อิสลามแบงก์ ตั้งเป้ากำไรสุทธิปี 53 แตะ 668 ล.

อิสลามแบงก์ ตั้งเป้ากำไรสุทธิปี 53 แตะ 668 ล.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (อิสลามแบงก์) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 2552 ฉบับก่อนสอบทาน ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 334 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2551 ที่มีกำไรเพียง 2.08 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 1,766 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2551 ที่รายได้รวม 926 ล้านบาท ขณะที่ยอดเงินฝากอยู่ที่ 41,072 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ซึ่งมีเงินฝากอยู่ที่ 20,073 ล้านบาท ทำให้ปี 2552 ธนาคารมียอดสินทรัพย์รวม 45,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มียอดสินทรัพย์อยู่ที่ 23,835 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากในปี 2552 ธนาคารได้มุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้าด้วยการทำการตลาดเชิงรุกสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพ อีกทั้งให้สาขาธนาคารทำการตลาดเต็มพื้นที่ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร พร้อมทั้งเสนอโปรแกรมบริการแบบครบวงจรรองรับความต้องการของลูกค้า สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2553 นั้น ธนาคารตั้งเป้าดำเนินธุรกิจเชิงรุก พร้อมเน้นขยายฐานลูกค้าเงินฝาก และสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ซึ่งคาดว่าภายใน 2 ปีสัดส่วนลูกค้ากลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 60% ของลูกค้าทั้งหมด เพื่อสร้างเสถียรภาพในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ขณะเดียวกันจะพัฒนาการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ขยายเครือข่ายสาขา และจุดบริหารเพื่อเพิ่มช่องทางในการขายผลิตภัณฑ์และการให้บริการ รวมทั้งเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดและรายรับด้านค่าธรรมเนียมให้มากขึ้น โดยในปี 2553 ธนาคารตั้งเป้ามีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 100,593 ล้านบาท ยอดเงินฝากอยู่ที่ 78,700 ล้านบาท มียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 88,700 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 668 ล้านบาท ขณะที่คาดว่าจะมีหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 8.1% โดยมองว่าธนาคารจะสามารถลดสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมให้ลดลงอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระดับใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ที่ประมาณ 6% ได้ภายในปี 2553 นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนการเปิดสาขาและขยายช่องทางการให้บริการจากปัจจุบันมี 28 สาขา จะเพิ่มขึ้นอีก 33 สาขา รวมทั้งเพิ่มหน่วยบริการย่อย 29 หน่วย รถให้บริการเคลื่อนที่โมบายแบงก์จำนวน 6 คันและเครื่อง ATM จำนวน 68 เครื่องเพื่อเป็นช่องทางการเพิ่มสัดส่วนลูกค้ารายย่อย นอกจากนี้ ธนาคารมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีวัตถุประสงค์ด้านสังคมทั้งหมด 12 โครงการ ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อรากหญ้า I-Bank Islamic Micro Finance โครงการสนับสนุนธุรกิจสหกรณ์อิสลาม โครงการให้การสนับสนุนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โครงการสินเชื่อซับน้ำตา โครงการสินเชื่อ I-Bnk ยิ้มสู้กู้วิกฤตภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างอาชีพ โครงการสินเชื่อรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบ โครงการสินเชื่อธนาคารชุมชน โครงการสินเชื่อเพื่อ Contract Farming โครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาเครื่องแต่งกายตลาดมุสลิม โครงการสินเชื่อต้นกล้าอาชีพและการให้บริการจัดการซะกาต และเงินบริจาค

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook