เลี้ยงลูกให้อารมณ์ดีใช้"นิทาน"เป็นเพื่อน

เลี้ยงลูกให้อารมณ์ดีใช้"นิทาน"เป็นเพื่อน

เลี้ยงลูกให้อารมณ์ดีใช้"นิทาน"เป็นเพื่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปิ๊งป่อง กู๊ดมอร์นิ่ง สวัสดีตอนเช้า... เสียงน้องแพรวตอบว่า กู๊ดมอร์นิ่ง เป็นเหตุการณ์ปกติทุกเช้า ของ คุณแม่ตุ๊ก ชนกวนันท์ วัชรคุณ กับ น้องแพรว ด.ญ.พิชชา อายุ 1 ขวบ 7 เดือน ลูกสาว ครอบครัวคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อการ เลี้ยงลูกด้วยนิทาน


ตุ๊ก คุณแม่ยังสาว บอกว่าเล่านิทานให้น้องแพรวฟังทุกวัน ให้ดูภาพประกอบและสามารถสัมผัสถึงทุกอย่างได้ เพราะเชื่อว่าการอ่านนิทานจะช่วยให้ลูกจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้ดี ถ้าเป็นนิทานกลอนเด็กจะจดจำได้ง่ายกว่า เพราะมีคำคล้องจอง การเลือกหนังสือต้องเหมาะสำหรับลูก แต่ละเล่มควรอ่านให้ลูกฟังช่วงใด จึงจะเป็นประโยชน์ต่อเขามากที่สุด

"เวลาลูกกินข้าว ตุ๊กจะเลือกนิทานเกี่ยวกับอาหารมาอ่านให้เขาฟัง ซึ่งในนิทานจะเป็นเรื่องราวที่สื่อสารให้รู้ว่าเด็กที่ไม่กินข้าวจะมีวายร้ายมาก่อกวน ใครกินข้าวครบทุกมื้อมีสุขภาพแข็งแรงนางฟ้าใจดีจะมาหา เมื่อลูกได้ยินเขาจะกินข้าวได้ง่ายโดยไม่ต้องบังคับ ต้องพิถีพิถันเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมกับลูก เพราะนิทานบางเรื่องอาจมีการใช้คำที่รุนแรงหรือเข้าใจยากและการอ่านนิทานให้ลูกฟังบ่อยๆ ลูกจะสามารถจดจำคำศัพท์ต่างๆ แล้วหัดพูดตามได้" คุณแม่ตุ๊กกล่าว

หน้าที่เลี้ยงลูกไม่ใช่หน้าที่แม่ฝ่ายเดียว "บ๊วย" เชษฐวุฒิ วัชรคุณ คุณพ่ออารมณ์ดีมองว่า การที่ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าและทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการเลี้ยงลูกที่พ่อแม่พึงกระทำอย่างยิ่ง เพียงแค่หาเวลาเล็กน้อยเล่นกับลูก หรือใช้เวลาในการอ่านนิทานให้ลูกฟัง หนังสือนิทานทุกเล่มสามารถช่วยให้ลูกเป็นคนร่าเริง ไม่จำเป็นต้องไปเรียนรู้จากสิ่งใดเลย เพราะลูกเป็นกระจกสะท้อนจากพ่อแม่ อยากให้ลูกเป็นคนร่าเริง ดังนั้นพ่อแม่ต้องเป็นคนร่าเริงให้ลูกเห็นก่อน

เช่นเดียวกับ ฐิติวรรณ จินตวรรณ อายุ 32 ปี คุณแม่ปอนด์ของน้องวิน อายุ 2 ขวบ 9 เดือน กำลังซน แต่ชอบอ่านนิทานมาก จึงเลือกนิทานลูกให้ลูกอ่าน เป็นนิทานภาพ เช่น การทดลองวิทยาศาสตร์ การทำอาหาร และการทำงานบ้าน ให้อ่านและส่งเสริมให้ลูกได้ใช้การสัมผัสทั้ง 5 พัฒนาทางสมองอย่างรอบด้าน และที่สำคัญพ่อแม่ อย่าปิดกั้นการเล่นของเด็ก เพราะถือเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

"อ่านหนังสือต่างๆ ให้ลูกฟัง ให้ลูกดูรูปภาพประกอบเรื่อง บางเรื่องเขาสามารถทำตามได้ และมีความรู้สึกว่าเขาสนุกที่ได้ทำกิจกรรม โดยที่พ่อแม่จะไม่ห้ามว่า "ลูกอย่าทำแบบนี้" เพราะจะกลายเป็นการปิดกั้นจินตนาการ ทำให้ลูกกลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง จะปล่อยให้เขาทำตามใจ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตและสายตาของผู้ใหญ่ จะช่วยให้ลูกเกิดการพัฒนาทางสมองอย่างรอบด้าน" คุณแม่ฐิติวรรณ กล่าว

ด้าน "พี่ตุ๊บปอง" เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป" กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก บอกว่าการปลูกฝังเด็กให้รักการอ่านนั้นต้องทำตั้งแต่อยู่ในท้องจนถึง 6 ขวบ โดยการอ่านออกเสียงสูงต่ำ คลื่นเสียงจะสื่อสารเชื่อมโยงกับคลื่นหัวใจของลูกที่อยู่ในท้อง และเกิดปฏิกิริยาตอบสนองถึงการรับรู้ เสียงของแม่เป็นตัวแทนของความรักที่มอบให้ลูก พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบที่ดีในการอ่านหนังสือด้วย อ่านให้ลูกฟังอย่างน้อยวัน 10 นาที จะช่วยปลูกฝังให้ลูกเป็นคนรักการอ่านอีกด้วย
นอกจากนิทานจะเป็นเครื่องมือในการเลี้ยงลูกแล้ว ยังมีโรงเรียนที่ใช้นิทานเป็นสื่อในการเรียนการสอน อย่างโรงเรียนเกษมพิทยา กทม. โรงเรียนอนุบาลที่เน้นเตรียมความพร้อมเด็กก่อนวัยเรียน ให้เด็กทำกิจกรรมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมร้อง เล่น เต้น และเปิดโอกาสให้พ่อแม่ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ในเวลาเรียน เป็นการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กกล้าแสดงออก กิจกรรมเน้นพัฒนาเด็ก 4 ด้าน คือ อารมณ์ สังคม ร่างกาย และสติปัญญา

"นอกจากนั้นโรงเรียนยังมีนโยบายรับเด็กที่มีพัฒนาการทางสมองช้า เช่น เด็กออทิสติก โดยการสอนจะเน้นเป็นการใช้นิทานเป็นสื่อในการเรียนของเด็กกลุ่มนี้ จากนั้นพอเขาเข้าใจก็นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์และสามารถทำกิจกรรมร่วมกับเด็กที่ปกติได้" ครูศศกมล บูรัชฏะ ครูประจำชั้นอนุบาล 3 กล่าว

การเชื่อมความสัมพันธ์สายใยความรักครอบครัวให้ใกล้ชิดกัน ผ่านตัวอักษรเป็นตัวแทนในการโอบกอดของพ่อแม่ เป็นเคล็ดลับในการเลี้ยงลูกสำหรับพ่อแม่มือใหม่ได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่ลูกน้อยอีกด้วย

0 วัชราภรณ์ สายเป็ง - จารยา บุญมาก 0

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook