อธิการบดี มศว หวั่นจัดตั้งรายการโทรทัศน์เพื่อครู (Teacher Channel) ไม่คุ้มค่า สูญเสียงบประมาณ

อธิการบดี มศว หวั่นจัดตั้งรายการโทรทัศน์เพื่อครู (Teacher Channel) ไม่คุ้มค่า สูญเสียงบประมาณ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หวั่นจัดตั้งรายการโทรทัศน์เพื่อครู (Teacher Channel) ไม่คุ้มค่า สูญเสียงบประมาณ ย้ำรัฐบาลอย่าสวมทำรายการเอง ชี้น่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ แนะควรเป็นองค์กรสาธารณะ คล่องตัว มีอิสระในการระดมความคิด ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวถึงแนวคิดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่ตั้งใจจะทำรายโทรทัศน์เพื่อครูหรือ ( Teacher Channel) ว่าเป็นเรื่องที่ดีหากแต่สิ่งที่ต้องให้ความสนใจก็คือรัฐบาลจะให้ใครมาดูแลโทรทัศน์ช่องนี้ และถ้าดำเนินการในรูปราชการมากเกินไปจะไม่มีความคล่องตัวและจะทำให้รายการไม่น่าสนใจ ท้ายที่สุดแล้วไม่มีใครดู จะสูญเสียงบประมาณเวลาและไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย การจะให้ใครมาดูแลรายการโทรทัศน์เพื่อครูนั้น รัฐบาลไม่ควรใช้รูปแบบเดิมๆ ที่ทำโครงการต่างๆ กันนั่นคือใช้ระบบประจบประแจง ใครใกล้ชิดรัฐบาลก็จะไดงานไปทำ แต่ควรจะดำเนินงานให้มีความคล่องตัวและโปร่งใส ตรวจสอบได้และไม่ควรเป็นโทรทัศน์เพื่อรัฐบาลแต่ควรเป็นโทรทัศน์เพื่อครูจริงๆ เป็นกระบอกเสียงและเกิดประโยชน์แก่แวดวงการศึกษาไทย "โทรทัศน์เพื่อครูนี้ควรจะเป็นช่องแห่งความรู้ เป็นองค์กรสาธารณะ มีอิสระในการระดมผู้คนหลากหลายเข้ามาร่วมนั่งเป็นบอร์ด ไม่ใช่แต่งตั้งคนในคณะรัฐบาลหรือนักวิชาการแค่บางกลุ่มบางคนเข้ามานั่งเป็นบอร์ด หากแต่ควรจะเป็นการระดมความคิดจากคนหลายกลุ่มวิชาชีพเข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์รายการ นอกจากนี้ต้องมีการประเมินและต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้รายการไม่ล้าสมัยและน่าเบื่อ ศ.ดร.วิรุณ กล่าวอีกว่าทุกวันนี้เราจะเห็นการการเพื่อการศึกษาที่พยายามถ่ายทอดเนื้อหาในโทรทัศน์บางช่องเน้นการเรียนการสอนมากเกินไป จนทำให้รายการไม่น่าสนใจ น่าเบื่อไม่จูงใจให้เกิดการเรียนรู้ หากโทรทัศน์เพื่อครูจะเกิดขึ้นของให้เน้นความบันเทิงที่แฝงสาระ แฝงทัศนะที่มีคุณค่าและมีประโยชน์กับผู้ชม สิ่งสำคัญอยากเห็นการเน้นให้ผู้ชมเกิดการเรียนรู้ เกิดกระบวนการคิด เกิดกระบวนการสร้างสรรค์ มากกว่าจะเน้นเพียงแค่ตัวความรู้เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้เมื่อมีโทรทัศน์เพื่อครูแล้ว สื่ออื่นๆ ที่ต้องคิดต่อเพื่อให้เข้าถึงคนในกลุ่มอื่นๆ นั่นก็คือควรจะทำรายการโทรทัศน์เพื่อครูในรูปออนไลน์ จัดทำเป็นสื่อการเรียนรู้อย่างซีดีหรือดีวีดี ตลอดถึงต้องจัดทำเป็นสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ถึงตอนนี้รัฐบาลมีแนวคิดจะจัดตั้งโทรทัศน์เพื่อครู แต่รูปแบบการทำงานหรือจัดตั้งยังไม่เห็นรายละเอียดแม้แต่น้อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook