อภิสิทธิ์ ถกเเกนนำ ปชป.ประเมินการเมืองปี 53 เดือด

อภิสิทธิ์ ถกเเกนนำ ปชป.ประเมินการเมืองปี 53 เดือด

อภิสิทธิ์ ถกเเกนนำ ปชป.ประเมินการเมืองปี 53 เดือด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"อภิสิทธิ์"หารือเเกนนำพรรคปชป. ประเมินภาพรวมการเมืองปีหน้า โวลั่นพรรคร่วมยังเเน่น ย้ำชัดปรับครม.ตำเเหน่งเดียวเเทนกอร์ปศักดิ์ ส่วนการเเก้รธน.บางมาตราเเบะท่าโยนให้เเต่ละพรรคเสนอร่างกันเองต่อสภาเเต่ไม่รับรองว่าจะผ่านหรือไม่ เเต่ตัวเองเล่นเกมเเทงกั๊กอ้างควรรอกม.ประชามติก่อน

(27ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้หารือร่วมกับกรรมการบริหารพรรคอย่างไม่เป็นทางการ ทั้ง 19 คน พร้อมด้วย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค นายบัญญัติ บรรทัด ฐาน เเละนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค เข้าร่วมประชุมกรรมการบริหารพรรควาระพิเศษ เพื่อประเมินสถานการณ์ทางการเมือง ที่บ้านพักนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย่านถนนติวานนท์-ปากเกร็ด โดยเป็นการหารือภายใน และใช้เวลานานประมาณ 4 ช.ม.

ต่อมาเวลา 15.00 น. นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ที่บริษัทวัชรพล จำกัด เพื่อไปร่วมงานรำลึกวันคล้ายวันเกิดนายกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งนสพ.ไทยรัฐ เกี่ยวกับการหารือระหว่างกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ว่า การหารือครั้งนี้ เป็นเพราะตนได้นัดหมายกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะเลขาธิการพรรค ว่า ในช่วงสิ้นปีจะมีการประเมินภาพรวมการทำงานทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่เป็นแกนนำรัฐบาล และวิเคราะห์สถานการณ์รวมทั้งทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้า ที่จะเกิดขึ้นในปี 2553 ที่ประชุมได้การพูดคุยกันถึงภาพรวมทั้งหมด และเปิดโอกาสให้กรรมการบริหารพรรค ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ โดยได้เชิญที่ปรึกษาพรรค อดีตหัวหน้าพรรค ซึ่งได้พูดคุยกันครอบคลุมทุกเรื่อง เพราะเราต้องการให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทุกประเด็นและรอบด้านที่สุด ได้ประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริง ได้ยืนยันทิศทางการบริหารประเทศในหลายเรื่องเพื่อมให้เกิดความเข้าใจที่ดี เพื่อให้การทำงานได้ราบรื่น

ผู้สื่อข่าวถามว่า เท่าที่พูดคุยมีงานในส่วนไหนต้องปรับปรุง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้มีการหารือกันถึง จุดอ่อนจุดแข็งของการทำงานที่ผ่านมา ส่วนในเรื่องการปรับครม.คิดว่ายังไม่มีในช่วงนี้ โอกาสที่จะมีการปรับครม.คงเป็นช่วงหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจมากกว่า ยกเว้นกรณีของนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีที่จะไปเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้หารือกันเกี่ยวกับการทำงานที่เราต้องการให้เดินหน้ามากกว่านี้ เช่นเรื่องการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ปัญหาเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการหารือถึง ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้หารือกันด้วย ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่ขณะนี้มีเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ความคิดเห็นยังไม่ตรงกัน ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าถ้าฝ่ายค้านไม่มาร่วม ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบที่จะแก้ไข 6 ประเด็นแล้วทำประชามติ ก็ยังไม่ควรทำ เพราะถ้าทำไป ก็ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ แต่ถ้ามีพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในบางประเด็น น่าจะสามารถดำเนินการได้ โดยที่ไม่เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวในแง่ของการทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนก็ให้เป็นเรื่องของสภาฯจะดำเนินการ

เมื่อถามว่า กลายเป็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระของพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ใช่วาระในการสร้างสมานฉันท์ ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่มันคนละเรื่องกัน เพราะเดิมที่เราพูดกันคือ ในกรอบสมานฉันท์ คือ 6 ประเด็น แต่ถ้ามันมีประเด็นไหนที่ไม่มีความละเอียดอ่อน และใครอยากเสนออะไร คิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ เมื่อถามย้ำว่า หมายความให้พรรคชาติไทยพัฒนาเป็นคนเสนอ ต่อสภาฯเองใช่หรือไม่ นายอภิสิทธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของสภาฯไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลหรือเรื่องในนามพรรคร่วมรัฐบาล

"คงไม่เป็นเรื่องของรัฐบาล แต่บางประเด็นผมเข้าใจว่าทุกพรรค เห็นสอดคล้องกัน เช่นมาตรา 190 ว่าเป็นเรื่องที่ต้องการจะให้กำหนดหลักเกณฑ์เรื่อง หรือข้อตกลง ที่จะเข้าสู่สภาฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกพรรคเห็นด้วยและไม่น่ามีประเด็นอะไรที่อ่อนไหว เพราะขณะนี้มีปัญหาความไม่ชัดเจนของขอบเขต หนังสือสัญญาที่จะเข้าสู่สภาฯ มันน่าจะมีบางเรื่องที่ยึดหลักสากลก็ไม่มีการย้ำเข้าสู่สภาฯ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ทำไมประเด็นนี้ถึงไม่ใช้วิธีการออกกฏหมายลูกเเทน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มันทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อนุญาตให้ออกกฎหมายได้ เฉพาะขั้นตอนวิธีการไม่มีคำว่าหลักเกณฑ์ แต่ที่จะแก้ไขคือจะให้มีคำว่า หลักเกณฑ์ เมื่อถามต่อว่า นอกจากมาตรา 190 แล้วพรรคประชาธิปปัตย์ เห็นด้วยกับมาตราไหนอีก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีเรื่องอื่น แต่เข้าใจว่าพรรคร่วมรัฐบาล อยากเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละพรรคเสนอไป และเป็นเรื่องสภาฯที่จะพิจจารณา ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้พูดคุยกัน และเห็นว่าเขตใหญ่ ยังดีกว่า แต่ถ้าเดิมในกรอบสมานฉันท์ 6 ประเด็นแล้วประชาชนเห็นชอบก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อถามต่ออีกว่า 2 ประเด็นที่พรรคร่วมเสนอแก้ไข จำเป็นต้องมีการทำประชามติด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ต้อง เพราะเป็นเรื่องของสภาฯไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เมื่อถามว่า จะกลายเป็นชนวนความขัดแย้ง หรือมีคนออกมาต่อต้านหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าเป็น 2 ประเด็นนี้ ตนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะประเด็นก่อนหน้านี้ ที่กังวลกัน คือ การลดโทษที่เกิดขึ้นจากการซื้อเสียง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ประเด็นมาตรา 265 , 266 ที่คนมองว่าเป็นการแก้เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับส.ส.แต่เรื่องมาตรา 190 เป็นเรื่องเทคนิคจริงๆ ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งนั้นเป็นความคิดเห็นที่หลากหลาย ต้องให้สภาฯตัดสิน และหากเป็นประเด็นที่ไม่ความละเอียดอ่อน ก็น่าจะให้อิสระที่พรรคการเมืองจะเสนอได้

เมื่อถามอีกว่า หากพรรคร่วมเสนอ เข้าสู่สภาฯ พรรคประชาธิปัตย์จะโหวตให้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของสภาฯก็คงจะเป็นอิสระ เมื่อถามต่อว่า มีการเสนอเงื่อนไขเกี่ยวกับรัฐธรรมนูปี 2540 บ้างหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มี ความจริงเมื่อต้นปี 2549 ทุกพรรคการเมืองบอกว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ต้องรื้อทั้งฉบับ รวมทั้งพรรคไทยรักไทยด้วย เราก็ทราบดีว่ามีจุดอ่อนทุกฉบับ เราก็ต้องแก้ไป

เมื่อถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประเด็น เขตเลือกตั้งแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่ยกมือ ในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ไปถึงตรงนั้น เพียงแต่บอกว่ารัฐบาลคงไม่เป็นเจ้าภาพในการเสนอเรื่องนี้ แต่พรรคการเมืองย่อมมีสิทธิ์ที่จะเสนอได้และประเด็นนี้ตนเห็นว่า เป็นมุมมองข้อดีข้อเสีย เขตใหญ่เขตเล็กในระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสากล เพราะระบบเลือกตั้งหลากหลายมากในยระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้มีประเด็น ละเอียดอ่อน ในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ของ ส.ส.

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลแตกคอกันหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าไม่ เพราะยังมีเวลาในการพูดคุยกันว่าส.ส.จะคิดอย่างไร แต่คิดว่ารัฐบาลน่าจะเป็นเจ้าภาพในเฉพาะกรณีที่ มีวัตถุประสงค์ ในเรื่องสมานฉันท์ ซึ่งจะต้องกลับไปสู่กรอบเดิมคือ เรื่องประชามติ และการให้ทุกพรรคเห็นพ้องต้องกัน

เมื่อถามว่า หลังปีใหม่จะมีการนัดหมายหารือพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็อยากจะหาโอกาสพูดคุยกันอยู่ เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลบอยากให้มีการเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะดึงในเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แต่ละพรรคมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนในเรืองที่เกี่ยวข้องกับเขตเลือกตั้งว่าเราสนับสนุนระบบเลือกตั้งในปัจจุบัน แต่เราก็ไม่ขัดข้องถ้าพรรคร่วมอยากตจะเสนอแก้ไขก็สามารถทำได้ แต่ถ้าจะเป็นเรื่องของรัฐบาล รัฐบาลก็ต้องตอบคำถามว่า ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องแก้ด้วยวัตถุประสงค์อะไร เพราะแต่เดิมพอบอกว่าจะแก้ไขเพื่อสมานฉันท์ เราก็ยอมถอยจากจุดยืนเดิมได้ เพราะทำแล้วบ้านเมืองสงบ มันก็คุ้มค่า เราก็ต้อมยอมถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่วันนี้ เมื่อฝ่ายค้าน บอกว่าไม่เอาด้วย ก็ต้องถามว่ารัฐบาลจะมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่ออะไร ถ้าจะเป็นเรื่องเทคนิคอย่างนี้ก็เป็นเรื่องให้สภาฯพิจารณาไป

กก.บริหารปชป.ประชุมลับประเมินการเมืองปี 53 เดือด

ต่อมาเวลา 17.00 น. นพ.บุรณัชย์ สมุทรรัชย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวถึงผลการประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการพรรค ได้รับเสียงสะท้อนความเห็นจากประชาชนทุกภาคผ่านส.ส.ของพรรค และการสอดรับกับข้อมูลของนายสุเทพว่า ยังมีการเคลื่อนไหวที่สร้างเงื่อนไขในการนำไปสู่การชุมนุม และความขัดแย้งในช่วงต้นปีหน้า คือ

1. การเคลื่อนไหวไม่ให้มีการยึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยจะกดดัน และคุกคามการทำงานของศาลอย่างต่อเนื่อง 2. การโยงคดียึดทรัพย์ของพ.ต.ท.ทักษิณเข้ากับการทำงานของกกต.ในการพิจาณาการยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยพรรคประเมินว่าฝ่ายที่เคลื่อนไหวในช่วงนี้เคยแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระในอดีต แต่วันนี้ทำได้ยากขึ้น จึงใช้วิธีคุกคามและกดดันทุกรูปแบบต่อกกต. โดยหวังผลสร้างเงื่อนไขว่า หากกกต.มีคำวินิจฉัยไม่ตรงกับคำข่มขู่ของนปช.,พรรคเพื่อไทยและพ.ต.ท.ทักษิณในเรื่องการยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยน่าจะมีการบิดเบือนว่าหากคดียึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณมีความผิด คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ต้องมีความผิดด้วย แต่เรื่องนี้จะนำมาเทียบกันไม่ได้ 3. พรรคเชื่อว่าน่าจะมีการปลุกระดมต่อเนื่องโดยมีการบิดเบือนเพื่อสร้างความแตกแยก คือ เรื่องเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ โดยจะดำเนินการผ่านสื่อใต้ดิน ใบปลิว วิทยุชุมชน ดั่งเช่นที่เคยกระทำมาคือสร้างเรื่องเท็จให้เกิดความเกลียดชังและดึงมวลชนให้มาชุมนุมเหมือนเดือนเม.ย. 2552

นพ.บุรณัชย์ กล่าวต่ออีกว่า พรรคมองว่าสามเรื่องนี้จะขับเคลื่อนมาในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯในช่วงต้นปีหน้า ที่หวังนำไปสู่ การทำให้พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิดในคดีต่างๆ เปิดทางให้พ.ต.ท.ทักษิณกลับสู่อำนาจ และพ.ต.ท.ทักษิณได้รับสมบัติที่ได้มาโดยมิชอบกลับคืน สามเหตุผลนี้จึงทำให้การเมืองน่าเป็นห่วง เพราะวิธีการที่จะได้มานั้นมีการเตรียมการกดดันเพื่อให้รัฐบาลยุบสภา และยังสร้างเงื่อนไขการเผชิญหน้าที่อาจนำไปสู่เหตุการณ์เหมือนเดือนเม.ย. 2552 อีกครั้ง

"พรรคได้หารือถึงวิธีป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้ และยังวิตกกับกรณีที่แนวร่วมใหม่ คือ อดีตนายทหารที่ร่วมกิจกรรมกับพรรคเพื่อไทยที่ส่งสัญญาณยกระดับการชุมนุมให้เกิดภาวะวิกฤตมากกว่าเดือนเม.ย. 2552 ซึ่งประมาทไม่ได้ เพราะบุคคลเหล่านี้เคยสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่ความวุ่นวายของบ้านเมืองในอดีตหลายเรื่อง พรรคสนับสนุนแนวทางรัฐบาล คือ ไม่เพิ่มเงื่อนไขของปัญหา ไม่แบ่งแยกประชาชนเหมือนกับการกระทำของฝ่ายการเมืองในอดีตบางส่วน และยังเดินหน้าทำความเข้าใจ และฟังความเห็นของประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่ปิดกั้นการต่อต้านใดๆที่กระทำภายใต้กฎหมาย และเชื่อว่าจากนี้ไปคงไม่มีการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง พรรคยังให้ความสำคัญกับการชี้เจงกับการบิดเบือนข้อมูลคือทำความเข้าใจกับประชาชนผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อไม่ให้การบิดเบือนที่สร้างความแตกแยกในบ้านเมืองเกิดขึ้นอีก "นพ.บุรณัชย์กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook