ผู้กู้ กยศ. ชำระหนี้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีเงินปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา เพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท

ผู้กู้ กยศ. ชำระหนี้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีเงินปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา เพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้กู้ กยศ. ชำระหนี้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีเงินปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา เพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท ขณะที่นักเรียนผู้ช่วยพยาบาล ของวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ และสถาบันพระบรมราชชนก สามารถกู้ กยศ. ได้เป็นปีแรก นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่หนึ่ง เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่หนึ่ง ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้นักเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล ของวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ และนักเรียนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลของสถาบันพระบรมราชชนก สามารถกู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเป็นปีแรกที่เด็กกลุ่มนี้สามารถกู้ยืมได้ ทั้งนี้ ปีการศึกษา 2553 คณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่หนึ่ง ได้รับการจัดสรรวงเงินสำหรับนักเรียนผู้กู้ยืมรายใหม่ 5,288 ล้านบาท แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 10,000 คน ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 80,000 คน ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) 47,000 คน โดยผู้กู้รายใหม่ที่ประสงค์ขอกู้ ให้ลงทะเบียนขอรหัสผ่านล่วงหน้าทางระบบ e-Studentloan ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 เมษายน ส่วนผู้กู้รายเก่า จะต้องลงทะเบียนผ่านระบบ e-Studentloan ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ -31 พฤษภาคมนี้ ด้าน นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่สองเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมรับทราบผลการชำระหนี้ กยศ. คืน โดยข้อมูลล่าสุดวันที่ 30 กันยายน 2552 ที่มีผู้ครบกำหนดชำระคืน 980,469 ราย มาชำระเงินคืน 721,356 ราย คิดเป็นร้อยละ 73.57 ยังมีผู้ค้างชำระ 259,113 ราย คิดเป็นร้อยละ 26.43 ซึ่งเป็นข่าวดีที่มีผู้ชำระเงินคืนเพิ่มขึ้น และตนเองได้ขอให้มหาวิทยาลัยช่วยทำความเข้าใจให้นักศึกษาใช้เงินคืน เพื่อให้รุ่นน้องได้มีโอกาสกู้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลการชำระคืนมากทำให้คณะกรรมการ กยศ. มีเงินปล่อยกู้เพิ่มขึ้นในปี 2553 โดยเดิมมีงบประมาณเพียง 28,000 ล้านบาท ปล่อยกู้เพิ่มขึ้นเป็น 38,000 ล้านบาท เฉพาะระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว คือจากเดิม 50,000 ราย เพิ่มเป็น 99,918 ราย วงเงิน 5,415,161,300 บาท แบ่งเป็นผู้กู้ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 100 ราย วงเงิน 1,440,000 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 681 ราย วงเงิน 15,186,300 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 3,600 ราย วงเงิน 1,440,00,000 บาท และอนุปริญญาและปริญญาตรี 95,537 ราย วงเงิน 254,535,000 บาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook