''ธาริษา'' ชี้เศรษฐกิจปีเสือเปราะบาง

''ธาริษา'' ชี้เศรษฐกิจปีเสือเปราะบาง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หาสมดุลนโยบายการเงินหนุนฟื้นตัว

เศรษฐกิจไทยถูกคาดหมายว่าจะฟื้นตัวในปีนี้ ท่ามกลางความเสี่ยงผันผวนในหลายประเด็น ทั้งราคาน้ำมัน สินค้าโภค ภัณฑ์ที่มีทิศทางไต่ระดับขึ้นจากจุดที่เคยต่ำสุด ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องจับตามอง รวมถึงปัญหาการระงับโครงการในมาบตาพุด จังหวัด ระยอง ซึ่งเป็นชนวนเหตุให้นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศชะลอการตัดสินใจการลงทุนในไทย แต่ปัญหาทั้งมวลจะมีผลรุมเร้าต่อเศรษฐกิจลึกแค่ไหนนั้น ทีมข่าวเศรษฐกิจเดลินิวส์ มีโอกาสสัมภาษณ์ ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงทิศทางเศรษฐกิจ และทิศทางนโยบายการเงินในปีเสือ

- เศรษฐกิจในปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นหรือไม่

คิดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวในเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นตามลำดับ คือนโยบายผ่อนปรนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการการคลังได้เริ่มทยอยเห็นผล แต่ยังมีความเสี่ยงที่ ต้องระมัดระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเศรษฐกิจโลกน่าจะมีความผันผวน ซึ่งมีปัจจัยหลายข้อที่บ่งบอก ทั้งจากภายนอกและภายใน ถ้าลงรายละเอียดปัจจัยภายนอกพบว่า เป็นช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว ดังนั้นความมั่นใจ ความเชื่อมั่นนักลงทุน และผู้บริโภคยังเปราะบาง ถ้ามีข่าวเกิดขึ้นจะตื่นตระหนกได้ง่ายทำให้ความผันผวนเกิดขึ้นง่าย ขณะที่เงินทุนไหลเข้าปีหน้าจะมีมากขึ้น

การฟื้นตัวยังไม่ลงรากลึก เวลามีข่าวก็ตื่นตระหนกทำให้การคาดการณ์ตรงข้าม ขณะนี้ภาคสถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกาดีขึ้นเยอะ สภาพคล่องที่เคยเหือดหายกลับมาสู่ระดับใกล้เคียงปกติมากขึ้น แต่ว่าตัวสถาบันการเงินยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ในเรื่องความแข็งแรงแม้เพิ่มทุนบางส่วนแต่ยังไม่ถึงกับแข็งแกร่ง และทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ออมและผู้ลงทุนไม่เต็มที่นักจึงเป็นความเสี่ยงของระบบที่ทำให้ระบบยังไม่ฟื้นตัวแข็งแรงเท่าไหร่

สำหรับตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่พูดกันเยอะ คือ มาตรการการคลัง แต่มาตรการเหล่านี้คงทำต่อเนื่องต่อไปไม่ได้ ถึงจุดหนึ่งต้องให้เอกชนรับไม้ จะรับไม้ได้หรือไม่ต้องติดตามใกล้ชิด ถ้ารับไม้เมื่อไหร่ ความตั้งใจกลับคืน มาการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะต่อเนื่องและยั่งยืน ของไทยก็เหมือนกัน โดยปีนี้คาดการณ์เศรษฐกิจโต 3.3-5.3% มีการนำข้อมูลล่าสุดทั้งราคาพืชผลและแนวโน้มมาดู เราไม่ต้องคิดเอาเอง มันมีข้อมูลจากตลาดในอนาคตเป็นตัวชี้วัดได้ เราใช้ข้อมูลล่าสุดเท่าที่มีทุกครั้ง ถึงเวลาอัพเดทข้อมูลมาดูประมาณการไว้ล่าสุดเท่าที่มีจะสะท้อนทั้งด้านซัพพลายและดีมานในตลาดโลก

- โครงการมาบตาพุดที่จังหวัดระยองมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจปีนี้ขนาดไหน

ก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งชะลอโครงการได้ศึกษาและประเมินแล้วว่าหากเหตุการณ์ยืดเยื้อ 1 ปีจะกระทบจีดีพี 0.5% แต่เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งออกมาระงับอย่างเป็นทางการจะต้องมีการประเมินกันใหม่ ซึ่งต้องเอาตัวเลขมาคุยกันว่าผลกระทบมากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญคือรัฐสามารถให้ความชัดเจนได้เร็วช้าแค่ไหน นักลงทุนไม่ได้กลัวว่าจะมีขั้นตอนที่จะต้องทำอะไร แต่ตารางเวลาต้องชัดเจน เพราะถ้าคาราคาซังหาคำตอบไม่ได้ทำให้เอกชนไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก

ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้สั่งให้ทำในหลาย ๆ อย่าง และแนวทางที่ให้ไว้คือ พูดกันด้วยข้อมูลว่าแต่ละโครงการอยู่ขั้นตอนตรงไหนบ้าง กำลังก่อสร้างหรือก่อสร้างเสร็จแล้ว และมีประเภทไหนที่เข้าข่ายให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้บ้าง ซึ่งบางโครงการยังไม่มีข้อมูลมาให้พิจารณา โดยตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง และมีองค์กรอิสระมาประเมิน

ความเห็นส่วนตัวการจะแก้ไขปัญหานี้ได้ ต้องมีกระบวนการสร้างความเชื่อใจระหว่างภาครัฐและเอกชนด้วย ถ้าเอกชนรู้สึกว่ารัฐไม่สนใจจะลุยเอาเรื่องธุรกิจออกให้ได้อย่างเดียว และการลงทุนออกให้ได้อย่างเดียวและเห็นแต่ตัวเลขจีดีพีและเม็ดเงิน ไม่สนใจสิ่งที่ศาลได้ชี้และสิ่งที่ประชาชนเดือดร้อนจะทำให้เรื่องนี้พูดกันไม่จบ

ดังนั้นจำเป็นที่ต้องหาความพอเหมาะ เพราะจะลุยสุดโต่งอย่างเดียวก็จะสะดุด ซึ่งต้องมีกระบวนการ หรือคณะทำงาน เพื่อทำความเข้าใจในหลายอย่าง และดูว่าเกณฑ์ต่าง ๆ เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ที่มีอยู่แล้วจะทำอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับ ถ้าไม่ ยอมรับและเห็นว่าที่ทำไปแล้วรับไม่ได้ต้องนับหนึ่งใหม่ ก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่ง ส่วนภาคประชาชนจะดูเฉพาะสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ไม่ได้ ต้องดูเรื่องเศรษฐกิจด้วย เพราะวัตถุประสงค์สุดท้ายเหมือนกัน ดังนั้นต้องเอาคนเกี่ยวข้องมาหารือกัน เพื่อหาทางสายกลาง

- ธนาคารพาณิชย์ไดรับผลกระทบเรื่องการปล่อยสินเชื่อหรือไม่

ได้สอบถามธนาคารพาณิชย์ไปแล้ว ซึ่งเห็นว่าไม่มีปัญหา เพราะโครงการที่เริ่มเดินหน้าไปแล้วส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ให้สินเชื่อคลีนโลน แต่ทั้งหลายทั้งปวงขึ้นกับว่าทำความชัดเจนได้เร็วช้าแค่ไหนว่ามีกี่ขั้นตอน ถ้าชัดเจนเอกชนก็พร้อมเดินหน้า ขณะที่แบงก์พร้อมสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อเพิ่ม

- ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในปีนี้เป็นอย่างไร

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจมีวิกฤติรุนแรงแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศมีปัญหาภาคสถาบันการเงินใช้มาตรการผ่อนปรนเยอะถึงจุดหนึ่งมาตรการเหล่านี้จะต้องหยุด และดูว่าการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมจะเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อหยุดก็ต้องทำกลับกันคือทำมาตรการเป็นลักษณะเข้มงวดตรงข้ามกับผ่อนปรน

การดำเนินนโยบายการเงินมีความเสี่ยง ตรงที่ถ้ามาตรการเข้มงวด ทำเร็วไปมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ถ้าช้าไปมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และทำให้เกิดการคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งจะต้องระมัดระวัง และดูในเรื่องของระยะเวลา แต่ประเทศมีจังหวะเวลาทำนโยบายเหล่านี้ไม่เหมือนกัน นอกจากเรื่องนโยบายการเงิน การคลังของประเทศแล้วยังมีนโยบายเกี่ยวกับภาคสถาบันการเงิน เพราะในช่วงที่มีปัญหาได้มีการค้ำประกันเงินกู้และเงินฝาก เมื่อถึงจุดหนึ่งต้องหยุดและต้องปรับทิศ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นสิ่งที่มีความไม่แน่นอนสูงในเรื่องระยะเวลาและผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นพวกนี้จะทำให้นักลงทุน พยายามที่จะคาดการณ์และดูว่าจะทำเมื่อไหร่และผลเป็นอย่างไร การคาดการณ์ทำให้เกิดความไม่แน่นอน

เราดูแลทั้งในเรื่องเงินเฟ้อและการเติบโตเศรษฐกิจ และดูความเสี่ยงทั้งสองด้านว่าเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเศรษฐกิจยังแผ่วเงินเฟ้อคงไม่เพิ่มมาก ซึ่งมีทิศทางไปด้วยกัน แต่ถ้าเงินเฟ้อสูงขึ้น โดยหลัก ๆ มาจาก 2 อย่างคือเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นจะมีแรงกดดันด้านราคาจากความต้องการแท้จริง ซึ่งอีกอันเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าตลาดโลก ทั้ง อเมริกา และประเทศในยุโรปเศรษฐกิจดีขึ้นได้เวลาทำนโยบายการเงินที่เหมาะสม แต่นักวิเคราะห์และประชาชนกังวลว่าเงินเฟ้อสูง ถือว่าเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าทำให้คนเร่งการใช้จ่าย ราคาสินค้ามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนเงินเฟ้อจะขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่ว่าเศรษฐกิจฟื้นเร็วกว่าที่คาดมั้ย และการคาดการณ์กระฉูดมั้ยจะต้องดู ถ้าถึงเวลาความเสี่ยงมีมากขึ้นก็ต้องเปลี่ยนทิศทางของนโยบาย แต่ถ้าดูแล้วยังเปราะบางก็ยังไม่เป็นประเด็น ต้องดูมาตรการด้านนโยบายเป็นอย่างไร

ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นและถ้ารัฐยกเลิกมาตรการ 5 ข้อ เงินเฟ้อมีโอกาสสูงทำให้มีการตีความทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น แต่จะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ต้องดูทางด้านทฤษฎีและตัวเลขล่าสุดมาประกอบการตัดสินใจแต่เงินเฟ้อจะกระฉูดเกินความเหมาะสม และเศรษฐกิจฟื้นตัวเปราะบางมีความเป็นไปได้แค่ไหนต้องมาชั่งน้ำหนักกัน เราทำนโยบายการเงินโดยมีเป้าหมายในเรื่องของเงินเฟ้อ ดังนั้นเป็นเรื่องต้องติดตามใกล้ชิด และเป็นหน้าที่ของธปท.และธนาคารกลางในหลายแห่งต้องดูแลเงินเฟ้อ เพราะมีข้อเสียทั้งระยะสั้นและระยะยาว

เวลาเราทำนโยบายการเงิน ซึ่งเรามีเป้าหมายคือเงินเฟ้อแต่เราไม่ได้ดูเฉพาะเงินเฟ้อ แต่ดูทั้งหมด เป็นไปได้ที่ในช่วงประชุมอาจไม่กระฉูด แต่ประเมินข้างหน้ากระฉูด ต้องมีมาตรการแต่เนิ่น ๆ และสิ่งที่ต้องจับตาดูคือเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจ และภาวะฟองสบู่ โดยยอมรับว่าหลังเกิดวิกฤติเราดูภาวะฟองสบู่ใน 7 ด้าน ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น ภาระหนี้สินของภาคธุรกิจ ภาระหนี้สินของภาคครัวเรือน คุณภาพสินเชื่อและเอ็นพีแอลเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นหลักการที่ทำปกติอยู่แล้ว

สำหรับภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำนาน ๆ มีผลได้ 2 อย่างทำให้เกิดเงินเฟ้อ คือ การที่ราคาสินค้าโดยรวมสูงขึ้นต่อเนื่อง ภาวะฟองสบู่อาจไม่ใช่มีผลต่อราคาทั้งระบบแต่เป็นเฉพาะภาคธุรกิจ เช่น ดอกเบี้ยต่ำคนกู้ง่ายและเก็งกำไรมากขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่ ดูในเรื่องราคาบ้าน ที่ดิน ไม่ได้สูงขึ้นมากนัก ตลาดหุ้นดัชนีสูงขึ้นทั่วทุกภูมิภาคและสูงขึ้นจากการที่มีเรื่องสภาพคล่องเข้ามาแต่ไม่ได้เป็นภาวะที่เกิดจากการเก็งกำไร

- การไหลเข้าออกของเงินทุนจะเป็นอย่างไร

จะมีความผันผวนเพราะความเชื่อ มั่นนักลงทุนยังไม่มั่นใจ 100% เมื่อมีข่าวดีข่าวร้ายก็จะปรับพฤติกรรมเอาเงินเข้าเงินออก อีกเรื่องคือในภูมิภาคนี้โอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าสหรัฐอเมริกามีมาก เพราะเศรษฐกิจแถวนี้แข็งแรงกว่า จะทำให้มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคและต่างประเทศทำให้มีเงินไหลเข้ามา และการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ดังนั้นเอกชนต้องระมัดระวังในเรื่องความผันผวน ซึ่งาพูดมาตลอดและปีหน้าจะไม่ผิดไปจากข้อมูลนี้ แม้หลายคนออกมาพูดว่าปีนี้เราผ่านก้นกระทะมาแล้วแต่ปีหน้าจะดีขึ้น แต่ทุกอย่างจะมีความผันผวนน้อยลง ถ้ามองอย่างนั้นไม่ถูก เพราะความผันผวนเป็นเรื่องต้องระวังอย่างต่อเนื่อง

- เงินทุนเคลื่อนย้ายมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทมากน้อยแค่ไหน

เงินที่ไหลเข้าออกเกิดขึ้นทั้งภูมิภาคไม่ใช่เฉพาะไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ แต่จะมีผลต่อค่าเงินแค่ไหนนั้น ไม่อยากจะพูด ซึ่งหากมีความผันผวนเกิดขึ้นก็ต้องดูแล ปีหน้าจะมีความท้าทายเรื่องระยะสั้นที่ต้องดูคือการเติบโตจะต่อเนื่องและยั่งยืนมั้ย ความผันผวนจะเป็นอย่างไร ยังมีโจทย์ต้องดูในระยะยาวต่อไป เพราะในเดือนมกราคมนี้ จะมีการเซ็นสัญญาเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอระหว่างจีนกับอาเซียน

และในปี 2558 จะมีการประชุมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สิ่งที่เกิดขึ้นมีการเคลื่อนย้ายใน 5 ด้าน ทั้งเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เคลื่อนย้ายการลงทุน และแรงงาน ขณะที่การเปิดเสรีในด้านตลาดทุนจะทยอยตามมา หมายความว่าจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งโอกาสถ้าเราแข่งขันเตรียมตัวไว้ดีเมื่อตลาดเปิดแทนที่จะมีประชากรแค่ 67 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 500-600 ล้านคนใน อาเซียน แต่ถ้าเป็นอาเซียนบวก 3 จะมีประชากรประมาณ 2,000 ล้านคน จึงเป็นเรื่องที่ต้องฉกฉวยโอกาส แต่ถ้าเราไม่ฉกฉวยโอกาส ซ้ำร้ายรับมือความท้าทายไม่ได้ ตลาด 67 ล้านคนของเราจะถูกเขาฉกฉวยไปด้วย

- ส่งออกยังเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้หรือไม่

ขณะนี้เราพูดกันว่าในอนาคตไม่สามารถพึ่งพาได้มาก จะมีประเด็นว่าถ้าเขาไม่สามารถซื้อของจากเราได้เราจะทำอย่างไร แน่นอนก็มีประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสามารถในการซื้อของจากเรา แต่อเมริกาเคยเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด แม้ว่าจะมีตัวช่วยแต่ไม่สามารถทดแทนกันได้ สิ่งที่เราต้อง เตรียม คือ ต้องระมัดระวัง และพึ่งพาเท่าที่ทำได้ พยายามสร้างตัวเองให้แข็งแรง และหาช่องทางพึ่งพาตลาดในประเทศ

ถ้าพูดถึงสัดส่วนส่งออกที่สำคัญยังเป็นกลุ่มประเทศจี 3 คือ อเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น 10-12% จีน 9% ดังนั้น 3 ประเทศแรกรวมกันกว่า 30% แม้ตลาดจีนโตเร็วแต่ยังแค่ 10% ของจี 3 ขณะที่ประเทศในภูมิภาคมีการซื้อขายระหว่างกันมากขึ้น แต่ส่วนหนึ่งเป็นการซื้อเพื่อส่งต่อไป จี 3 ไม่ใช่ของจริงในภูมิภาคนี้ทั้งหมด และระยะต่อไปตลาดภูมิภาคและจีนจะโตกว่านี้ และทดแทนจี 3 ซึ่งมีความเป็นไปได้

ทั้งนี้ ไทยยังพึ่งพาส่งออกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ต้องหาสิ่งอื่นทำควบคู่กันไปด้วย จะหวังให้ส่งออกช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตแบบเดิมเหมือนอดีตที่โตปีละ 10% เป็นไปไม่ได้ ตลาดที่มีอยู่โตบ้างแต่โตช้าหน่อย เราพยายามรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งต้องทำหลายเรื่อง นอกจากลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพแล้ว ต้องทำตลาดให้ดี อย่างอเมริกาตลาดคนซื้อไม่มีตังค์ ต้องหาตลาดอื่น และสินค้าบางอย่างที่เราแข่งไม่ได้ต้องปรับทิศทาง ส่วนการพึ่งในประเทศมันเกิดไม่ได้เร็ว เพราะว่าตลาดในประเทศเราแค่ 67 ล้านคน แต่โชคดีที่จะมีอย่างอื่นทำให้ตลาดใหญ่ขึ้น เป็นโจทย์ที่ทำอย่างไรจะฉกฉวยให้ได้

- ผู้ส่งออกปรับตัวรองรับการแข่งขันในเวทีโลกอย่างไร

การแข่งขันของเราในเรื่องส่งออก จะแข่งได้ไม่ได้ ตัวสำคัญคือ ประสิทธิภาพและต้นทุน ต้นทุนมีหลายตัวมาก อัตราแลกเปลี่ยนแค่ส่วนหนึ่ง แต่ตัวหลักเป็นเรื่องของต้นทุนแรงงาน ต้นทุนเครื่องจักร ยกตัวอย่างกรณีเวียดนามก่อนหน้านี้มีปัญหาลดค่าเงิน 5% ไม่มีผลต่อเรา ดังนั้นเราต้องหาทางเพิ่มประสิทธิภาพให้แข่งกับเขาได้ ซึ่งเป็นโจทย์ต้องคิดถ้ามองเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง

ดังนั้นปี 2553 นี้ นับว่าเป็นปีแห่งความหวังของคนไทย ว่ามาตรการของรัฐ และการอัดฉีดงบประมาณจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยสดใสขึ้นมาได้ แต่ทั้งนี้หากการเมืองไม่มาทำลายบรรยากาศ น่าจะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าขึ้นได้มากกว่านี้.

ทีมเศรษฐกิจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook