3G ''ปัญหาโรมมิ่ง'' จุดไฟไล่ลูกค้า 3จี

3G ''ปัญหาโรมมิ่ง'' จุดไฟไล่ลูกค้า 3จี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ก่อนเปิดตัวบริการ ทีโอที 3จี ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ประชาชนที่รอ 3จี ก็ลุ้นว่าจะได้ใช้งานในวันที่ 3 ธ.ค. 52 ตามที่ทีโอทีประกาศไว้หรือไม่

ผ่านมา 2 เดือนกว่า ประชาชนที่เฝ้ารอการมาของ 3จี ซึ่งใช้ได้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ก็ตัดสินใจเป็นสาวก 3จี แล้ว 1.7 หมื่นราย

ส่วนใหญ่มุ่งนำไปใช้งานเพื่อรับ-ส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเพราะให้ความเร็วในการเชื่อมต่อที่ 7.2 เมกะบิตต่อวินาที ขณะที่บางจุดสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ด้วยความเร็ว 14.4 เมกะบิตต่อวินาที แต่การใช้งานด้านเสียงสำหรับโทรฯออกก็ยังมี และกรณีปัญหาการเชื่อมโยงโครงข่ายของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กับทีโอที ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจโดดเข้าใช้งาน 3จีของประชาชนอยู่ไม่น้อย

ปัญหาดังกล่าว เกิดจากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้ทำหนังสือสอบถามคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่องที่ เอไอเอส ขอเชื่อมต่อโครงข่าย (โรมมิ่ง) เพื่อให้ลูกค้า เอไอเอสใช้บริการรับ-ส่งข้อมูล (ดาต้า) ผ่านโครงข่ายทีโอที 3จี ว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่

โดยก่อนหน้านี้ นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร เอไอเอส ประกาศในงานแสดงวิสัยทัศน์ด้านการตลาดของบริษัทเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ลูกค้าที่ใช้บริการ 3จี บนคลื่นความถี่เดิมของเอไอเอสสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายกับทีโอที 3จี เพื่อรับ-ส่งข้อมูลได้ แต่หลังจากที่ประชุมบอร์ดทีโอทีมีมติออกมา ท่าทีของเอไอเอสก็ชัดเจนว่าจะหุดการโรมมิ่งด้านเสียงของผู้ใช้บริการทีโอที 3จี ที่เชื่อมโครงข่ายกับเอไอเอสภายใน 7 วันหลังจากส่งหนังสือถึงทีโอทีในวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

นายวิเชียร กล่าวว่า การโรมมิ่ง (การเชื่อมต่อโครงข่าย) ระหว่างเอไอเอส และทีโอที เป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายกันด้วยวิธีต่างตอบแทน ซึ่งเป็นการเตรียมโครงข่ายไว้รองรับการใช้งานของอีกฝ่ายที่เชื่อมโครงข่ายด้วย เป็นสัญญาที่ทำร่วมกันตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 สมัยที่ทีโอที ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์ (กิจการร่วมค้าไทยโมบาย) โดยเอไอเอสให้ทีโอทีโรมมิ่งเพื่อให้บริการด้านเสียง ในขณะที่วันนี้เอไอเอสขอโรมมิ่งทีโอทีในส่วนของการใช้งานด้านข้อมูล (ดาต้า) สำหรับรองรับลูกค้าเอไอเอส 5 หมื่นเลขหมาย ซึ่งทีโอทีไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ แต่ขอส่งเรื่องให้ กทช. ตีความว่าสามารถโรมมิ่งกันได้หรือไม่ ดังนั้น หาก กทช.ตีความออกมาว่าไม่สามารถโรมมิ่งได้ เอไอเอสจะส่งหนังสือขอหยุดให้บริการโรมมิ่งด้านเสียงกับทีโอที 3จี ภายใน7 วัน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ด้านนายวิเชียร นาค สีนวล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทีโอที กล่าวว่า ปัจจุบันทีโอที 3จีมีลูกค้าที่ใช้บริการประมาณ 1.7 หมื่นราย หากเอไอเอส หยุดบริการโรมมิ่งด้านเสียงกับทีโอที จะส่งผลกระทบกับลูกค้าที่ใช้บริการทีโอที 3จีอย่างแน่นอน เพราะจะใช้บริการด้านเสียงโทรฯ หาได้เฉพาะในบริเวณที่มีโครงข่ายทีโอที 3จี ส่วนเอกชนผู้เช่าใช้โครงข่าย (เอ็มวีเอ็นโอ) ทั้ง 5 รายยังไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่เอไอเอสจะหยุดโรมมิ่งบริการด้านเสียง เนื่องจากเห็นว่าลูกค้าทีโอที 3จี เน้นใช้บริการด้านรับ-ส่งข้อมูลมากกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทีโอทีอยู่ระหว่างหาทางออกของปัญหาดังกล่าว

นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการ กทช. กล่าวว่า สำนักงาน กทช.ได้รับหนังสือจากทีโอทีแล้วคาดว่าจะสามารถนำเรื่องดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ กทช.ได้ภายในสัปดาห์นี้ และขณะนี้ กทช. มีความคิดเห็นที่จะแบ่งออกเป็น 2 ความเห็นด้วยกัน คือ การโรมมิ่งไม่สามารถทำได้เนื่องจากกระบวนการตามกฎหมายอาจจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมการงาน เพราะคำว่าการโรมมิ่งเป็นความหมายที่กว้างมากซึ่งจะต้องมาดูในรายละเอียดว่า เอไอเอสขอโรมมิ่งและให้บริการในลักษณะใด และการโรมมิ่งสามารถทำได้เนื่องจากเป็นการเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารให้มากขึ้น ซึ่งมีข้อจำกัด และไม่สามารถให้โรมมิ่งได้ จะเป็นการปิดกั้นทำให้โอกาสในการเข้าถึงของประชาชนก็จะเสียไป นายประเสริฐ กล่าว

สำหรับบทสรุปของปัญหาที่เกิดขึ้น ยังต้องรอการตีความของ กทช.ว่าในที่สุดแล้วเอไอเอส-ทีโอที สามารถโรมมิ่งกันได้หรือไม่

ลูกค้า ทีโอที 3จี จะใช้งานบริการด้านเสียงและข้อมูลได้ครบไหม

จะติดตามมารายงานให้ทราบต่อไป.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook