ตลท.ฟันธงจีดีพีปีนี้โต3-4%-แนะเพิ่มช่องส่งออกภูมิภาคเอเซีย

ตลท.ฟันธงจีดีพีปีนี้โต3-4%-แนะเพิ่มช่องส่งออกภูมิภาคเอเซีย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) ในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3-4%  โดยรวมปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองภายใน ความไม่ชัดเจนจากกรณีมาบตาพุดแล้ว ซึ่งในกรณีมาบตาพุดนั้นจะส่งผลในระยะกลางและระยะยาวต่ออุตสาหกรรมต้นน้ำ และยังมีนัยต่อการจ้างงานอีกด้วย อย่างไรก็ดี การหดตัวของจีดีพีในปีก่อนที่ประมาณ ติดลบ3% ถึงติดลบ 4% และกลับมาขยายตัวได้ในปีนี้ เป็นการแสดงถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่ทรงตัวจากปีก่อนเกิดวิกฤต โดยสิ่งที่แตกต่างไปจากปี 2551 ได้แก่บทบาทของภาครัฐที่มีมากขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุนและการก่อสร้างจะดีขึ้นเช่นเดียวกับการส่งออก แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากฐานในปีก่อนที่ต่ำ ซึ่งยังต้องติดตามว่าการส่งออกดังกล่าวเป็นการส่งออกไปยังประเทศใด ซึ่งภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศสหรัฐฯและยุโรปอาจยังไม่ดีนัก ขณะที่การส่งออกไปในทวีปเอเชีย อาทิ จีนและอินเดียอาจจะดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยถือว่าเติบโตต่ำกว่าศักยภาพและความคาดหวังทางเศรษฐกิจไทยลดต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นปัญหาในด้านความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ เศรษฐกิจปี 2553 มีความไม่แน่นอนอยู่ โดยในครึ่งปีแรกเป็นความไม่แน่นอนจากปัญหาภายในประเทศ โดยเฉพาะทางการเมืองอันจะมีผลต่อความมั่นคงของรัฐบาล และการแก้ไขปัญหามาบตาพุดที่คาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้ภายในไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 2 ปี 2553 อีกทั้งเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงจากสัญญาณเงินเฟ้อที่มากขึ้น โดยทุกประเทศจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินลงในช่วงครึ่งปีหลังก็ต้องหาจังหวะเวลาที่เหมาะสมให้ได้ นอกจากนี้ ยังคงมีความกังวลในเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยจะเห็นว่าตัวเลขเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาในตลท.เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสภาพคล่องทั่วโลกยังมีอยู่เป็นจำนวนมากจึงอาจส่งผลต่อราคาสินทรัพย์ที่จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นความท้าทายของเศรษฐกิจในปีนี้จะมีอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ การรักษาสมดุลเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องและถอนนโยบายที่ผ่อนคลายออก รวมทั้งการพึ่งพาการส่งออกต้องหาช่องทางการเข้าถึงภูมิภาคมากขึ้น และสร้างความต้องการอุปสงค์และการลงทุนภายในประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook