โรดแม็พ30ปีเมืองไทยฉบับ ''ไตรรงค์''

โรดแม็พ30ปีเมืองไทยฉบับ ''ไตรรงค์''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ฝันสร้างความมั่งคั่งให้กินดีอยู่ดี

นั่งตบยุงรอเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีมานานกว่า 3 เดือน กว่าจะได้เข้ามานั่งอย่างเต็มตัวจริง ๆ จนถึงขณะนี้ก็ย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ของการทำงานในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลงานด้านเศรษฐกิจ ของ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี โอกาสนี้ เดลินิวส์ จึงขอถ่ายทอดมุมมองของรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ต้องกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศว่าจากนี้ไปจะทำให้คนไทยอยู่ได้อย่างสบายในอนาคตได้อย่างไร?

ถาม : ท่ามกลางอายุของรัฐบาลที่อยู่ได้อีกเพียงแค่ 1 ปีเศษจะบริหารนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร?

ตอบ : สิ่งที่ผมจะทำเป็นเรื่องของแผนระยะยาวในอีก 30 ปี เพื่อให้ลูกหลานของคนไทยอยู่ได้อย่างสบายกว่าพวกเราในปัจจุบัน เพราะไม่รู้ว่าจากนี้ไปรัฐบาลจะอยู่ในอีกกี่วัน แต่ต้องการทำไว้เพื่อลูกหลานของเราจะได้อยู่ดีกินดี หรืออย่างน้อยต้องมี โรดแม็พ หรือมีทิศทางของประเทศในการเดินทางว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งเรื่องของระบบชลประทานเพื่อทำให้การเกษตรของไทยมีศักยภาพอย่างแท้จริงให้แข่งขันได้โดยมีต้นทุนที่ถูก เรื่องของระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ซึ่งไทยมีต้นทุนการขนส่งสูงมากถึง 18.5% ของรายได้ประชาชาติที่มีอยู่ 9 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องปฏิรูปการรถไฟใหม่ทั้งหมด ทั้งหมอนรถไฟ หัวรถจักร การสร้างรางคู่ เพื่อให้รถไฟไม่ต้องเสียเวลาในการสับหลีก การสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ในฝั่งอันดามันมารองรับที่แหลมบังและ มาบตาพุดที่เต็มหมดแล้ว

นอกจากนี้ต้องมีการสร้างสะพานเศรษฐกิจหรือแลนด์บริดจ์ระหว่างฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยใช้พื้นที่จากจังหวัดสตูลมาออกที่จังหวัดสงขลา เพื่อให้การขนส่งสินค้านั้นสะดวกรวดเร็วมีระยะทางที่สั้นและส่งออกไปยุโรป ไปสหรัฐ ได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญต่างประเทศต่างจับจ้องต้องการเข้ามาลงทุนโดยเราไม่ต้องใช้เงิน แต่ต้องทำให้ชัดเจน ประกาศเชิญชวนให้เขามาลงทุนให้ได้ภายใน 5 เดือนจากนี้ รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องทำไปควบคู่กันและต้องทำให้สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันให้ได้โดยทำตามกฎหมายในทุกจุด การพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา หากทำได้สำเร็จความมั่งคั่งจะเกิดกับประเทศไทยแน่นอน เพราะ ใคร ๆ ก็อยากเข้ามาลงทุนในไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพในทุกทาง แต่ไม่ได้พัฒนาให้ดี ผมจึงต้องวาดฝันและทำฝันให้เป็นจริงที่ต้องมีให้ได้ในอีก 30 ปีข้างหน้า

ถาม : แล้วต้องเริ่มจากจุดใดหรือโครงการใดก่อน รวมทั้งต้องใช้เงินมหาศาลจะนำมาจากที่ใด?

ตอบ : ทั้งหมดผมเอาโพลิซี เอานโยบายให้ชัดเจนก่อน ผมจะบอกความในใจ บอกทิศทางให้ว่าประเทศกำลังมีปัญหาต้องเร่งพัฒนา จะมาเอาตัวเลขรายละเอียดตอนนี้คงไม่ได้ เพราะเงินที่ใช้เป็นจำนวนล้านล้านบาท ต้องให้ที่ปรึกษาเขาไปศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนทั้งหมดก่อน แต่มีแผน 5 ปี 10 ปี 15 ปี ว่าจะทำอย่างไร ใช้เงินเท่าใด มาจากแหล่งใด ดำเนินการอย่างไร จะมีทั้งหคัญจะไม่เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนเพราะทั้งหมดมีความสำคัญต้องทำไปด้วยกัน ประเทศจำเป็นต้องปรับปรุงหากไม่เร่งปรับปรุงเสียแต่เดี๋ยวนี้ก็จะแย่ ที่สำคัญแต่ละเรื่องต่างมีแผนงานอยู่แล้วแต่ไม่ได้ผลักดันให้เกิดขึ้น ดังนั้นผมจะเข้ามาผลักดันให้เรื่องนี้เกิดขึ้นให้ได้

ถาม : คณะที่ปรึกษาจะตั้งเสร็จเมื่อใดและทำงานอย่างไร?

ตอบ : จะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้ ขณะนี้กำลังคัดให้เหลือน้อยที่สุดประมาณ 45 คน จากกว่า 100 คน ที่เลือกเข้ามา จากนั้นจะแบ่งเป็นกลุ่ม 6-7 กลุ่ม เพื่อให้ศึกษาตามประเภทของงานที่จะต้องทำในอนาคตดึงข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันทำเป็นเรื่อง ๆ เช่น ระบบ ชลประทานจะให้ ดร.รอยล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตร กรมชลประทาน เข้ามาช่วยดำเนินงาน เรื่องโลจิสติกส์ จะให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. กระทรวงคมนาคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เข้ามาช่วย ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรม จะขอให้ อ.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ เข้ามาช่วยว่ามีอะไรที่ต้องช่วยบ้างในช่วงขาขึ้นให้ทำเป็นเมทริกซ์ มาให้หมดในภาพรวมของประเทศ

ถาม : นโยบายระยะสั้นในช่วง 1 ปี จากนี้จะทำอะไรให้คนไทยมีเงินในกระเป๋าตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งแผนการลงทุนของรัฐบาลตามโครงการไทยเข้มแข็ง จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่?

ตอบ : ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาล ดีอยู่แล้วและเกิดผลสัมฤทธิ์ชัดเจน ที่สำคัญผมสนับสนุนมาโดยตลอดโดยเฉพาะ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 2552 หรือพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยอยู่ได้ โดยต้องมีเงินออกไปสู่ระบบเศรษฐกิจให้เร็ว ไม่ว่าจะขุดบ่อน้ำ ถนนไร้ฝุ่น ก็ต้องมีออกไปแม้ว่าจะมีการโกงกันบ้าง ก็ต้องมีแต่ต้องผลักดันให้เงินมันออกไปเพื่อฉุดเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นแล้วการลงทุนจากนี้ไปต้องนำไปลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น ถ้าจะมากู้เงินอีก 4 แสนล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา เพื่อนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจแบบที่ผ่านมาผมไม่ยอมแน่นอน แต่ต้องกู้เงินไปลงทุนเพื่อประโยชน์ในอีก 30 ปีข้างหน้า เพื่อทำให้รายได้ของประชาชาติมากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเท่านั้น มาทำเป็นเบี้ยหัวแตกอีกไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็เข้าใจความคิดของผมดี

ที่สำคัญรัฐบาลทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้หรืออย่าไปคิดว่ารัฐบาลจะสร้างอะไรขึ้นมาได้ เพราะรัฐบาลถืองบประมาณของแผ่นดินไม่ถึง 20% ของรายได้ประชาชาติ ที่เหลืออีกกว่า 80% อยู่ในมือของภาคเอกชน เศรษฐกิจจะรุ่งเรืองหรือตกต่ำขึ้นอยู่กับภาคเอกชน แต่รัฐบาลจะคอยเป็นพี่เลี้ยงดูแล ไม่ให้เอกชนมีอุปสรรค เมื่อเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดีแล้ว ผมจะมาดูว่ารัฐบาลจะส่งเสริมอะไรได้บ้าง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปดูว่าต้องแก้ไขอย่างไร เช กรณีของการเก็บภาษีรายได้นิติบุคคล ก็ให้กระทรวงการคลังไปดูให้ละเอียดและอย่าไปรีดภาษีเอกชนจนไม่มีเงินเหลือไว้รักษาบาดแผล เพราะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 53 จนถึงครึ่งปีแรกของปี 54 เอกชนยังต้องเผชิญปัญหาต้นทุนสูงจากราคาน้ำมันและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น หรือกรณีของเอสเอ็มอี ต้องดูว่ามีปัญหาเรื่องทุน เทคโนโลยี การบริหารจัดการ และการตลาดอย่างไร แล้วนำมาหาแนวทางช่วยเหลือให้ตรงจุด ซึ่งตรงนี้ผมจะเข้าไปต่อยอดให้

ถาม : นโยบายประกันรายได้ให้เกษตรกรต้องปรับปรุงหรือไม่?

ตอบ : รัฐบาลได้วางไว้ดีอยู่แล้วและเป็นนโยบายที่ดีมาก ดังนั้นจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และจะขยายไปสู่พืชเศรษฐกิจสำคัญอื่น ๆ อีก เพราะถือว่าเกษตรกรได้ประโยชน์อย่างทั่วถึงครบทุกคน ไม่ได้ตกอยู่ในมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะดูในรายละเอียดอีกครั้งเมื่อเรียกประชุมคณะกรรมการในแต่ละพืช

ถาม : ประเมินภาพเศรษฐกิจในปี 53 นี้อย่างไร?

ตอบ : เศรษฐกิจไทยเติบโตได้แน่ 3-3.5% ด้วยตัวของมันเองรวมถึงผลสำเร็จของมาตรการที่รัฐเข้าไปกระตุ้น จึงไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใหม่ออกมากระตุ้นอีกเพราะรัฐบาลได้ทำไปมากแล้ว ที่สำคัญอัตราว่างงานของคนไทยมีแค่ 1.2% หรือแค่ 4 แสนคนเท่านั้น และที่สำคัญเศรษฐกิจโลกได้ผ่านพ้น จุดต่ำสุดมาแล้วและกำลังขยับตัวแม้ว่าจะไม่น่าวางใจเพราะอัตราการส่งงานในสหรัฐและยุโรปยังมีมากถึง 10% และกำลังซื้อถดถอย ดังนั้นนักธุรกิจไทยต้องหันไปพึ่งตลาดใหม่ใน 4 ประเทศหลักคืออินเดีย, จีน, อาเซียน หรือ อาหรับแทน ที่สำคัญภาคเอกชนต้องปรับตัวเองโดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยี เพื่อสู้กับคู่แข่งในอนาคต เพราะเชื่อว่าหลังจากปี 2555 ไปแล้วเศรษฐกิจโลกจะกลับมามั่งคั่งเหมือนเดิม ขณะที่คนในกระทรวงการต่างประเทศต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทตัวเองหันมาค้าขายให้เป็นด้วย

ทั้งหมดเป็นความในใจของ ดร.ไตรรงค์ เจ้าของฉายานิรันดร์กาลว่า ดร.สามสี ที่วาดฝันไว้ แม้ว่าตัวเขาเองจะรู้อยู่เต็มอกว่าการเข้ามานั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ที่แทบไม่เหลืออะไรในมือให้ทำต่อไปอีกในช่วงเวลาที่อายุของรัฐบาลกำลังสั่นคลอน แต่ก็มุ่งมั่นที่จะทำให้ลูกหลานคนไทยมีชีวิตอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนฝันที่วาดจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ !.

มาริสา ช่อกระถิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook