การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก จาก WEF 2009 ถึง WEF 2010

การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก จาก WEF 2009 ถึง WEF 2010

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ตั้งแต่รัฐบาลไทยซึ่งนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาบริหารประเทศ แม้จะได้รับทั้งเสียงชื่นชมและเสียงวิจารณ์ต่าง ๆ นานา แต่สิ่งที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากก็คือ ความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศไทย ผ่านการประชุมระดับนานาชาติ บนเวทีการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum- WEF ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และในปี 2553 นี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มกราคม -1 กุมภาพันธ์ 2553 ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อันเป็นโอกาสที่รัฐบาลไทยจะสามารถแสดงศักยภาพและสะท้อนความคืบหน้าในการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักธุรกิจทั่วโลกได้เป็นอย่างดี ความสำเร็จของประเทศไทยจาก ดาวอส-WEF 2009 การเดินทางไปร่วมงาน World Economic Forum ครั้งที่ 39 ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 30 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2552 ของนายกรัฐมนตรีไทยที่ผ่านมา มีเป้าหมายสำคัญในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางการเมืองของไทย ซึ่งถือว่าในครั้งนั้นได้ดำเนินจบสิ้นลงไปอย่างสวยงาม โดยความสำเร็จต่าง ๆ สามารถสรุปได้ดังนี้ 1.มีโอกาสได้พบกับนายโจเซฟ สติกลิทซ์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และนักเศรษฐศาตร์รางวัลโนเบล ปี 2534 ซึ่งเขาได้กล่าวชมการดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรีบนเวที WEF 2009 และต่อมานายสติกลิทซ์ ก็ยังตอบรับคำเชิญเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลไทยโดยไม่รับค่าตัวใดๆด้วย 2.มีโอกาสได้พบกับนายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งต่อมาได้ส่งคำเชิญให้นายอภิสิทธิ์ ในฐานะประธานอาเซียน และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 20 ชาติ หรือจี 20 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2552 นับเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนจากประเทศไทยและอาเซียนได้เข้าร่วมประชุมครั้งสำคัญเช่นนี้ 3.มีโอกาสได้แสดงศักยภาพของไทยด้านการผลิตอาหารและการเกษตร รวมทั้งแนวคิดตามพระราชดำริเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีในที่ประชุม 4.มีโอกาสในการแสดงศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งต่อมากลายเป็นจุดสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย รวมทั้งมีความร่วมมือต่าง ๆ จากประเทศในแถบเอเชีย ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศอื่น ๆ ตามมา สู่ ดาวอส-WEF 2010 นายกรัฐมนตรีไทย มีภารกิจในการเข้าร่วมประชุมในเวทีเศรษฐกิจโลก WEF 2010 ซึ่งเป็นครั้งที่ 40 ระหว่างวันที่ 28 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อันเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะได้นำเสนอความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นานาประเทศโดยทั่วกัน การเน้นภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการปรับโครงสร้างเพื่อรับมือกับโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นผลจากการประชุมระดับนานาชาติในเวทีต่าง ๆ อาทิ การประชุมจี 20 การประชุมอาเซียนซัมมิท หรือแม้กระทั่งการประชุมรายย่อยที่ต่างมีความร่วมมือต่อกันเป็นอย่างดี บทบาทและโอกาสประเทศไทยจากการเข้าร่วม WEF 2010 การเข้าร่วมประชุม WEF 2009 ในปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีไทย สวมบทบาททั้งในฐานะผู้นำไทยและผู้นำอาเซียน แต่ในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไทย จะทำหน้าที่ผู้นำไทยอย่างเต็มตัวในการประชุม ซึ่งถือว่ามีความคล่องตัวสูงกว่า ที่สำคัญคือ ผู้เข้าร่วมการประชุมในเวทีดาวอสนี้ ประกอบด้วย เอกอัครราชทูต อัครราชทูตผู้แทนถาวรนครเจนีวา เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำองค์การการค้าโลก อุปทูตและกงสุลใหญ่จากภูมิภาคยุโรป และเอกอัครราชทูตประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน รวมทั้ง องค์กรเอกชนประธานมูลนิธิ สมาชิกเครือข่ายทั้งนักธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการทั่วไป นักวิชาการ ขบวนการเอ็นจีโอ สื่อมวลชน รวมถึงข้าราชการ นักการเมืองทั่วโลก ซึ่งต่างก็มีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวระดับโลก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการเดินทางเยือนสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก ครั้งที่ 40 ในครั้งนี้นั้นมีหลายต่อหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีโอกาสให้สัมภาษณ์สื่อนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น สำนักข่าวบีบีซี สำนักข่าวเอพี หนังสือพิมพ์นิวส์วีค นอกจากนี้ ยังมีโอกาสพบปะหารือกับบุคคลสำคัญต่าง ๆ ซึ่งทางสำนักข่าวแห่งชาติจะติดตามและนำเสนอรายละเอียดที่น่าสนใจต่อไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook