นักวิจัย เผย ผลงานวิจัยครั้งแรกของไทยที่มีการวางระบบนับนกเงือกอย่างจริงจัง ระบุ 3 ชนิดใกล้ศูนย์พันธ์

นักวิจัย เผย ผลงานวิจัยครั้งแรกของไทยที่มีการวางระบบนับนกเงือกอย่างจริงจัง ระบุ 3 ชนิดใกล้ศูนย์พันธ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล เผย ผลงานวิจัยครั้งแรกของไทยที่มีการวางระบบนับนกเงือกอย่างจริงจัง ระบุ นกเงือกในไทย 3 ชนิดใกล้ศูนย์พันธ์ ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยลักษณะพันธุกรรมประชากร และสถานภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือกในพื้นที่ผืนป่า และหย่อมป่าในประเทศไทย กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้สนับสนุนงบประมาณกว่า 15 ล้านบาท ให้ทีมนักวิจัยศึกษาลักษณะพันธุกรรมประชากร และสถานภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือกในพื้นที่ผืนป่า และหย่อมป่าในประเทศไทย ภายในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2545-2550 โดยทีมนักวิจัยได้สำรวจพื้นที่ครอบคลุมป่าดิบ 3 แห่ง คือ ผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ศึกษาพันธุกรรมของนกเงือก 13 ชนิดในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการวางระบบนับนกเงือกอย่างจริงจัง เบื้องต้น คาดว่ากลุ่มประชากรนกเงือกส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ 3 ชนิดที่มีขนาดเล็กจะมีโอกาสสูญพันธุ์ไปในอนาคต ได้แก่ นกชนหิน นกเงือกปากดำ และนกเงือกหัวหงอก ขณะที่มีประชากรนกเงือกเพียง 3 ชนิด ได้แก่ นกกก นกเงือกกรามช้าง และนกแก๊ก เท่านั้นที่สามารถพบประชากรจำนวนมากกว่า 1,000 ตัว นอกจากนี้ ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ยังเป็นงานวิจัยแรกที่สามารถเปรียบเทียบความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของนกเงือกได้เกือบครบถ้วน อีกทั้งสามารถเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างนกเงือกเอเชียและแอฟริกา และยังค้นพบเครื่องหมายโมเลกุลชนิด Microsatellite DNA 13 ตำแหน่ง ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์หาความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรนกที่อยู่อาศัยตามแหล่งต่างๆ ที่ห่างไกลกันได้ ศ.ดร.พิไล กล่าวว่า ทีมวิจัยจะมีการต่อยอดโครงการดังกล่าว โดยขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ติดตั้งจีพีเอสไปกับตัวนกเงือก จำนวน 10 ตัว บริเวณเขาใหญ่และห้วยขาแข้ง เพื่อศึกษาพื้นที่แหล่งหากิน และแหล่งที่อยู่อาศัยของนกเงือก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการการวางแผนและอนุรักษ์นกเงือกต่อไป พร้อมกระตุ้นให้ชุมชนเห็นถึงความสำคัญของนกเงือกและร่วมกันอนุรักษ์นกเงือก เนื่องจากมีส่วนสำคัญในการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ไม้หลายชนิด ทำให้เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศช่วยปลูกป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook