รับสมัคร นักวิจัย ด่วน!

รับสมัคร นักวิจัย ด่วน!

รับสมัคร นักวิจัย ด่วน!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี

เมื่อประเทศไทย กำลังเดินหน้า สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเต็มรูปแบบ แต่พอหันหลังกลับไปมอง ทุนหลัก อย่างนักวิจัย กลับร่อยหรอ เข้าขั้นวิกฤต

ถ้าพูดถึง "นักวิจัย" ภาพในจินตนาการของคุณจะเป็นอย่างไร ?

เรากำลังพูดถึงกลุ่มคนที่ขลุกอยู่ในห้องทดลองสวมชุดสีขาวรัดกุม กำลังส่องกล้องจุลทรรศน์ หรือวัดตวงสสารเพื่อใช้ทดสอบสมมติฐานตั้งต้น ก่อนลงบันทึกรายงานผล ใครบางคนที่นั่งจมกองเอกสารอยู่นานสองนานเพื่อตรวจสอบข้อมูลประกอบการลง พื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน และแปรสภาพให้กลายเป็นหนังสือเล่มเขื่อง ที่สุดท้ายก็ถูเก็บขึ้นหิ้งงานวิจัย...เอาไว้เปื้อนฝุ่น

นั่นคือภาพของ "นักวิจัย" ที่ผูกติดกับสังคมตลอดมา

วันนี้ ตามนโยบาย "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" หรือ Creative Economy ของรัฐบาลที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปเพิ่มมูลค่าสินค้า หรือไปสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก

ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่แยกการสนับสนุนทางด้านต่างๆ ออกเป็น 4 หลักใหญ่ อันได้แก่ Creative Infrastructure, Creative Education & Human Resource, Creative Society & Inspiration และ Creative Business Development & Investment นั้น ทำให้เกิดการ "เขย่า" ไอเดียไปทั่วทุกแวดวงโดยมีกลุ่ม "นักวิจัย" เป็นหัวหอกสำคัญในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

"การที่จะมาเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจฐานความรู้ ก็แสดงว่า ผู้ที่มีมันสมอง แล้วก็สร้างคุณค่า หรือมูลค่าจากสิ่งที่มีอยู่ในตัวเองเหล่านั้น เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งมีอยู่ในผู้คนทุกระดับของประเทศ และงานวิจัยก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ เหล่านั้นขึ้นมา" มนตรี จุฬาวัฒนทล ประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ยืนยันถึงบทบาทของนักวิจัยในกลไกดังกล่าว

แต่จะทำอย่างไร เมื่อกลุ่มก้อนของนักวิจัยไทยกำลังเดินไปสู่ "ภาวะสุญญากาศของวิชาชีพ"

วิกฤตหรือไม่

วงพูดคุยเกี่ยวกับการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การสร้างเส้นทางสู่นักวิจัยอาชีพ...การกำหนดแนวทางกับความสำเร็จ ที่มี สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และภาคีวิจัยในภาครัฐจัดขึ้นเพื่อสร้างขอบเขตวิชาชีพนักวิจัย (Career Path) ให้สอดคล้องกับ นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์พบว่า สิ่งที่กำลัง เกิดขึ้นกับคนในแวดวงวิจัยในขณะนี้ก็คือ ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหานักวิจัยขาดแคลน เนื่องจากจำนวนนักวิจัยยังไม่เหมาะสม ต่อการสร้างเสริมขีดศักยภาพด้านขีดความสามารถ ในการแข่งขันโดยเฉพาะในฝั่งภาครัฐ

จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบว่าจำนวนนักวิจัยได้ลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมาจากที่มีคนในแวดวงวิจัยของรัฐอยู่ 27,632 คน นั้นลดเหลือเพียง 18,035 คนในปี พ.ศ.2548 และเส้นกราฟทำท่าดิ่งลงเรื่อยๆ

ที่สำคัญ ในปี พ.ศ.2557 นั้นจะมีอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษามากกว่า 4,000 คนเกษียณอายุ ซึ่งในจำนวนนี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีคุณวุฒิปริญญาเอก และมีความสามารถในการทำงานวิจัยรวมอยู่ราว 1,000 คน ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ได้ผลงานด้าน วิชาการ หรือมีงานวิจัยที่มีคุณภาพมีเพียง 375 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.1 ของจำนวนอาจารย์ที่มีอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั้งหมด

"สิ่งที่เราพบตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ถึง 2548 ก็คือ ในกระทรวงต่างๆ คนที่ทำหน้าที่นักวิจัยจริงๆ ไม่มีตำแหน่งนี้อยู่เลย แต่เขาทำงานวิจัย ความรู้ที่ได้ก็ไม่ได้ถูกเอาไปใช้ ซึ่งอันที่จริงแล้วการพัฒนาระบบราชการในแต่ละเรื่องจะเน้นเรื่องการวิจัย เยอะมาก" คริสมาส ศุภทนต์ หนึ่งในทีมสำรวจวางแผนขอบเขตความก้าวหน้าของนักวิจัย จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุถึงปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าว

นอกจากนั้น ค่าใช้จ่ายในการวิจัย และพัฒนาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ถึงแม้รัฐบาลจะเน้นไปที่ภาคเกษตร และสาธารณสุขเป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแนวโน้ม หรืออนาคตของงานวิจัยภาครัฐจะสดใส เพราะเมื่อเปรียบเทียบทุนวิจัยย้อนหลังไปในปี 2544 ทุนวิจัยด้านการเกษตรปี 2550 กลับหายไปกว่า 1,710 ล้านบาท

เวลาเปลี่ยนคนก็เปลี่ยน

จำนวนนักวิจัยภาครัฐที่ดิ่งลงสวนทางกับนักวิจัยในหน่วยงานของภาคเอกชน ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น กลายเป็นนัยสำคัญอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงการเดินทางเข้าสู่อาชีพ การดูแลบุคลากรในสายงาน รวมทั้งความก้าวหน้า และความคล่องตัวในการทำงานของนักวิจัยในปัจจุบันที่ค่อนข้างจะแตกต่างไปจาก เมื่อก่อนอย่างสิ้นเชิง

"เดิมทีเดียวพอเราพูดถึงนักวิจัย คนจะนึกว่าต้องจบปริญญาเอก แต่ ณ วันนี้ คนที่จบปริญญาโท หรือปริญญาตรี ก็เป็นนักวิจัยได้ คนที่จบมัธยมก็เป็นได้ เพราะว่าอาชีพต่างๆ เหล่านี้มันอาจจะไปพ่วงอยู่กับหน้าที่การงานอื่นๆ ด้วย การเป็นนักวิจัยก็ทำให้หน้าที่การงานนั้น ใช้หลักวิชาการมากขึ้น มีเหตุมีผลมากขึ้น ไม่ใช่การตัดสินใจโดยใช้อารมณ์หรือความรู้สึกเป็นหลัก

สังคมที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดี ก็มักจะเป็นสังคมในลักษณะนั้น เปลี่ยนไปเยอะ ยิ่งถ้าเราทำให้อาชีพนักวิจัยเป็นอาชีพที่เห็นเด่นชัดขึ้น ตั้งแต่เยาวชนเลย ไม่ใช่มีแต่ ทหาร ตำรวจ เป็นพยาบาล เป็นหมอ หรือพ่อแม่เป็นอะไรก็เป็นอย่างนั้น อาชีพนักวิจัยเป็นอาชีพเสาะแสวงหาองค์ความรู้ พอเราทำอาชีพนี้ได้ดี ก็คือ เรามีผลตอบแทน มีรายได้ที่สมน้ำสมเนื้อที่อยู่ได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักวิจัยด้านการตลาด นักวิจัยด้านการค้า หรือนักวิจัยด้านวัฒนธรรม ก็แล้วแต่" มนตรี เผย

สำหรับสิ่งที่ทำให้นักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ยังไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควร เขาคิดว่าเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่ยังไม่เอื้ออำนวยพอจะให้นักวิจัยทำงานได้

"เหมือนระบบนิเวศ ในป่า ในน้ำ มันมีสิ่งมีชีวิตอยู่ นักวิจัยก็เหมือนสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ถ้าน้ำอุดมสมบูรณ์มีแหล่งอาหาร ปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็อยู่ได้ดี มีการเจริญงอกงาม มีความเจริญเติบโตในเชิงอาชีพนั้น เหมือนกันถ้าเราบอกว่า ระบบราชการเราไม่ค่อยส่งเสริม มีกฎระเบียบมาก คุณอยู่ตรงนี้ได้ คุณทำอย่างนี้ไม่ได้ หรือระบบด้านทรัพยากรไม่เพียงพอมันก็เป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดแนวคิดที่ว่าไม่ สามารถอยู่ได้ ถ้าเป็นต้นไม้ ดินมันเค็ม น้ำมันแห้งก็อยู่ไม่ได้ เราจะไปหวังว่าต้นไม้มันจะเจริญงอกงามไม่ได้ ถ้าสังคมต้องการอย่างนั้น ระบบนิเวศก็ต้องเปลี่ยน"

แต่ปริมาณตัวเลขนักวิจัยที่ลดลงในสายตาของผู้คร่ำหวอดกับวงการมานาน มนตรีมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นพลวัตอย่างหนึ่งของสังคม ยังไม่น่าจะถือว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบมากนัก แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีถ้าจะมีวิธีทำให้เกิดนักวิจัยในวงการเพิ่มมากขึ้น

"มันไม่ใช่บอกว่า มีถังหนึ่งถัง น้ำเรางวดไปหรือยังไง หรือยังไม่เต็ม วันนี้ถ้าถามว่าเราขาดแคลนหรือไม่ เราก็ยังไม่รู้ความต้องการเราเท่าไหร่ แล้วเราไปคิดง่ายๆ ว่าต้องการเท่านี้ แล้วต้องเติมให้เต็มใช่ไหม ก็ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะยิ่งได้มากขึ้นก็ยิ่งดี ดังนั้นเราก็น่าจะมีวิธีรักษาผู้ที่อยู่ในแวดวงนี้ ทำงานวิจัยสร้างสรรค์ให้มากขึ้น องค์ความรู้ก็มากขึ้น ฉะนั้นความร่วมมือระหว่างคนทำวิจัย ผู้ผลิตนักวิจัย ผู้ที่จะใช้นักวิจัย ร่วมมือกันทำงานก็จะเป็นวิธีหนึ่ง โดยไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องความต้องการที่ค่อยๆ ขยับไป"

สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปอีกอย่างก็คือ พฤติกรรมการทำงานของผู้คนในปัจจุบันที่ไม่ได้เป็นแบบ หนึ่งคน หนึ่งอาชีพ อีกต่อไป เพราะจากการทำวิจัยในเบื้องต้น คริสมาส พบว่า ในช่วงระยะการทำงานของคนคนหนึ่งนั้น มีความต้องการเปลี่ยนอาชีพมากกว่า 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย

"ในเซอร์เวย์หลายๆ ช่วงปีที่ผ่านมายิ่งสังคมทันสมัยขึ้นมากแค่ไหน คนจะเปลี่ยนอาชีพบ่อยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนในช่วงกลางอาชีพ หรือช่วงปลายของอาชีพ เมื่อก่อนทฤษฎีขอบเขตอาชีพจะถูกสร้างขึ้นมาอย่างประเทศที่จะเป็นอาชีพเดี่ยว (life long employment) แต่ปัจจุบันอย่างต่ำๆ ต่อคนจะเปลี่ยนอาชีพ 2-4 ครั้ง"

"ปลดล็อก" คำตอบสุดท้าย

"คนทำงานในบ้านเรา คำหลักๆ น่าจะอยู่ที่ความท้าทายในการทำงานมากกว่า" คริสมาส ชี้ถึง "คีย์เวิร์ด" สำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้น

ความท้าทายในความหมายของเธอก็คือ "ระบบการทำงาน" และ "โจทย์วิจัย" ซึ่งกลุ่มนักวิจัยที่มีอยู่นั้นไม่ได้เป็นอาชีพที่จดจ่อเฉพาะกลุ่ม แต่ทั่วไปจะเป็นงานที่ทำควบคู่กับตารางงานประจำวัน

"คนที่เป็นนักเรียนทุน ลาออกไปเพราะเรื่องเงินเป็นเรื่องรอง แต่อยู่แบบไม่ได้รับการเหลียวแล ธรรมชาติของนักวิจัยจะรักความเป็นอิสระ แต่ระบบราชการบ้านเราไปตีกรอบเขาไว้ เขาไม่ได้ทำโจทย์วิจัยที่มันๆ โจทย์ประเภทครีเอทีฟฯ ซึ่งจริงๆ มีเยอะมาก แต่เขาต้องทำงานให้เจ้านายอยู่ในภาครัฐ ขณะที่อีก 20-30 เปอร์เซ็นต์ของเวลาก็ต้องเอามานั่งดูเรื่องวิจัยเพื่อตอบโจทย์ที่ตัวเองรับ ผิดชอบ แต่ถ้าเป็นวิจัยอย่างเดียวมันต้องเป็นเวลา 5 วันต่ออาทิตย์ ในการอยู่กับเรื่องๆ นั้นเลย ซึ่งปัจจุบันสภาวะแวดล้อมในการทำงานตรงนี้ไม่ได้เอื้อต่อการวิจัย"

การเสียโอกาสอีกอย่างของนักวิจัยทุกวันนี้ก็คือ ความไม่ถูก "เคมี" กับเจ้านาย ทำให้ถูกเหวี่ยงออกมาจากงานที่น่าจะได้ทำ

"เวลาไปทำงานที่สภาพัฒน์เราจะเห็นคนนั่งอยู่ในแพทิชั่นเยอะมาก คนเหล่านี้ไม่ใช่คนโง่นะคะ แต่เป็นคนที่ไม่ได้ถูกให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพมากกว่า" เธอยืนยัน

จากสภาวะดังกล่าวทำให้ภาพที่เกิดขึ้นก็คือ ปลายท่อที่อยู่กันกระจุกแน่นก็กำลังพากันตบเท้าเกษียณอายุ ขณะที่คนรุ่นใหม่จะเอาเข้ามาเติมในท่อก็ยังไม่มี ในวงเสวนาจึงมีการตั้งคำถามถึงทางออกสำหรับการแก้ปัญหาวิกฤตนักวิจัยครั้งนี้

"อันดับแรกคือการเลือกตัวคนให้ถูกอาชีพ จะเลือกยังไงให้ได้คนที่มีวิญญาณของนักวิจัยจริงๆ เมื่อเราได้ปลาดีๆ มา ตอนเขาอยู่ในกลางอาชีพ ก็จะเป็นเรื่องของการคัดให้ได้ครีมจริงๆ ต้องมีการวางตัวชี้วัดเพื่อให้นักวิจัยทำวิจัยให้ได้มาตรฐาน เพราะตอนนี้คนจะชอบพูดว่า มหาวิทยาลัยในเมืองไทยสร้างวิจัยแบบขอไปที หรือเพื่อหาเงินเข้ามหาวิทยาลัย หรือเพราะอยากดอกเตอร์ ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้มาตรฐานตก ที่สำคัญก็คือ จะทำยังไงก็ตามให้คนมีความคล่องตัวในการทำงาน คือ ตัวอยู่ที่นี่แต่ตัวสามารถไปทำวิจัยร่วมกับคนโน้นคนนี้ได้ โดยที่งานหลักก็ไม่เสีย ตัวเองก็ได้ความรู้ด้วย

"สุดท้าย การทำให้เกิดความยอมรับมีหน้ามีตาของสังคม เพราะการเป็นนักวิจัยนี่ด้อยกว่าอาจารย์นะคะ พูดง่ายๆ เหมือน อาจารย์ภาค ข. ในมหาวิทยาลัยเมื่อเป็นภาค ข.ปั๊บ ขึ้นถึงซี 10 ไม่ได้ แป้กตายอยู่แค่นี้ ทุกคนก็กระเสือกกระสนเรียนปริญญาเอกกลับมาสอนหนังสือก็เพราะความมีหน้ามีตา ยิ่งทำให้คนที่เป็นนักวิจัยมืออาชีพยังน้อยลงไปใหญ่" คริสมาสอธิบายถึงทางออกคร่าวๆ ที่น่าจะทำได้

นอกจากนี้ การเพิ่มความคล่องตัวให้นักวิจัยที่อยู่ในภาคส่วนต่างๆ สามารถกระโดดข้ามสายงานของตัวเองมาร่วมงานกันได้ และการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นระหว่างงานวิจัยกับธุรกิจ ก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม

ถึงวันนี้ แม้ชุดเครื่องมือในการแก้ปัญหาอาชีพนักวิจัยจะอยู่ระหว่างการออกแบบให้สอด คล้องกับเนื้องานของแต่ละองค์กร แต่ก็คาดว่า ราวปลายเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ น่าจะปรากฏให้เห็นเป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ทั้งหมดก็เพื่อทำให้ก้าวแรกของยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มั่นคง และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook