คนไร้บ้านอ้างสิทธิค้านปิดสนามหลวง

คนไร้บ้านอ้างสิทธิค้านปิดสนามหลวง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กทม.ใช้กรงนกขนาดใหญ่จับนกพิราบกว่าหมื่นตัวเพื่อเตรียมเคลื่อนย้ายออกนอกสนามหลวงไปอนุบาลต่อราชบุรี รองฯธีระชน ย้ำ 1 ก.พ.นี้ สนามหลวงปิดปรับปรุงแน่นอน ทุกอย่างเตรียมการเป็นอย่างดี ขณะที่เครือข่ายคนไร้บ้าน ค้าน กทม.จัดระเบียบสนามหลวง 300 วัน ระบุแก้ปัญหาไม่ตรงจุด แถมเข้าข่ายละเมิดสิทธิคนไร้บ้าน-คนเร่ร่อน แนะภาครัฐวางรากฐานสังคมให้มั่นคงก่อน ติงบ้านไมตรีมีข้อจำกัดเวลาเปิด-ปิด

หลังจากที่ เดลินิวส์ ได้นำเสนอข่าว ปัญหาของสนามหลวงที่กำลังทรุดโทรม เนื่องจากขาดการดูแลและจัดระเบียบที่ดี จนทำให้เกิดปัญหานานาชนิดขึ้นทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของสนามหลวง จนกระทั่ง (กทม.) ได้กำหนดงบประมาณ 180 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการปิดปรับปรุง สนามหลวงนานกว่า 300 วัน โดยจะเริ่มปิดสนามหลวงในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มเป็นกังวลว่าช่วงที่ปิดสนามหลวง การบริหารจัดการกลุ่มคนเร่ร่อน คนค้าขาย และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อยู่รอบสนามหลวงจะมีการดำเนินการอย่างไร ล่าสุด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เตรียมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย นายสมพร หารพรม ผู้ประสานงานเครือข่ายการแก้ปัญหากลุ่มคนไร้บ้าน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวถึงกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียม ดำเนินการปิดปรับปรุงท้องสนามหลวงว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาของภาครัฐ เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะสนามหลวงเป็นพื้นที่สาธารณะมีคน ไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้มากมายทำให้เกิดความทรุดโทรม อีกทั้งปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสนามหลวงก็ไม่ได้เกิดจากคนไร้บ้าน อย่างเดียว ซึ่งการผลักดันุ่มคนดังกล่าว เชื่อว่าไม่สามารถจัดระเบียบสนามหลวงได้ ทั้งนี้ภาครัฐควรมีแนวทางในการปรับปรุงสนามหลวงให้ชัดเจนมากกว่านี้ โดยต้องไปดูว่าปัญหาเกิดจากส่วนใดและมุ่งแก้ปัญหาให้ตรงจุด ควรจะมีการวางรากฐานโครงสร้างสังคมให้มั่นคงก่อน

การที่ กทม.ออกมาจัดระเบียบสนามหลวงโดยการผลักดันกลุ่มคนไร้บ้านนั้น ถือเป็นการเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง เนื่องจากไม่มีการสอบถามความคิดเห็นหรือถามความสมัครใจจากคนไร้บ้าน แต่ยังดีที่ทางกรุงเทพฯมีนโยบายรองรับกลุ่มคนเหล่านี้ อีกทั้งยังมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯและองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อให้ความร่วมมือกันหาแนวทางรองรับคนไร้บ้าน ซึ่งขณะนี้ได้มีการเสนอพื้นที่สำหรับจัดตั้งศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับคนไร้บ้านไว้ 2 แห่ง คือ พื้นที่ตรงข้าม รพ.พระมงกุฎเกล้า และพื้นที่ย่านเจริญนคร ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แล้ว นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าวด้วยว่า ถ้ามีการจัดตั้งศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับคนไร้บ้านและคนเร่ร่อน ภาครัฐต้องเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้มีส่วนในการบริหารจัดการและร่วมวางกฎกติกาในการอยู่อาศัยร่วมกัน รวมทั้งต้องมีการฝึกอาชีพให้กับคนเหล่านี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานต่อไปในอนาคต ส่วนในกรณีที่กระทรวง พม.ได้จัดบ้านมิตรไมตรี 5 แห่งไว้รองรับคนไร้บ้านนั้นเห็นว่าบ้านมิตรไมตรียังมีข้อจำกัดสำหรับคนไร้บ้าน โดยเฉพาะในเรื่องเวลา เปิด-ปิดเพื่อเข้าพักอาศัยที่ยังเป็นระบบราชการอยู่ เพราะในความเป็นจริง ชีวิตของคนไร้บ้านและคนเร่ร่อนเหล่านี้ไม่สามารถกำหนดเวลาเข้า-ออกได้

นายธีระชน มโนมยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยความคืบหน้าการเตรียมการเคลื่อนย้ายนกพิราบตามแผนการดำเนิน งานปรับปรุงภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อมและ ปัญหาทางสังคมในพื้นที่สนามหลวง และปริมณฑลว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นเดือนแรกของการปิดพื้นที่สนามหลวงเพื่อดำเนินการปรับภูมิทัศน์ทางคณะทำงานด้านการเคลื่อนย้ายนกพิราบซึ่งมีกว่า 10,000 ตัว ในพื้นที่ท้องสนามหลวงจะนำกรงขนาดกว้าง 6x12x4 เมตร 3 กรง มาตั้งวางไว้ที่ท้องสนามหลวงตามจุดที่กำหนดไว้ โดยกรงแรกจะเป็นกรงสำหรับใช้จับนก จากนั้นจะเคลื่อนย้ายนกที่จับได้ไปยังกรงเลี้ยงดู ตามด้วยย้ายไปยังกรงกักโรค จากนั้นจะเป็นการเคลื่อนย้ายนกโดยใช้กรงเหล็กขนาด 2x4x2.25 เมตร 2 กรง นำนกพิราบไปไว้ที่กรงอนุบาลในพื้นที่กรมทหารสื่อสาร จังหวัดราชบุรี หลังจากที่ได้ใบอนุญาตเคลื่อนย้ายนกพิราบจากต้นทางไปยังปลายทางจากกรมปศุสัตว์

นายธีระชน กล่าวต่อว่า ระหว่างดำเนินการทางคณะทำงานได้จัดเจ้าหน้าที่ดูแลกรงนกตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกัน ผู้ไม่หวังดีทำลาย กีดขวางการดำเนินงาน พร้อมกับจัดเจ้าหน้าที่สายตรวจ ควบคุมการขายอาหารนก บทลงโทษ และทำความเข้าใจกับคนซื้ออาหาร ขณะเดียวกันทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สุขภาพสัตว์แห่งชาติ ตรวจหาเชื้อไข้หวัดนก และระหว่างที่รอผลตรวจโรคก็จะให้ยาถ่ายพยาธิ และให้ยาควบคุมโรคทางเดินหายใจ และทางเดินอาหารแก่นกพิราบทุกตัว.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook