ผู้ตรวจการรับเจ้าภาพฝ่าจีที 200 ยุติสับสน

ผู้ตรวจการรับเจ้าภาพฝ่าจีที 200 ยุติสับสน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้ตรวจการแผ่นดินออกหน้าเป็นเจ้าภาพพิสูจน์จีที 200ยุติความสับสนสังคม หลังถกเถียงกันหนักถึงประสิทธิภาพการทำงาน เตรียมเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลหารือ 5 ก.พ.นี้ ยืนยันมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปัดไม่ได้มุ่งจับผิด แต่ต้องการเยียวยาพิสูจน์ ข้อเคลือบแคลง สงสัย ขณะที่ นายกฯ อภิสิทธิ์ เปิดทางพิสูจน์ แบะท่าพร้อมยกเลิกหากห่วยจริง

ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 1 ก.พ. พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายปราโมทย์ โชติมงคล กับนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกัน แถลงข่าวการตรวจสอบเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพในการทำงานอยู่ในขณะนี้ โดย พล.อ.ธีรเดช กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวแพร่กระจายมาก แต่ขาดความชัดเจนและ สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ใช้เครื่องมือ ประชาชน และนักวิชาการก็ออกมาให้ความเห็นที่ขัดแย้ง และเกิดความสับสน ดังนั้นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงอยากเป็นคนกลางในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำข้อสงสัยให้กระจ่าง รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะที่ นายปราโมทย์ กล่าวว่า ตามปกติผู้ตรวจการแผ่นดินจะตรวจสอบเรื่องใดต้องมีผู้ร้อง แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ให้อำนาจในการหยิบยกขึ้นมาพิจารณา โดยระบุว่า หากเห็นว่าเรื่องใดเกิดขึ้นต่อสาธารณะ และมีผลกระทบต่อประชาชน และเพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้แม้จะไม่มีผู้ร้อง ซึ่งที่ประชุม ก็เห็นพ้องว่ามีผลกระทบ จึงหยิบยกขึ้นมาตรวจสอบ โดยในวันที่ 5 ก.พ.นี้ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ข้อมูลและหารือเบื้องต้น ว่าจะขจัดความสงสัยเรื่องดังกล่าวได้อย่างไร โดยอาจจะหาหน่วยงานที่เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับมาเป็นผู้ ตรวจสอบ ทั้งนี้ไม่ได้มุ่งจับผิดหรือเล่นงานใคร แต่จะมุ่งเยียวยามาา และคาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบไม่นาน

ผู้สื่อข่าวถามว่าหน่วยงานของรัฐจะให้ความร่วมมือหรือไม่ นายปราโมทย์ กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจที่จะขอให้หน่วยงานอื่น ๆ ให้ความร่วมมือในการส่ง เอกสาร หากไม่มาก็จะมีโทษตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาไม่เคยถึงขั้นดำเนินคดี เพราะได้รับความร่วมมือมาโดยตลอด และเชื่อว่าการตรวจสอบครั้งนี้จะไม่เป็นการซ้ำซ้อนกับคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะทำให้ชัดเจน และสามารถใช้กฎหมายบังคับหน่วยงานให้ ความร่วมมือได้ ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิ การไม่มีอำนาจ แต่หากจะให้ไปร่วมมือกับคณะกรรมาธิการ ก็ไม่มีปัญหา และหากตรวจสอบเบื้องต้นพบความน่าสงสัย ก็อาจจะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ชะลอการจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวไว้ก่อน

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายก รัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 2 ก.พ.นี้ จะสอบถามเรื่องเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 จากทุกหน่วยงานที่มี อุปกรณ์ดังกล่าว เพื่อหาแนวทางพิสูจน์ข้อเท็จจริง และกำหนดแนวทางที่เหมาะสมต่อไป ตนมองว่าควรมีการพิสูจน์ เพราะขณะนี้ต่างประเทศก็มีท่าทีชัดเจน หากพิสูจน์แล้ว พบว่าใช้ไม่ได้ ก็ต้องไม่ใช้ ส่วนจะให้หน่วยงานไหนเข้ามาทำหน้าที่พิสูจน์นั้น ต้องปรึกษาหารือกัน สำหรับราคาที่แตกต่างนั้น สอบถาม ทราบว่าในการจัดซื้อต่างปี ต่างรุ่น ต่างวัตถุประสงค์ในการใช้ แต่ถ้าพบเรื่องความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อก็ต้องจัดการ แต่เห็นว่าเรื่อง นี้ไม่มีเรื่องการเมือง เพราะซื้อกันต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 อย่างไรก็ดี ทราบว่าขณะนี้ประเทศอังกฤษได้ดำเนินคดีกับบริษัทที่ขาย จีที 200 อยู่

ส่วนที่กระทรวงมหาดไทย วันเดียวกัน นายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ รองอธิบดี กรมการปกครอง แถลงข่าวผลการตรวจจับยาเสพติดตามนโยบายคลีน แอนด์ ซีล ของ กระทรวงมหาดไทย โดยใช้เครื่องมือตรวจจับยาเสพติดอัลฟ่า 6 ซึ่งเป็นเครื่องจับ ยาเสพติดแบบมือถือว่า เครื่องมือดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ระบุสสารที่ผลในอังกฤษ ใช้ ซิมการ์ดกำหนดประเภทของสสารที่ต้องการหา ตรวจสอบทะลุผนังกำแพงได้ระยะทางถึง 200 เมตร ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการคลีน แอนด์ ซีล สถิติการจับกุมเฉพาะในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา พบหลายพื้นที่ เครื่องมือชิ้นนี้จึงเสริมสร้างความมั่นใจให้ผู้ปฏิบัติงานได้มาก ขึ้น ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2551 ได้จัดซื้อไปทั้งสิ้น 22 เครื่อง และได้จัดซื้อเพิ่มอีก 479 เครื่อง ในปีงบประมาณ 2552 จากความต้องการทั้งหมด 726 เครื่อง

ส่วนข้อสงสัยเรื่องราคามองว่าสูงเกินไป เมื่อเทียบกับที่คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จัด ซื้อเครื่องมือนี้ได้ในราคา 4 แสนบาท แต่ กระทรวงมหาดไทยซื้อในราคา 7.2 แสนบาทนั้น นายกองเอกวิลาศ กล่าวว่า ตัวเครื่องมีราคาเท่ากัน ประมาณ 1.2 แสนบาท แต่ต่างกันที่ราคาซิมการ์ด ซึ่งกระทรวงมหาด ไทยจัดซื้อซิมการ์ดสำหรับตรวจจับยา 3 ชนิด คือยาบ้า เมทแอมเฟตามีนหรือยาไอซ์ และเฮโรอีน ซึ่งซิมการ์ดสำหรับยาแต่ละชนิด ตกชิ้นละ 2 แสนบาท ส่วนข้อสังเกตว่าจะมีปัญหาคล้ายกับเครื่องจีที 200 ของ ฝ่ายทหารหรือไม่นั้น ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างตรวจสอบความถูกต้องแล้ว พบเป็นเทคโนโลยีใหม่หลายคนยังไม่รู้จัก และไม่ขัดข้องหากจะขอเครื่องไปผ่าพิสูจน์ ยืนยันว่าเครื่องมือนี้ทำให้การจับยาเสพติดง่ายขึ้น

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่กรมการปกครองได้สาธิตการใช้เครื่องอัลฟ่า 6 ตรวจจับยาเสพติดให้สื่อมวลชนดูในห้องแถลงข่าว แต่ปรากฏว่าต้องทดสอบอยู่หลายครั้งเครื่องจึงจะทำงาน โดยเจ้าหน้า ที่อธิบายว่า เป็นเพราะการทดสอบอยู่ในรัศมีพื้นที่แคบ จึงได้ผลไม่ดีเท่าที่เคยใช้ปฏิบัติจริง ๆ.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook