื่นหนังสือไว้เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบพฤติกรรมของผู้บริหารบางคนที่เข้าข่าย กระทำผิดต่อหน้าที่ เพราะในแต่ละปีมีการจัดเก็บเงินได้หลายร้อยล้านบาท แต่การบริหารงานกลับผิดพลาด โดยปี 51 โรงเรียนเก็บรายได้กว่า 643 ล้านบาท แต่มีรายจ่ายสูงผิดปกติ คือเงินเดือนผู้บริหาร 44 ล้านบาทต่อปี และค่าดอกเบี้ยกู้ยืม 37 ล้านบาทต่อปี ซึ่งโรงเรียนต้องอธิบายในส่วนนี้

น.ส. ก. (นามสมมุติ) นักเรียนชั้นเกรด 11 กล่าวว่า ตนก็รู้สึกตกใจมากหลังจากทราบเรื่องนี้ โดยส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่าโรงเรียนจะปิดหรือขาดทุนได้ เพราะโรงเรียนไม่ได้มีทรัพย์สินอะไรเพิ่มขึ้นมากมาย ไม่น่าจะมีหนี้มากถึงขนาดต้องปิดโรงเรียน แต่ในโรงเรียนไม่มีการพูดอะไรกันมาก เพราะนักเรียนและครูบางส่วนกลัวว่าผู้บริหารจะรับรู้แล้วอาจจะถูกลงโทษ แต่มีอาจารย์บางคนที่อยู่ในข่ายถูกลดเงินเดือนและเลิกจ้างนั้นมี อาการเคร่งเครียดชัดเจน บางรายถึงกับร้อง ไห้ออกมาต่อหน้านักเรียนในชั้นเรียนด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ในส่วนของเด็กนักเรียนที่มีผู้ปกครองไปร่วมเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าวถูกทางโรงเรียน สั่งเจ้าหน้าที่ดูพฤติกรรมเป็นพิเศษด้วย

ก่อนหน้านี้ น.ส.ดวงพร ชินสมบูรณ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวดังกล่าวว่า ทาง สช. ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว คงต้องรอฟังผลสรุปก่อน หากโรงเรียนมีปัญหาถึงขั้นไม่จ่ายเงินเดือนครู หรือมีผลกระทบกับนักเรียน สช.ก็จะเข้าไปช่วยบริหารดูแล แต่ที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีกรณีที่ สช.ต้องเข้าไปดูแลเรื่องการเงินให้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวได้ไปสังเกตการณ์ที่บริเวณหน้าโรงเรียน ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 42 หมู่ 4 ถนนรามคำแหง เขตมีนบุรี ในวันศุกร์ที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าเป็นวันสอบวันสุดท้ายของนักเรียนทุกระดับ หลังจากนั้นทางโรงเรียนได้ประกาศปิดการเรียนการสอนจนถึงวันที่ 8 ม.ค. 53 ให้นักเรียนมาโรงเรียนได้ในวันที่ 11 ม.ค. 53 ซึ่งผิดปกติไปจากปีก่อนๆที่หลังจากการสอบประจำภาคเรียนเสร็จแล้ว จะมีการจัดงานฉลองวันคริสต์มาสก่อนที่จะหยุดเรียนยาวเพื่อให้นักเรียนผู้ปกครองได้ร่วมกันฉลองงานคริสต์มาสและปีใหม่ แต่ในปีนี้ไม่มีการจัดกิจกรรมฉลองวันคริสต์มาสแต่อย่างใดทำให้เด็กนักเรียนหมดโอกาสในการร่วมสนุกกับประเพณีนี้

ทั้งนี้ในการตรวจสอบข้อมูลเรื่องดังกล่าวพบว่าตามเว็บไซต์หรือบอร์ดที่เกี่ยวกับข่าวการปิดโรงเรียนร่วมฤดีวศึกษานั้น ได้มีผู้มาแสดงความคิดเห็นไว้หลากหลาย ทั้งที่อ้างว่าเป็นกลุ่มผู้ปกครอง กลุ่มนักเรียน และกลุ่มผู้บริหาร โดยกลุ่มผู้ปกครองนั้นมีเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกแสดงความคิดเห็นว่าการนำเสนอข่าวดังกล่าวทำให้มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจนักเรียน ครูที่สอน ขอให้ตรวจสอบรายละเอียดให้ชัดเจนก่อนที่จะมีการนำเสนอข่าวและควรจะนำเสนอข้อมูลทั้ง 2 ด้าน

แต่ผู้ปกครองอีกกลุ่มหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่าต้องการให้ผู้บริหารออกมาชี้แจงเรื่องทั้งหมดให้ชัดเจน อาทิ เรื่องขอเก็บค่าเล่าเรียนเพิ่ม แต่ไปลดเงินเดือนครู ทั้ง ๆ ที่ช่วงขอขึ้นเงินค่าเล่าเรียนนั้นผู้บริหารอ้างว่าต้องการนำเงินไปให้ครู แต่ในความเป็นจริงไปลดเงินเดือนครู ซึ่งผู้ปกครองมีความกังวลใจว่าการลดเงินเดือนครูทำให้ครูที่มีประสิทธิภาพในการสอนจะขาดกำลังใจในการสอนซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อนักเรียน ส่วนกลุ่มที่อ้างเป็นนักเรียนนั้นต้องการความชัดเจนเรื่องการปิดโรงเรียนว่าทางผู้บริหารจะดำเนินการอย่างไร

ขณะที่กลุ่มอ้างเป็นผู้บริหารโรงเรียน ชี้แจงว่าไม่มีการปิดโรงเรียนแต่อย่างใด ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะผู้ปกครองและครูส่วนหนึ่งไม่เข้าใจการทำงานของผู้บริหาร ที่จำเป็นต้องลดบุคลากรและเงินเดือนของครูเพื่อให้เหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจ ส่วนผู้ปกครองนั้นมีความกังวลใจว่าหากลดเงินเดือนครูจะทำให้ประสิทธิภาพหรือผลการศึกษาของบุตรหลานจะได้รับผลกระทบไปด้วย ในเรื่องนี้ผู้บริหารพยายามจะทำความเข้าใจให้ดีที่สุด ซึ่งเดลินิวส์จะนำเสนอข่าวนี้ต่อไปเพื่อความชัดเจนว่าโรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษา โรงเรียนเก่าแก่แห่งหนึ่งของประเทศไทยจะปิดหรือเปิดการเรียนการสอนต่อไป

สำหรับโรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษา จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2506 หรือประมาณ 46 ปีที่แล้ว โดยกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ขอจัดตั้งขึ้นแทนโรงเรียนมหาไถ่ศึกษา (Holy Redeemer) ของมูลนิธิคณะสงฆ์พระมหาไถ่แห่งประเทศไทย ซึ่งปิดดำเนินการลง โดยโรงเรียนมีที่ตั้งอยู่ในซอยร่วมฤดี เพลินจิต ต่อมาวันที่ 24 ส.ค. 2536 หรือประมาณ 16 ปีที่แล้วได้ย้ายมาตั้งอยู่เลขที่ 42 หมู่ 4 ถนนรามคำแหง สุขาภิบาล 3 มีนบุรี กรุงเทพฯ มีกระทรวง การต่างประเทศ เป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน (license holder) มีคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียน ประกอบด้วยตัวแทนกระทรวง และตัวแทนโรงเรียนฯ กำกับดูแลการดำเนินการต่าง ๆ

โดยระบบการเรียนการสอนนั้นโรงเรียนดำเนินการสอนในหลักสูตรการศึกษาตามระบบอเมริกัน มีการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-เกรด 12 รวมทั้งมีการจัดชั้นเรียนสำหรับนักเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (English as Second Language-ESL) ตั้งแต่ระดับชั้น ESL 1-ESL 10 โดยภาคการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคการศึกษาที่ 1 ระหว่างเดือนส.ค.-ธ.ค. ของทุกปี และภาคการศึกษาที่ 2 ระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค. ของทุกปี ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 2,000 คน.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook