180ล้านฟื้นฟูสนามหลวง

180ล้านฟื้นฟูสนามหลวง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กทม. ขานรับทุ่ม 180 ล้าน ฟื้นฟูท้องสนามหลวง เนื้อที่ 73 ไร่เศษ เตรียมให้ ทหารช่าง เข้าดำเนินการเพื่อความรวดเร็ว ให้แล้วเสร็จใน 300 วัน พรเทพ ระบุ ทิศใต้ฝั่งวัดพระแก้ว ปูหญ้าเพื่อใช้สำหรับงานพระราชพิธี และงานประเพณีต่าง ๆ ทิศเหนือปูคอนกรีต เพื่อให้ประชาชนใช้สอยร่วมกัน โดยมีถนนขั้นกลาง พร้อมปรับปรุงทางเท้า เสาไฟฟ้า ประดับม้านั่ง ต้นไม้ และสร้างสุขาสาธารณะ

จากกรณี เดลินิวส์ นำเสนอข่าว สนามหลวง ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของประเทศ แต่กำลังทรุดโทรมเสื่อมสภาพ จากการที่คนกลุ่มหนึ่งเข้าไปใช้พื้นที่ ใช้ประโยชน์จากสนามหลวง แล้วไม่ได้ช่วยกันดูแลรักษา รวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ไม่ได้เข้ามากวดขัน หรือดูแลสนามหลวงให้ดีเท่าที่ควร ทำให้สนามหลวงที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และเป็นเสมือนหัวใจของคนกรุงเทพฯ กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยนานาชนิด ทำให้ประชาชนในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รู้สึกเป็นกังวลว่าสนามหลวงจะหมดความศักดิ์สิทธิ์ จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาทำงานแบบบูรณาการ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 19 ม.ค. นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยโครงการเตรียมปรับปรุงสนามหลวงว่า ทาง กทม.ได้มีโครงการดำเนินการอยู่แล้ว โดยมีการออกแบบไว้ 2 ส่วนคือ ทิศใต้ฝั่งพระบรมมหาราชวัง จะปูหญ้าเพื่อใช้สำหรับงานพระราชพิธี และงานประเพณีต่าง ๆ สำหรับด้านทิศเหนือฝั่งสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า จะปูคอนกรีตเพื่อให้ประชาชนใช้สอยร่วมกัน มีทางเป็นถนนกั้นกลาง นอกจากนี้ยังมีทางเดินเล็ก ๆ โดยรอบ พร้อมปรับปรุงทางเท้า เสาไฟ ประดับม้านั่ง ต้นไม้ และก่อสร้างสุขาสาธารณะด้วย ใช้เวลาก่อสร้าง 300 วัน งบประมาณ 180 ล้านบาท

รองผู้ว่าฯ กทม. เผยต่อว่า สำหรับสาเหตุที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก เนื่องจากเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ พื้นที่กว้าง อีกทั้งต้องมีการถมดินช่วงกลางให้สูงกว่าระดับอื่น ๆ และวางระบบระบายน้ำใหม่ ระหว่างนี้จะปิดพื้นที่ห้ามใช้งาน ยกเว้นงาน พระราชพิธีที่สำคัญ รวมทั้งห้ามคนเร่ร่อนหลับนอนในพื้นที่ด้วย นอกจากนี้เมื่อปรับปรุงเสร็จ ก็จะกำหนดระเบียบการใช้สอยที่เข้มงวดขึ้นด้วย

นายพรเทพ กล่าวต่อว่า กทม.ได้ส่งรูปแบบรายละเอียดการปรับปรุงทั้งหมด ในพื้นที่ 73 ไร่เศษ หรือ 120,000 ตารางเมตร ความกว้างจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกยาว 199.6 เมมตร ใช้งบปรับปรุงทั้งหมด 180 ล้านบาท เป็นงบไทยเข้มแข็ง กทม. โดยให้ทหารช่าง เข้ามาดำเนินการเพื่อความรวดเร็ว เนื่องจากไม่ต้องประกวดราคา สามารถดำเนินการได้ทันที ตามระเบียบหน่วยงานรัฐต่อรัฐ ซึ่งทหารช่างจะใช้เวลาในการพิจารณาแบบแปลน รวมทั้งจัดเตรียมบุคลากร และอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการก่อสร้างปรับปรุงทั้งหมดอีกครั้ง คาดว่าจะเข้าพื้นที่ได้ภายในเดือน ม.ค.นี้ หรือไม่ก็ต้นเดือน ก.พ.นี้

ด้าน เจ้าเป็ด-ปริญญา สุขชิต อายุ 62 ปี ที่ปรึกษาสมาคมกีฬาไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในฐานะผู้คุ้นเคยกับสนามหลวงว่า ในเรื่องของการปิดปรับปรุงท้องสนามหลวงนั้น ในส่วนหนึ่งตนก็รู้สึกเห็นด้วย แต่ก็อยากให้ กทม.ออกมา ระบุให้ชัดเจนว่าจะมีแผนอย่างไร จะทำ อะไรบ้าง และเมื่อปรับปรุงแล้วปัญหาที่มีอยู่ตอนนี้จะแก้ไขได้หรือไม่ เพราะปัญหาของสนามหลวง ไม่ได้มีแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ต้องแก้ไขปัญหาสังคมที่อยู่รอบ ๆ ด้วย รวมถึงอยากให้มองถึงพ่อค้าแม่ค้าว่าว ว่าพวกเขาจะอยู่กันอย่างไร ช่วงที่สนามหลวงปิดนาน กว่า 300 วัน จะให้การช่วยเหลือได้อย่างไร มีแผนรองรับพวกเขาบ้างหรือไม่

รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม หัวหน้าภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอนุกรรมการส่งเสริมและเผยแพร่นวัตกรรมท้องถิ่น สำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการบริหาร สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า สนามหลวงมีประวัติศาสตร์ มีพัฒนาการของมัน ถ้าดูจากอดีตเป็นสถานที่ประกอบราชพิธี และพิธีสำคัญ ๆ เป็น ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เพราะอยู่ในราชพิธี อยู่ ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ และโดยรอบสนามหลวง จะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากมาย ซึ่งประชาชนก็เข้าใจประวัติศาสตร์ เข้าใจอัต ลักษณ์ของสนามหลวง แต่ปัจจุบันนี้สนามหลวงเปลี่ยนไป เพราะว่าการจัดระเบียบไม่ดี

20 ปีก่อน สนามหลวงกลายเป็นตลาดนัดสนามหลวงในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ มีคนมากมายไปใช้พื้นที่จนล้นทะลักและเสื่อมสภาพ แต่ต่อมาได้ย้ายไปเป็นสวน จตุจักร สนามหลวงก็กลับมาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนเดิม กลายเป็นที่พักผ่อน ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมทางการเมือง แต่สนามหลวงก็ยังมีการจัดระเบียบที่ดี ยังดำรงไว้เป็นสถานที่ประกอบราชพิธีต่าง ๆ และพิธีสำคัญ ๆ เหมือนเดิม แต่การจัดระเบียบด้านอื่น ๆ ไม่ดีทำให้กลายเป็นพื้นที่ รกรุงรังไร้ระเบียบ รศ.ดร.โกวิทย์ กล่าว

หัวหน้าภาคฒนาชุมชน กล่าวต่อว่า หากดูจากพัฒนาการโดยภาพ รวม แล้วจะเห็นว่าสนามหลวงแย่ลง เพราะมีการมองในเชิงเศรษฐกิจมากเกินไป เช่น การให้เป็นที่จอดรถ หรือเปิดให้คนมาค้าขาย ซึ่งมองแล้วมันเป็นระบบทุนมากเกินไป ระบบเศรษฐกิจทำให้สนามหลวงเปลี่ยนโฉมไป เพี้ยนไปจากเดิม หรือแม้กระทั่งคนเร่ร่อน ที่เป็นสาเหตุของการมีกลิ่นปัสสาวะ หรือสิ่งปฏิกูลทั่วสนามหลวง จนกลายเป็นที่ทิ้งขยะมากกว่าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ปัญหาต่าง ๆ นี้ จะเป็นการท้าทายผู้บริหาร กทม. เนื่องจากสนามหลวงเป็นจุดแรก ๆ ที่นักท่องเที่ยว มาเห็น หากสนามหลวงมีภาพลักษณ์ที่ดี ประเทศไทยก็จะดีด้วย แต่ถ้าหากสนามหลวงไม่ดีประเทศไทยก็ไม่ดีด้วย สนามหลวงควรมีต้นไม้ที่ร่มรื่น มีที่นั่งพักผ่อนเป็นสวนสาธารณะจริง ๆ

รศ.ดร.โกวิทย์ กล่าวอีกว่า ถ้ามองถึงการแก้ปัญหานี้ สิ่งแรกที่ควรมีคือ ความ ชัดเจนว่าพื้นที่สนามหลวงนั้น เป้าหมาย คืออะไร ทุกคนต้องคิดและอยากรู้ว่าทำอะไรอยู่ เราสับสนในความเป็นอัตลักษณ์ ว่าเป็นอย่างไร กทม.รองรับคนที่มาจากต่างจังหวัดมากเกินไป ผู้คนก็มาแสวงหาผลประโยชน์ มาเสี่ยงโชคก็เยอะ กทม.พยายาม ทำให้เป็นทุกอย่าง แหล่งการค้าขาย ที่ดินทำกิน มันทำให้ กทม.โตแบบไร้ระเบียบ

เราควรจะช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์ อยากให้มองถึงประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัว ควรมีระเบียบในการขอใช้พื้นที่ ต้องจัดหาพื้นที่ให้กับผู้ด้อยโอกาส กทม.ต้องแก้เป็นระบบแบบบูรณาการ สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นความล้มเหลวระดับรัฐ เป็นความล้มเหลวตั้งแต่วิธีคิดแล้ว สนามหลวงไม่ใช่พื้นที่ที่ทำมาหา กิน ไม่ใช่พื้นที่ที่อยู่อาศัย ไม่ใช่ที่ขายบริการ ไม่ได้เป็นที่ของคนเร่ร่อน รัฐต้องหาทางออกให้ได้ สำหรับเวทีทางการเมืองนั้น ทำได้แต่ควรมีกฎเกณฑ์ในการใช้พื้นที่อย่างชัดเจน รศ.ดร.โกวิทย์ กล่าว.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook