บันทึกข้อตกลงตั้ง ''มุมนมแม่''

บันทึกข้อตกลงตั้ง ''มุมนมแม่''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ลดการหยุดงาน-ทารกสมองดี

รณรงค์สนับสนุนการให้นมลูกของแม่ในสถานประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เพื่อให้ลูกได้ดื่มนมแม่ต่อเนื่องและแม่ไม่ต้องลาหยุดงานบ่อย โดยก่อนหน้านี้ สสส.ได้จัดโครงการ มุมนมแม่นำร่อง พบว่า ช่วยลดการลาหยุดของแม่ในสถานประกอบ การได้มากถึงร้อยละ 30 ด้วยเหตุนี้ สสส. ร่วมกับศูนย์แม่ฯ ผนึกกำลัง 7 องค์กร ประกอบด้วย กระทรวงแรงงาน, กระทรวงสาธารณสุข, กรุงเทพมหานคร, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, กรมอนามัย, องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และองค์การอนามัยโลก ประเทศไทย จัด พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการจัดสวัสดิการแรงงานการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการตั้ง มุมนมแม่ ขึ้นในสถานประกอบการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่กระทรวงแรงงาน

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า มุมนมแม่เป็นความพยายามที่ต้องการให้แม่สามารถ บีบ เก็บ ตุน น้ำนมในระหว่างเวลางานเพื่อนำกลับไปให้ลูกที่บ้าน เพราะปัญหาสำคัญของคนวัยแรงงานคือ แม่ในสถานประกอบการไม่สามารถเลยงลูกด้วย นมแม่ได้ ดังนั้นมุมนมแม่จะส่งผลดีต่อทั้งตัวเด็ก พนักงาน ครอบครัว สถานประกอบ กิจการ ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศต่อไป โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีเป้าหมายในการเพิ่มมุมนมแม่อีก 175 แห่งทั่วประเทศในปีนี้

ผู้จัดการโครงการการสร้างรากฐานชีวิตและสังคมด้วยนมแม่ ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เผยว่า จากผลสำรวจล่าสุดของศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยพบว่า สถิติการใช้บริการมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการดีเด่น 12 แห่งระหว่างปี พ.ศ. 2550-2552 ชี้ชัดว่า แม่ที่เข้าร่วมโครงการมุมนมแม่มีอัตราการลาหยุดงานน้อยกว่าแม่ที่ไม่ได้ให้นมลูกถึงร้อยละ 30 และผลการทำงานของแม่ที่เข้าร่วมโครงการมีประสิทธิภาพมากขึ้นร้อยละ 44 ภายใต้เขตนิคมอุตสาหกรรมส่งออกนำร่อง 3 จังหวัด คือ สมุทรปราการ, พระนครศรีอยุธยา และชลบุรี ซึ่งมีสถานประกอบกิจการเข้าร่วม 38 แห่ง มีมุมนมแม่มาตรฐาน 27 แห่ง โดยแม่ที่เข้าโครงการ 529 ราย พบว่าร้อยละ 56 แม่ต้องให้นมลูกวัย 0-5 เดือน ร้อยละ 37.2 ให้นมลูกวัย 6-11 เดือนและร้อยละ 6.8 ยังคงให้นมลูกที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป สะท้อนให้เห็นว่ามุมนมแม่เป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับเด็กวัย 0-5 เดือน ซึ่งสูงเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับเด็กวัย 6-11 เดือน และสูงร่วม 9 เท่าตัวเมื่อเทียบกับเด็กอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป

ผลการศึกษาชี้ชัดว่าเด็กที่ได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด-6 เดือน มีระดับสติปัญญาดีกว่าทารกที่ไม่ได้รับนมแม่สูงถึง 2-11 จุด เดือน ต.ค. พ.ศ. 2552 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประกาศผลการดำเนินงาน โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ในพื้นที่ 39 จังหวัด พบว่าสมาชิกโครงการฯ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือน เพิ่มขึ้นจากที่องค์การยูนิเซฟสำรวจไว้ร้อยละ 5.4 เป็นร้อยละ 29.6 เมื่อประกอบกับศักยภาพในการทำงานของแม่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เร่งจัดให้มีมุมนมแม่ในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก เพียงผู้บริหารมีความจริงใจ พญ.ยุพยง กล่าว.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook