ย้อนรอย พรบ.ควบคุมเครื่องดืมแอลกอฮอล์..จุดที่ไม่ยอมจบของปัญหาสังคม

ย้อนรอย พรบ.ควบคุมเครื่องดืมแอลกอฮอล์..จุดที่ไม่ยอมจบของปัญหาสังคม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในปี 2543 นักดื่มไทยดื่มเหล้ากลั่นเป็นอันดับ 5 ของโลก มีอัตราการบริโภคต่อคนต่อปี อยู่ที่ 7.13 ลิตร นอกจากนั้นสุรายังสร้างปัญหาสุขภาพและครอบครัว รวมทั้งอุบัติเหตุทางจราจร จนเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของคนไทย รองจากโรคมะเร็ง ด้วยเหตุนี้หน่วยงานองค์กรภาคเอกชนหรือเอ็นจีโอ เครือข่ายที่ต่อต้านเหล้าเบียร์ จึงออกมาเรียกร้องในเรื่องของการออกกฎหมายควบคุมน้ำเมาให้ชัดเจน แม้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จะคลอดออกมาได้ใช้จริง และเป็นความหวังสำหรับกลุ่มครอบครัว และกลุ่มผู้เคลื่อนไหวต่างๆ แต่กฎหมายดังกล่าวก็ยังถือเป็นประวัติศาสตร์ของความไม่ลงรอย เพราะประเด็นด้านผลประโยชน์ ที่ทำให้การออกกฎหมายที่ผ่านมา ยังไม่มีกฎหมายลูกรองรับอย่างชัดเจน พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เป็นกฎหมายที่กำหนดสถานที่ในการจำหน่ายและการบริโภค ทำให้คณะทำงานมีการหารือในการออกกฎหมายลูกเพื่อควบคุมน้ำเมาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่หากย้อนไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กลับยังไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องร่างกฎหมายลูกประกอบ พ.ร.บ.ดังกล่าวจำนวน 4 ฉบับ ได้ และที่ประชุมได้มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อให้เป็นผู้พิจารณาเรื่องร่างกฎหมายลูกกำหนดพิจารณาร่างให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 สำหรับร่างกฎหมายลูกที่ว่าประกอบด้วย ร่างสำคัญ 4 ฉบับหลักคือ 1. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวิธีการหรือลักษณะในการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2552 ซึ่งจะมีมาตรการห้ามจำหน่ายเหล้าปั่น หรือเครื่องดื่มแฝงที่มีแอลกอฮอล์ เป็นส่วนผสมต่างๆ 2. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2552 จะเป็นการจัดโซนนิ่งร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา เป็นต้น 3. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยการกำหนดสถานที่ หรือบริเวณที่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างบนยานพาหนะ เป็นต้น และ 4.ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วยฉลากข้อความคำเตือนพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้า ด้วยการติดภาพฉลากคำเตือนที่บรรจุภัณฑ์ กฎหมายที่ออกมาแล้วกว่า 2 ปี กลับไม่มีกฎหมายลูก คำถามคือเพราะเหตุใดทำให้กฎหมายเหล่านี้ยังคั่งค้างและเกิดเป็นปัญหาในเรื่องการจัดระเบียบน้ำเมาในปัจจุบัน หากพิจารณาอย่างถ้วนถี่ อาจกล่าวได้ว่า กฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับ ล้วนแล้วแต่ไปกระทบกับผลประโยชน์มหาศาลของบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และนอกจากปัญหานี้จะคั่งค้างสะสมมานานนับปีแล้ว ในปี 2553 นี้ รัฐบาลเองอาจต้องต่อสู้กับปัญหาน้ำเมาเพิ่มขึ้นอีก กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา ที่กฎเกณฑ์เรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้ามีบังคับใช้ กลไกทางด้านภาษีของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ปรับลดลงจาก 5% เหลือ 0% ทำให้มีสุราและเบียร์ราคาถูกจากประเทศอาเซียนเข้ามาตีตลาดผู้ประกอบการไทย รวมทั้งผู้ประกอบการนำเข้าจากแหล่งอื่นๆ แต่อีกด้านผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายอื่นๆ กลับไม่สามารถทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย หรือโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าได้ เพราะติดข้อกำหนด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 หลักการจ่ายภาษีแพง สำหรับผู้ผลิตสุราดีกรีสูง และการจ่ายภาษีถูกสำหรับสุราดีกรีต่ำของภาษีตามดีกรี จึงเป็นมาตรการในปัจจุบันที่รัฐออกกฎมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ!!!! ทั้งหมดนี้เป็นปัญหา ไม่ว่าปัญหาภายนอกที่ไทยต้องเผชิญกับสินค้าทะลักเข้าประเทศ โดยที่ไทยเองไม่สามารถเก็บภาษีเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ขณะที่ภายในประเทศเองแน่นอนว่าต้องเผชิญกับปัญหาการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงขึ้น ทำให้มองได้ว่าในอนาคตไทยอาจต้องเผชิญกับการตีตลาดด้วยรูปแบบการโฆษณาใหม่ๆ ที่อาจจะขัดต่อกฎหมาย แต่ผู้ประกอบการก็ยังยินยอมเสียค่าปรับเพื่อผลประโยชน์ด้านการขาย และที่สำคัญปัญหาทางสังคมที่เกิดจากสุราจะยังคงไม่หมดไปอย่างแน่นอน...... ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเด็นทั้งสอง จึงเป็นมาตรการที่ไทยต้องเร่งทำการควบคุมน้ำเมาทั้งในและต่างประเทศอย่างชัดเจนอย่างโดยเร็ว ก่อนที่การป้องกันจะสายเกินแก้!!!!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook