เรื่องสั้นรางวัล ช่อการะเกดยอดเยี่ยม 2552

เรื่องสั้นรางวัล ช่อการะเกดยอดเยี่ยม 2552

เรื่องสั้นรางวัล ช่อการะเกดยอดเยี่ยม 2552
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : พรชัย จันทโสก

งาน ชุมนุมช่างวรรณกรรม และประกาศผลเรื่องสั้น รางวัลช่อการะเกดยอดเยี่ยม ประจำปี 2552

บรรยากาศงาน 'ชุมนุมช่างวรรณกรรม' และประกาศผลเรื่องสั้น 'รางวัลช่อการะเกดยอดเยี่ยม' ประจำปี 2552 เมื่อวันเสาร์ที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ยังคงคึกคักไปด้วยบรรดานักเขียนทั้งศิษย์รุ่นเก่าและรุ่นใหม่ของ 'ช่อการะเกด' นิตยสารเรื่องสั้นที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งของยุคสมัย ด้วยฝีมือการคัดสรรเรื่องโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการที่นักเขียนเรื่องสั้นต่างยอมรับว่าเป็นด่านหินที่สุด

ภายในงานยังได้เปิดประเด็นเรื่องวิวาทะ 'วาระการอ่านแห่งชาติ และหายนะแห่งหนังสือวรรณกรรม' โดย เวียง-วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการดำเนินการ 'ช่อการะเกด', วินัย ชาติอนันต์ จากสายส่งศึกษิตเคล็ดไทย, จรัล หอมเทียนทอง จากสำนักพิมพ์แสงดาว และ เรืองเดช จันทรคีรี จากสำนักพิมพ์รหัสคดี มาร่วมสนทนากับนักเขียน นักอ่าน และผู้สนใจหายนะว่าด้วย 'วรรณกรรม' อย่างออกรสออกชาติ และฟังปาฐกถาช่างวรรณกรรมโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา นักรัฐศาสตร์ผู้สนใจแวดวงศิลปะ-วรรณกรรม

หลังจากนั้น สุชาติ สวัสดิ์ศรี ขึ้นกล่าวประกาศเกียรติ ไพฑูรย์ สุนทร ในฐานะ นักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ ประจำปี 2552 ว่า...

"ในอดีตที่ผ่านมา คำว่า นักเขียน นักประพันธ์ และนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งหมายถึง 'นักข่าว' ด้วยนั้น ทั้งหมดล้วนมีสถานะเป็นส่วนเดียวกัน ไม่ได้แยกจากกันเหมือนอย่างเช่นในปัจจุบัน ที่นักเขียนนักประพันธ์แยกออกจากนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ แต่รากเหง้าที่เคยเป็นมาในอดีตของเรา คำว่า นักเขียน นักประพันธ์มักจะปรากฏอยู่ในจิตวิญญาณของความเป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ไปพร้อมกัน กล่าวคือมีบทบาทอยู่ในเบ้าหลอมของคนคนเดียวกัน และเรื่องนี้ก็มีตัวอย่างอยู่ในประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่มาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5

บุคคลในรุ่นต่างๆ เช่น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ "ก.ศ.ร.กุหลาบ" "เทียนวรรณ" "บ.กากะบาด" มจ.อากาศดำเกิง ศรีบูรพา แม่อนงค์ ยาขอบ ฮิวเมอริสต์ เวทางค์ เฉลิมวุฒิ สด กูรมะโรหิต เรื่อยมาจนถึง เสาว์ บุญเสนอ ไม้ เมืองเดิม มนัส จรรยงค์ สันต์ เทวรักษ์ สุภา ศิริมานนท์ วิตต์ สุตถเสถียร อิศรา อมันตกุล รมย์ รติวัน 'รงค์ วงษ์สวรรค์ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ฯลฯ บุคคลผู้มีชื่อเสียงในแวดวงวรรณกรรมเหล่านี้ ต่างมี 'เบ้า' ของความเป็นนักเขียน นักประพันธ์ และนักหนังสือพิมพ์อยู่ในคนคนเดียวกันทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่างานวรรณกรรมก็คือบางส่วนของงานหนังสือ พิมพ์ และงานหนังสือพิมพ์ก็คือบางส่วนของงานวรรณกรรม รากเหง้าในอดีตของเราที่เคยเป็นมา ความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงเดินมาพร้อมๆ กัน แต่ต่อมาดูเหมือนจะถูกแยกออกจากกัน

ไพฑูรย์ สุนทร เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ยังคงเหลืออยู่ กล่าวคือเขาเป็นสัญลักษณ์ที่คำว่า นักเขียน นักประพันธ์ และนักหนังสือพิมพ์ได้หลอมรวมอยู่ด้วยกัน แม้จะเป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ โดยสัมมาอาชีพก็จริง แต่ก็แสวงหาความเป็นนักเขียน นักประพันธ์ เพื่อแสดงชั้นเชิงแห่งความคิดสร้างสรรค์อย่างอิสระ จนเกิดเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า 'เรื่องแต่ง' และ 'เรื่องจริง' นั้นสามารถหลอมรวมเข้าหากันได้ และกลายเป็นปริมณฑลใหม่ๆ ของ 'งานเขียน' ที่นักเขียน นักประพันธ์ไม่ได้ใช้จินตนาการอย่างขาดข้อเท็จจริง ส่วนนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ก็ไม่ได้ใช้ข้อเท็จจริงอย่างขาดจินตนาการ แต่ทว่าได้นำเอาข้อเท็จจริงและจินตนาการมาผูกร้อยเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นเนื้องานแบบใหม่ที่ศัพท์วรรณกรรมเรียกว่า Faction หรือ New Journalism"

ด้านประวัติและผลงานนั้น ไพฑูรย์ สุนทร เป็นชื่อและนามสกุลจริง เกิดเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2472 ปัจจุบันอายุ 80 ปี เกิดที่ตำบลแถวย่านพระโขนง กรุงเทพฯ เขาเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเนติศึกษา ย่านพระโขนง และเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนนันทนศึกษา แถวสามย่าน ก่อนจะมาจบการศึกษาจากวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จในปัจจุบัน จากนั้นเขาใช้ชีวิตเป็นครูอยู่นานถึง 14 ปี และทุกครั้งที่ว่างจากงานสอนเขาเริ่มงานเขียนหนังสือด้วยความใฝ่ฝันอยากเป็น นักเขียน นักประพันธ์ โดยเขาได้ส่งชิ้นงานเรื่องสั้นไปที่หนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ หลายฉบับ

ช่วงปลายทศวรรษ 2490 เรื่องสั้นเรื่องแรกของเขาชื่อ 'วิสามัญฆาตกรรม' ได้รับการพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ประชามิตร-สุภาพบุรุษ จากนั้นเป็นต้นมาผลงานของเขาก็ไปปรากฏตีพิมพ์อยู่ในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร หลายฉบับ เช่น ประชามิตร-สุภาพบุรุษ เดลิเมล์ สยามสมัย ปิยะมิตร เดลินิวส์ เดลิไทม์ แนวหน้า และหนังสือพิมพ์ ภัย รายสัปดาห์ จนต่อมาได้รับการรวมพิมพ์เป็นเล่มทั้งในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ตัวอย่างของผลงานที่พิมพ์เป็นเล่ม เช่น ไต้หวันรำลึก ชีวิตไม่ใช่นิยาย แผ่นดินของข้า เสียสาว ลมหายใจยังไม่สิ้น นรกเพรียก ตัวแสบ ภัยสาว มือปืน คนเลือดเย็น รับจ้างฆ่า คนหลงน้ำ นักปฏิวัติ ขบวนการทรชน ฯลฯ และล่าสุดในปีนี้คือรวมเรื่องสั้นขนาดยาว 4 เรื่องในชื่อ 'สี่เหลี่ยมสี่คม' ที่สำนักพิมพ์วสี ครีเอชั่นได้นำเอามารวมพิมพ์เพื่อเป็นเกียรติแก่นักเขียน นักประพันธ์ และนักหนังสือพิมพ์ผู้นี้

เขาเคยแสดงทรรศนะไว้ครั้งหนึ่งว่า... "นักข่าวสมัยก่อนต้องเขียนข่าวเอง ทำให้รู้ช่องทางในการเป็นนักเขียน แต่นักข่าวสมัยนี้มีรีไรเตอร์คอยรับข่าวและเขียนข่าวให้ จึงทำให้เขียนข่าวไม่เป็น เป็นแต่บอกข่าว เล่าข่าว.. ผมนั้นชอบเป็นนักข่าว..เพราะนักข่าวต้องตื่นตัวและไวอยู่เสมอ เวลาที่เราจะเขียนข่าวหรือเขียนหนังสือ สำนึกของเราควรจะเป็นผ้ากรองมากกว่ากระดาษซับ.."

ก่อนจะเข้าสู่ไฮไลต์ของงานชุมนุมช่างวรรณกรรมนั่นคือการประกาศผลรางวัล ช่อการะเกดยอดเยี่ยม ประจำปี 2552 นั้น สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้กล่าวถึงนิตยสารช่อการะเกดว่านอกจากจะมีฉบับปกติแล้วยังมี 'ช่อการะเกดเทียบเชิญ' ด้วย

"หวังว่าวันนี้ศิษย์เก่าช่อการะเกดรุ่นที่หนึ่ง รุ่นที่สอง คงจะมากันอย่างคับคั่งในวันนี้ เพราะว่าอย่างน้อยถ้ามาในวันนี้ก็จะได้รับหนังสือ 'ช่อการะเกดเทียบเชิญ' คำว่าช่อการะเกดเทียบเชิญนั้น ท่านคงจะทราบว่าหมายถึงบรรณาธิการจะส่งจดหมายเชิญ ถ้าผู้ใดก็ตามที่เป็นศิษย์เก่ารุ่นที่หนึ่ง รุ่นที่สอง..ตอบรับ หมายความว่าบรรณาธิการจะรับเรื่องสั้นของเขา พูดง่ายๆ ว่าเรื่องสั้นของเขาจะได้รับการตีพิมพ์ทันที โดยไม่มีการประเมินใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่คำเดียว ฉะนั้นผู้ที่ได้รับเทียบเชิญนี้ถ้าตอบรับแล้วถือเป็นการให้เกียรติ บรรณาธิการ ถ้าเขียนเรื่องมาหมายความว่าเขาจะต้องรับผิดชอบต่อผู้อ่านโดยตรง กติกานี้เพิ่มขึ้นมาเพื่อจะแสดงให้เห็นว่านักเขียนช่อการะเกดเทียบเชิญนี้มี 'ระดับชั้น' มีชื่อชั้นระดับหนึ่งเพราะเคยผ่านเกิดในช่อการะเกดมาก่อน

ผมเทียบเชิญไปทั้งหมดประมาณ 35 คน ตอบรับกลับมา 29 คน และมีคนเขียนมา 25 คน ทั้งหมดเป็นศิษย์เก่ารุ่นที่หนึ่ง รุ่นที่สอง ยกเว้นคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่ศิษย์เก่าช่อการะเกด แต่อนุโลมให้โดยเรียกว่าเป็นนักเขียนช่อการะเกดกิตติมศักดิ์คือ 'อุรุดา โควินท์' คล้ายกับเป็นตัวแทนของคุณกนกพงศ์ สมสงพันธุ์ และทุกท่านที่มาในฐานะเป็นนักเขียนช่อการะเกดเทียบเชิญวันนี้จะได้รับ หนังสือกันคนละ 2 เล่ม พร้อมค่าเรื่อง ส่วนผู้ไม่มาก็จะส่งไปทางไปรษณีย์เพราะเทียบเชิญนั้นไม่ได้มีกันบ่อยๆ แต่ฉบับที่ 52 นั้นจะกลับไปเป็นฉบับปกติ หมายความว่าทุกท่านจะต้องไปผ่านรอ ผ่านเลย ผ่านเกิดตามปกติ ท่านจะได้ทราบว่ารสชาติของฉบับเทียบเชิญกับฉบับปกติแตกต่างกันอย่างไร ความโหดต่างกันแน่นอน"

ส่วนการพิจาณาตัดสินรางวัลช่อการะเกดยอดเยี่ยมนั้น สุชาติ สวัสดิ์ศรี บอกว่า "พิจารณาจากรสนิยมส่วนตัวของบรรณาธิการนั่นเอง รางวัลช่อการะเกดแต่ก่อนนั้นมันเป็นการประดับช่อ คือเป็นแค่ข้อสังเกตของบรรณาธิการในแต่ละเล่มๆ แต่ต่อมาในยุคที่สองของคุณเรืองเดช จันทรคีรี ได้ทำรางวัลให้มันมีสีสันขึ้นมาเป็นช่อการะเกดยอดเยี่ยม-ยอดนิยม แต่มาถึงยุคที่สามผมกลับไปหายุคแรกที่เรียกว่าการประดับช่อ แต่เมื่อคนทึกทักว่าช่อการะเกดนั้นมันเป็นเหมือนรางวัลไปแล้ว แทนที่จะประดับช่อโดยไม่ได้มีกิจกรรมแบบนี้ ไม่น่าจะสร้างบรรยากาศนัก คุณเวียงเลยรับปากว่าจะสร้างกิจกรรมนี้โดยมีเงินรางวัลให้ผู้ได้รับรางวัล ช่อการะเกดยอดเยี่ยม และไม่ว่าปีไหนก็ตามถือว่าศักดิ์และศรีเท่ากันหมด ไม่มีที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ คือการประดับช่อเหมือนแต่เดิมนั่นเอง

ข้อสังเกตกว้างๆ คือว่าทั้งสี่เล่มที่ผ่านมานี้ เรื่องสั้นที่ส่งเข้ามามีจำนวนประมาณสัก 200 กว่าเรื่อง แต่ละเล่มผมเลือกเอาแค่ผ่านเกิด 12 เรื่อง 4 เล่มก็คือ 48 เรื่อง ฉะนั้นจาก 48 เรื่องที่ผ่านเกิดนี้ถือว่าใช้ได้ในความคิดหรือรสนิยมส่วนตัวของผม ส่วนการประกาศรางวัลช่อการะเกดยอดเยี่ยมประจำปีนั้นผมอยากให้มันเป็นเพียง แค่บรรยากาศ ผมไม่อยากให้เกิดความรู้สึกว่าเรื่องนี้แพ้หรือชนะ สิ่งที่จะประกาศต่อไปนี้เป็นเพียงการสร้างบรรยากาศทำให้งานชุมนุมช่าง วรรณกรรมนั้นมีสีสันขึ้น และยังคงบรรยากาศเดิมของงานชุมนุมช่างวรรณกรรมที่ผ่านมา"

และในที่สุดวินาทีแห่งการรอคอยก็มาถึง...สำหรับผู้ได้รับรางวัลเรื่องสั้น ช่อการะเกดยอดเยี่ยม ประจำปี 2552 มีทั้งหมด 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.ลารา ของ เดือนวาด พิมวนา นักเขียนซีไรต์และศิษย์เก่ารุ่นที่สอง 2.เรื่องเล่าไม่มีชื่อ ของ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา 3.กระจกของตา ของ วัฒน์ ยวงแก้ว 4.การตายของหลวงราชแพทย์ ของ รังสรรค์ โยธาประเสริฐ และ 4.สายน้ำครวญ ของ เดช อัคร โดยผู้ได้รับรางวัลช่อการะเกดยอดเยี่ยมจะได้รับเงินรางวัลๆ ละ 10,000 บาท

ศักดิ์และศรีของ 'ช่อการะเกด' นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องความหินแล้วยังเป็นเวทีสำหรับสร้างนักเขียนเรื่องสั้นอย่างแท้จริง

 

---------------------------
{-ล้อมกรอบ-}

เปิดใจนักเขียนช่อการะเกด
.................................................

ไพฑูรย์ สุนทร


"การที่เราเขียนหนังสือขึ้นมาใหม่หรือเขียนหนังสือ ขึ้นมาสักเรื่องหนึ่งนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่ใหม่ ไม่ควรจะเอาความคิดของผู้อื่นมาและไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปลอกเลียนของผู้ อื่น เขียนอย่างตรงไปตรงมาด้วยความคิดของเรา และถ้าเปรียบเทียบหนังสือพิมพ์ยุคก่อนกับปัจจุบัน จะเห็นว่าความแตกต่างตรงนี้มีเยอะ นักข่าวสมัยก่อนจะต้องเป็นคนที่เอาจริงเอาจัง ทุกวันนี้นักข่าวทำงานง่าย ไม่ได้ทำงานอย่างทุ่มเทเหมือนยุคก่อน"

เดือนวาด พิมวนา


"รางวัลที่ได้เป็นช่อการะเกดช่อที่สี่แล้ว จริงๆ การกลับมาของช่อการะเกดครั้งนี้เป็นอะไรที่มีความรู้สึกว่าจะต้องกลับมาร่วม กับนักเขียนที่จะมาร่วมกันสร้างช่อการะเกดยุคใหม่อยู่แล้ว แต่ว่าความรู้สึกของการแข่งขันนี้มันลดน้อยลงไป แค่อยากร่วมสนุก แค่อยากรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของนักเขียนช่อการะเกด อันที่จริงเป็นรุ่นที่สองซึ่งถือว่าเป็นช่อการะเกดรุ่นเก่า แต่โดยความคิดก็ยังมีความรู้สึกว่าอยากจะเป็นนักเขียนช่อการะเกดรุ่นใหม่ เท่ากับน้องๆ อยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกจริงๆ ไม่ได้คาดหวังเลยเพราะรู้สึกว่าถ้าจะได้ช่ออีกครั้งหนึ่งน่าจะเป็นช่อที่จะ ต้องดีกว่าช่อที่หนึ่ง จะต้องดีกว่าช่อที่สอง จะต้องดีกว่าช่อที่สาม เท่าที่ได้ทำมา ฉะนั้นตรงนี้เวลาได้รับช่อที่สี่มันก็ยังดีใจและไม่คิดว่าจะทำได้อีกครั้ง หนึ่ง"

รังสรรค์ โยธาประเสริฐ


"ผมรู้จักช่อการะเกดตั้งแต่เริ่มอ่านหนังสือ เมื่อไม่นานมานี้เอง และแปลกใจมากที่ได้รับรางวัล ผมรู้จักถึงชื่อเสียง คุณค่า เลยคิดว่าเรื่องที่ส่งมาก็กะว่าต้องดีที่สุดให้สมค่ากับช่อการะเกด"

เดช อัคร


"จริงๆ แล้วสนามนี้ค่อนข้างที่จะท้าทายเพราะเท่าที่ดูคือเรื่องสั้นค่อนข้างที่จะมี คุณภาพที่สู๋สีกัน คิดว่าถ้าเกิดว่าเราจะพิสูจน์ตัวเองว่าเขียนเรื่องสั้นพอที่จะไปรอดหรือ เปล่า ก็คิดอย่างนี้ ในส่วนของวันนี้ก็ดีใจ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับตอนที่ได้ตีพิมพ์แล้วดีใจมากกว่านี้"

 

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ เรื่องสั้นรางวัล ช่อการะเกดยอดเยี่ยม 2552

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook