เครื่องเจียคอนกรีตลดใช้กำมะถัน

เครื่องเจียคอนกรีตลดใช้กำมะถัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ฝีมือวิศวกรรมศาสตร์ลาดกระบัง

ผศ.แหลมทอง เหล่าคงถาวร ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ปริมาณสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้การใช้คอนกรีตเพิ่มตามไปด้วย แต่การใช้คอนกรีตในงานก่อสร้างโดยเฉพาะงานโครงสร้างจะต้องมีการทดสอบหาปริมาณการรับแรงอัดหรือกำลังรับน้ำหนักของคอนกรีตเสียก่อน โดยนำตัวอย่างเนื้อ คอนกรีตชนิดเดียวกันที่จะนำไปเป็นโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างไปทดสอบเพื่อให้ได้มาตรฐานของ ASTM C39 แต่ผิวหน้าตัดของตัวอย่างแท่งคอนกรีตที่นำมาทดสอบมักจะไม่เรียบเสมอกัน อาจทำให้ผลการทดสอบเกิดความคลาดเคลื่อนได้

ในการทดสอบหากำลังรับน้ำหนักของคอนกรีตจึงได้มีการนำสารละลายกำมะถันมาหล่อเคลือบผิวหน้าตัดทั้งสองด้านของแท่งตัวอย่างคอนกรีตก่อนที่จะนำไปทดสอบ วิธีดังกล่าว ทำใเกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากสารละลายกำมะถัน ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของมนุษย์และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เมื่อรวมตัวกับไอน้ำจะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นกรดซัลฟิวริก เมื่อตกลงสู่พื้นดินในสภาพของฝนกรด จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งก่อสร้าง และเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะดิน น้ำ และป่าไม้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ดังนั้น ผศ.แหลมทอง เหล่าคงถาวร และคณะ ประกอบด้วย นายแอซัน ยูโซะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 และนายปวีณ เทียมราช นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. คิดค้นเครื่องเจียปลายคอนกรีตขึ้น โดยใช้ระยะเวลากว่า 2 ปี ในการศึกษาและประดิษฐ์เครื่องเจียคอนกรีตดังกล่าว นอกจากลดการใช้กำมะถันลงแล้ว ยังช่วยลดเวลาในการทดสอบหากำลังรับน้ำหนักของคอนกรีตอีกด้วย เนื่องจาก หากนำสารละลายกำมะถันมาเคลือบผิวคอนกรีตจะต้องรอนานถึง 2 ชั่วโมงเพื่อให้สารละลายกำมะถันแข็งตัวจึงจะนำคอนกรีตไปทดสอบได้ และยังมีราคาถูกกว่าเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศถึง 3-4 เท่า รวมถึงอะไหล่หาง่ายและมีราคาถูก บางชิ้นราคาเพียงหลักร้อยบาทเท่านั้น จึงทำให้การบำรุงรักษาเครื่องมีต้นทุนต่ำตามไปด้วย

ผศ.แหลมทอง กล่าวว่า ขณะนี้กำลังพัฒนาเครื่องให้สามารถเจียปลายคอนกรีต ในแนวดิ่งได้ ซึ่งจะทำให้สามารถเจียปลายตัวอย่างคอนกรีตได้ในปริมาณมากขึ้น คือ 3-6 ตัวอย่าง/ครั้ง จากเดิมทำงานในแนวนอนซึ่งสามารถดำเนินการได้เพียงครั้งละ 1 ตัวอย่างเท่านั้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.).

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook