เก็บตกดาวอส 2010 : แม้มีปัญหามาบตาพุดก็ไม่หวั่น..เมื่อนักลงทุนเชื่อมั่นประเทศไทย

เก็บตกดาวอส 2010 : แม้มีปัญหามาบตาพุดก็ไม่หวั่น..เมื่อนักลงทุนเชื่อมั่นประเทศไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ตลอดหลายเดือนมานี้พิษมาบตาพุดส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนไปไม่น้อย โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติอย่างญี่ปุ่น โจทย์แรกที่รัฐบาลไทยในฐานะผู้บริหารประเทศต้องเร่งดำเนินการก็คือ การเร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน เพื่อดึงดูดนักลงทุนรายใหม่และรักษานักลงทุนรายเดิมไว้ให้ได้ การเข้าร่วมประชุมใหญ่ระดับโลกอย่างการประชุมเศรษฐกิจโลกครั้งที่ 40 หรือการประชุมดาวอส 2010 ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่นายกรัฐมนตรีได้พบปะ หารือ รวมทั้งชี้แจงรายละเอียดที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนด้วย คำยืนยันจากนายกรัฐมนตรี หลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจการเข้าร่วมประชุมเศรษฐกิจโลกครั้งที่ 40 ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมกับความสำเร็จในการสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทย โดยกล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 มกราคม 53 ผ่านระบบ Tele Presence ส่งตรงจากเมืองดาวอสว่า การได้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ทำให้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับนักธุรกิจระดับแนวหน้าที่ร่วมการประชุม โดยในช่วงที่มีการจัดเวลาสำหรับประเทศไทยให้มีการพบปะกับนักธุรกิจโดยเฉพาะนั้น มีทั้งนักลงทุนที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอยู่แล้วและนักลงทุนที่กำลังให้ความสนใจและตั้งใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเข้าร่วมพบปะ โดยมาจากหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมการเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้รับคำยืนยันจากผู้ร่วมประชุมว่ายังสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หรือแม้กระทั่งขยายการลงทุนเพิ่มเติม แม้จะยังคงมีปัญหาอยู่บ้าง ความสนใจของนักลงทุนที่ยืนยันว่ายังมีความสนใจประเทศไทยอยู่นั้น เป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่าการทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยของรัฐบาลสัมฤทธิ์ผลไม่น้อย ในขณะเดียวกัน แม้จะไม่ได้ย้ำกับประเทศไทยโดยตรง แต่นักลงทุนต่างชาติจะยังคงตั้งความหวังว่ารัฐบาลไทยจะสามารถแก้ไขปัญหามาบตาพุดให้เรียบร้อยโดยเร็ว ความเชื่อมั่นประเทศไทยเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ความเชื่อมั่นประเทศไทยในสายตาของนานาชาติ โดยเฉพาะในยุคของรัฐบาลปัจจุบันนี้หายวูบไปอย่างยับเยินตั้งแต่ครั้งที่เกิดเหตุความวุ่นวายระหว่างการจัดประชุมอาเซียน ณ เมืองพัทยา ในวันที่ 11 เมษายน 2552 ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อการจัดการปัญหาภายในหดหายไป รวมทั้งความมั่นใจในความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาพักผ่อน หรือแม้กระทั่งนักลงทุนที่ต่างรั้งรอและลดความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย การดำเนินการแก้ไขปัญหา และฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศอย่างเดียวไม่อาจก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดได้ การได้มีโอกาสชี้แจง ทำความเข้าใจ รวมทั้งตอบข้อสงสัยแก่ผู้เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึงผ่านทั้งสื่อมวลชนนานาชาติและที่ประชุมระดับโลกอย่าง World Economic Forum กลายเป็นโอกาสอีกครั้งให้ประเทศได้ไทยได้เน้นย้ำ รายงานข้อเท็จจริง รวมทั้งสร้างแรงจูงใจและความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนด้วย สารที่สื่อสู่นานาชาติ โอกาสการส่งสารจากนายกรัฐมนตรีสู่นานาชาติ เป็นช่องทางสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อประเทศไทย โดยระหว่างการประชุมที่ดาวอส นายกรัฐมนตรีมีโอกาสส่งสารสำคัญในหลาย ๆ ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ 1. การแสดงจุดแข็งทางเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะด้านการเกษตร การท่องเที่ยว รวมทั้งโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอกย้ำศักยภาพความเป็นผู้ผลิตอาหารของโลก 2. การแสดงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เป็นไปในทิศทางบวก ประกอบกับนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่จะดำเนินการ ในขณะที่มีการยอมรับเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของปัญหาที่เกิดขึ้นภายใน และชี้แจงทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่แท้จริง แทนที่จะปล่อยให้นานาชาติทำความเข้าใจผ่านสื่อที่อาจไม่มีข้อมูลเชิงลึกเพียงพอ 3. การนำเสนอนโยบายหลัก 2 ประการในการสนับสนุนศักยภาพความเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก ได้แก่ 1) โครงการไทยเข้มแข็ง ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนกับเกษตรกร ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาด้านอื่น ๆ ของเกษตรกร เช่น ปัญหาหนี้สิน และที่ทำกิน 2) การปรับเปลี่ยนโครงการแทรกแซงพืชผลทางการเกษตร โดยเปลี่ยนจากระบบจำนำมาเป็นระบบประกันราคา ซึ่งในประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นที่สื่อนานาชาติให้ความสนใจตั้งแต่ริเริ่มนำมาใช้ 4. การตอบคำถามเกี่ยวกับความเป็นห่วงของนานาชาติและเน้นย้ำว่าประเทศไทยสามารถเดินไปข้างหน้าได้ หลังจากที่มีความกังวลว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล ซึ่งจะฉุดภาพลักษณ์ความมีเสถียรภาพของรัฐบาลลงไป ดังนั้นการกลับมาเข้าร่วมการประชุมอีกครั้งของนายกรัฐมนตรี ทำให้สร้างความมั่นใจต่อนานาประเทศได้ว่าประเทศไทยจะมีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งจะเอื้อให้เกิดประโยชน์ด้านการลงทุนภายในประเทศต่อไป การสร้างความเชื่อมั่นและสร้างภาพลักษณ์ที่ดี หลังจากที่เกิดความเสียหายครั้งใหญ่มาแล้วนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ความพยายามของไทยมาตลอดทั้งกว่า 1 ปีที่ผ่านมา เริ่มค่อย ๆ สัมฤทธิ์ผล โดยเฉพาะในด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่ถึงแม้จะรับรู้ปัญหาเกี่ยวกับมาบตาพุดในประเทศไทย แต่ยังคงมีความสนมใจที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นกำลังใจที่สำคัญสำหรับรัฐบาลในการเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไป และที่น่าดีใจสำหรับประชาชนชาวไทยก็คือ รัฐบาลเองก็พยายามรับมือกับปัญหาดังกล่าวอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในปัญหาเกี่ยวกับมาบตาพุด ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนเท่านั้น แต่กลับใส่ใจต่อผลประทบของประชาชน จนอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ปัญหาไปบ้าง ประชาชนไทยย่อมมีความสำคัญที่สุดต่อประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยก็ต้องอาศัยความเชื่อมั่นของนักลงทุนเพื่อความอยู่ดีกินดีของพี่น้องประชาชนด้วยเช่นกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook