ม.อ.พัฒนาซอฟต์แวร์ติดตามดูผู้สูงอายุ

ม.อ.พัฒนาซอฟต์แวร์ติดตามดูผู้สูงอายุ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ตรวจจับการเคลื่อนไหวลดภาระการดูแล

ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว เนื่องจากโครงสร้างของประชากรมีการเปลี่ยนแปลง โดยอัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประชากรที่อายุเกิน 60 ปี ขึ้นไป เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง

มีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ว่าในปี พ.ศ. 2565 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า ประชากรผู้สูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 12,866,000 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด และเมื่อถึงปี พ.ศ. 2568 จำนวนประชากร ผู้สูงอายุของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 14,452,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด การที่ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นในสังคม บุตรหลานและคนในครอบครัวจำเป็นต้องให้เวลาในการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ส่งผลให้เกิดการพึ่งพาของคนสูงอายุในสังคมเพิ่มมากขึ้น

สถานวิจัยวิศวกรรมฟื้นฟู คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ได้คิดค้นนวัตกรรมการดูแลผู้สูง อายุขึ้น โดยพัฒนาโปรแกรมเพื่อการจัดการข้อมูลภาพจากกล้องวิดีโอวงจรปิด เรียกดูภาพจากอินเทอร์เน็ตได้ตลอด 24 ชั่วโมง และย้อนดูภาพจากกล้องแต่ละตัว ที่ติด ตั้งไว้ หรือดูพร้อมกันทุกมุมได้ เพื่อตรวจจับการหกล้ม เพื่อสะดวกต่อบุตรหลานที่สามารถดูได้จากที่ทำงาน หรือแพทย์ดูภาพจากโรงพยาบาล เพื่อติดตามกิจวัตรประจำวันและความผิดปกติที่เกิดขึ้นของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยได้

โปรแกรมระบบประมวลภาพและวิเคราะห์ภาพเคลื่อนไหวเพื่อใช้ในการดูแล ผู้สูงอายุ เป็นผลงานการวิจัยของ ดร.นิคม สุวรรณวร ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถานวิจัยวิศวกรรมฟื้นฟู คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย ผศ.ดร.พรชัย พฤกษ์ ภัทรานนท์ ผศ.ดร.ขนิษฐา นาคะ และผศ.ดร.เนตรนภา คู่พันธ์ทวี โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์เทคโนโลยีและคอมพิว เตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค

ดร.นิคม กล่าวว่า ปัจจุบัน ผู้สูงอายุ ร้อยละ 89 สามารถทำกิจวัตรประจำวันเองได้ แต่มีผู้สูงอายุ ร้อยละ 11.5 ที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ ภาระเป็นของบุตรหรือคู่สมรส ซึ่งพบว่าภรรยาต้องดูแลสามีที่เป็นผู้สูงอายุชาย ร้อยละ 53.2 ในขณะที่สามีต้องดูแลภรรยาที่เป็นผู้สูงอายุหญิง ร้อยละ 11.5 ปัญหาหลักคือการหกล้มหรือหมดสติ การหามาตรการเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมสูงอายุในประเทศไทย จึงมีความจำเป็น

โดยทั่วไปการดูแลผู้ป่วยจะใช้เซ็นเซอร์ประกอบกับวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และนำติดตัวผู้สูงอายุอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่สะดวกสำหรับผู้สูงอายุ ทางทีมวิจัยจึงได้ นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิชั่น (computer vision) และกล้องวงจรปิด มาประยุกต์ใช้ เนื่องจากปัจจุบันกล้องวงจรปิดแพร่หลายและมีราคาที่ถูกลง โดยพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการจัดการข้อมูลภาพจากกล้องวิดีโอวงจรปิด เพื่อให้สามารถเรียกใช้งานดูภาพและวิเคราะห์ผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กราฟสีแดงขึ้นสูงแสดงว่าผู้สูงอายุมีกิจกรรมการเคลื่อนไหว หรืออาจจะนอนไม่หลับ โดยติดตั้งระบบควบคุม พร้อมกล้องวิดีโอจำนวน 10 ชุด ในจุดต่าง ๆ ของสถานสงเคราะห์คนชรา ตรวจจับเหตุการณ์การหกล้ม โดยที่ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิต ประจำวันได้โดยอิสระ

นอกจากนี้ ระบบยังได้ถูกออกแบบและพัฒนาให้สามารถเฝ้าระวังทางไกลเพื่อสะดวกต่อการใช้งาน โดยสามารถจะดูได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จึงสะดวกต่อบุตรหลาน ที่สามารถตรวจดูและเฝ้าสังเกต การณ์ได้จากที่ทำงาน หรือเมื่อมีภารกิจไป ต่างจังหวัด ผู้ดูแลสามารถเรียกดูภาพจากอินเทอร์เน็ตได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงสามารถย้อนดูภาพจากกล้องแต่ละตัวที่ติดตั้งไว้ทุกมุมได้อย่างชัดเจนในเวลาเดียวกัน

ผศ.ดร.ขนิษฐา ผู้ร่วมศึกษาวิจัย กล่าวว่า ระบบดังกล่าวมีประโยชน์ต่อการช่วยเหลือคนชราที่ไม่มีญาติ และไม่มีผู้ดูแล เมื่อเกิดเหตุเมื่อไหร่ สามารถให้การช่วยเหลือที่รวดเร็วขึ้น ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น เช่น ทางสมอง ที่ต้องการเวลาที่รวดเร็วมาก รวมทั้งจะได้ศึกษาจุดที่อาจเป็นเหตุให้ผู้สูงอายุหกล้ม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกับคนชราคนอื่นอีก ไม่ว่าจะเป็นจุดในบ้านพัก หรือสถานสงเคราะห์คนชรา

ด้านนางวันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการโครงการของเนคเทค กล่าวว่า การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยของงานวิจัยนี้จะช่วยลดภาระในการที่ต้องเข้าไปดูแลผู้ป่วยทุกชั่วโมง โดยเฉพาะเมื่อผู้ดูแลไม่พอเพียง ถ้าเราเห็นการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น ก็จะ ได้ประสานเบื้องต้นหรือตามแพทย์ได้ทันท่วงที รวมทั้งให้ความสะดวกกับแพทย์ผู้ดูแล ไม่ว่าจะอยู่ที่โรงพยาบาลหรือคลินิก ก็ติดตามดูแลผู้ป่วยได้

ทั้งนี้ทีมวิจัยได้มีการนำระบบที่ได้วิจัยขึ้นไปทดลองใช้แล้วที่สถานสงเคราะห์คนชราอนาถาหาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งมีผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งในความดูแลจำนวน 55 คน มีอายุเฉลี่ย 70 ปี ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 5 คน โดยมีผู้ดูแลเพียง 5 คน ซึ่งเป็นภาระหนักและคนดูแลไม่พอเพียง โปรแกรมนี้จึงสามารถช่วยลดภาระในการเฝ้าระวังและติดตามดูแลผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook