กี่ แซ่ม้า เกษตรกร ผู้ฝ่าวิกฤตเป็นโอกาส หนึ่งในความภูมิใจของ เลย์

กี่ แซ่ม้า เกษตรกร ผู้ฝ่าวิกฤตเป็นโอกาส หนึ่งในความภูมิใจของ เลย์

กี่ แซ่ม้า เกษตรกร ผู้ฝ่าวิกฤตเป็นโอกาส หนึ่งในความภูมิใจของ เลย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กี่ แซ่ม้า เกษตรกรชาวไทยเชื้อสายม้งผู้ฝ่าวิกฤตเป็นโอกาส สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หนึ่งในความภูมิใจของ เลย์ กับโครงการเติมความสุขให้เกษตรกร ด้วยแนวคิด มีความรู้...ชีวิตก็ดีขึ้น

แม้จะเป็นช่วงฤดูหนาว แต่แสงแดดที่แผดไปทั่วบริเวณไร่มันฝรั่งตอน 8 โมงเช้า ก็ยังแรงกล้าเผาผิวกายจนรู้สึกได้ถึงความร้อนระอุภายใต้ผิวเนื้อ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้สร้างความสะทกสะท้านให้กับ กี่ แซ่ม้า เกษตรกรชาวไทยเชื้อสายม้งวัย 45 ปี ที่กำลังเดินอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ตรวจตราดูแลไร่มันฝรั่ง ซึ่งเขามีอยู่จำนวน 60 ไร่ ที่ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ไร่เหล่านี้เกิดจากการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมเกษตรกรกับ มันฝรั่งเลย์ ที่เข้ามาให้ความรู้กับเกษตรกรเรื่องการปลูกมันฝรั่ง และผลจากการที่เขาและครอบครัวช่วยกันลงน้ำพักน้ำแรงอย่างเต็มที่ ทำให้ไร่มันฝรั่งกลายเป็นขุมทรัพย์ที่พลิกชีวิตที่เคยยากลำบากในอดีต ให้กลับมาฟื้นและลืมตาอ้าปากได้ในปัจจุบัน

แต่เดิม กี่ และชาวม้งอีกหลายครัวเรือน อาศัยอยู่ในบริเวณป่าห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร และทำไร่เลื่อนลอยเลี้ยงชีพมาเป็นเวลานาน แต่ต่อมาทางการเกรงว่าหากปล่อยให้มีการอยู่อาศัยและขยายพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอยออกไปเรื่อยๆ จะเป็นการบุกรุกทำลายป่าและธรรมชาติเพิ่มขึ้น จึงอพยพกลุ่มคนจากตรงนี้มาตั้งหลักปักฐาน ที่ อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งเคยเป็นป่าเสื่อมโทรม แต่มีการพลิกฟื้นจนเป็นพื้นที่ทำการเกษตรได้อย่างดี โดยตั้งหมู่บ้านให้อยู่ พร้อมจัดสรรที่ดินทำกินให้คนละ 20 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ทำไร่ 15 ไร่ ทำสวน 5 ไร่ ห้ามซื้อขาย หรือเป็นเจ้าของโดยสิทธิ์ขาด

กี่ เล่าให้ฟังถึงชีวิตแต่หนหลังว่า ก่อนที่จะมาเป็นชาวไร่มันฝรั่งนั้น เคยทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มานานนับสิบปี แรกๆ ปลูกจำนวน 30 ไร่ เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิตที่ได้มาไม่คุ้มกับความเหนื่อยยากที่ลงทุนไป แต่ตอนนั้นเขามองแค่ว่า หากเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้นอาจได้ผลผลิตและรายได้เพิ่มขึ้น จึงขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเป็น 100 ไร่ แต่ก็ยังเจอกับปัญหาเดิมๆ

"เราปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้แค่ปีละครั้ง เมื่อได้ผลผลิตออกมาก็มีราคาไม่แน่นอน เพราะไม่มีการรับประกันราคาให้กับเกษตรกร บางปีก็ดี บางปีก็ไม่ดี หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือกำไรแค่ 2-3 พันบาทต่อไร่เท่านั้น ถึงมีพื้นที่ปลูกเยอะไม่คุ้มกับค่าเหนื่อยที่ลงทุนลงแรงไป รายได้ไม่ค่อยเพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัวผมมีภรรยา และลูกอีก 3 คน ที่ต้องดูแล ลูกๆ ก็ยังเรียนหนังสือ ตอนนั้นชีวิตก็ค่อนข้างลำบาก พยายามมองหาพืชไร่อื่นๆ มาปลูกทดแทนบ้าง ก็ยังไม่ค่อยดีขึ้น"

แสงแดดยังคงทำหน้าที่สาดแสงอย่างแข็งขัน แม้เวลาจะผ่านไปกว่าชั่วโมงแล้ว เช่นเดียวกับ กี่ ที่ยังคงก้มๆ เงยๆ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอยู่กับต้นมันฝรั่งที่ปลูกเรียงกันเป็นแนวสวยงามเป็นระเบียบคอยสังเกตดูต้นและใบอันเขียวชอุ่มว่ามีอาการผิดปกติหรือติดโรคอะไรบ้างหรือไม่ ถึงกระนั้นก็ยังคงเล่าเรื่องราวของตนเองให้ฟังต่อได้อย่างไม่มีสะดุดว่า หลังจากที่พบความลำบากมานาน วันหนึ่งชีวิตของเขาก็เริ่มเดินหน้าไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อมารู้จักและได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกมันฝรั่งของ เลย์

"สิบกว่าปีที่ผมเหน็ดเหนื่อยกับการทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ชีวิตก็ยังค่อนข้างลำบากอยู่ ไม่รู้จะหันไปทำอะไรดี อีกทั้งความรู้เราก็ไม่ค่อยมี จนกระทั่งผมมีโอกาสได้คุยกับเพื่อนๆ หลายคนที่ได้เข้าร่วมโครงการปลูกมันฝรั่งกับ เลย์ แต่ก่อนพวกเขาก็ทำไร่เหมือนผม คือ ปลูกข้าวโพด ปลูกพืชไร่อื่นๆ บ้าง เช่น หอม กระเทียม แต่ก็รายได้ไม่ค่อยดี เมื่อเลย์เข้ามาชวนให้ลองปลูกมันฝรั่ง โดยให้คำแนะนำและความรู้ทุกขั้นตอน ปรากฏว่าได้ผลผลิตดี มีรายได้ดีกว่าการทำไร่แบบเดิม เพราะเลย์มีการรับประกันราคารับซื้อที่แน่นอน ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาตลาด ผมจึงตัดสินใจลองมาทำบ้าง"

หลังจากเดินสำรวจต้นมันฝรั่งหมดไปหลายแปลง กี่ ก็เดินมาหลบร้อนในที่ร่ม พร้อมรับขวดน้ำดื่มเย็นชื่นใจจากมือของ กล้า ภรรยาวัยเดียวกัน ซึ่งออกมาช่วยงานที่ไร่ โดยมีลูกชายคนเล็ก "ม่งเซ่ง" หรือ เมธาสิทธ์ วัย 11 ปี อาสามาช่วยพ่อกับแม่ทำงานด้วย เมื่อความเย็นสดชื่นไหลผ่านพ้นลำคอไปแล้ว เขาก็เล่าต่อถึงอดีตที่ผ่านมาว่า ทางเจ้าหน้าที่ของเลย์ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องต่างๆ เช่น การเตรียมหัวพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ส่วนเกษตรกรต้องมีพื้นที่ของตนเอง และต้องมีการลงทุนในเรื่องของการเตรียมพื้นที่ แรงงานในการจัดการดูแลรักษา แรงงานในการเก็บเกี่ยว คิดเป็นเงินประมาณหมื่นกว่าบาทต่อไร่
"ก่อนหน้านี้ผมไม่มีความรู้เรื่องการปลูกมันฝรั่งมาก่อนเลย เท่ากับเริ่มเรียนรู้จากศูนย์ ดีที่มีเจ้าหน้าที่ของเลย์มาคอยดูแลตลอด เดือนหนึ่งมา 3-4 ครั้ง เวลามีปัญหาอะไรเราก็ปรึกษาเขาได้ ปีแรกของการเก็บเกี่ยว ผมพอใจกับผลผลิตของมันฝรั่งมากเพราะได้ถึง 3 ตันต่อไร่ ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น ทำได้ 3 ปีผมก็ฟื้นตัว พอเรามีความชำนาญในการปลูกมากขึ้นก็ได้ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น ปีก่อนผมปลูก 35 ไร่ มีรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ 3 แสนกว่าบาท ก็ถือว่าคุ้มค่าเหนื่อยครับ ในปีนี้ผมได้ขยายพื้นที่ปลูกมันฝรั่งเป็น 60 ไร่แล้ว

สิ่งหนึ่งที่ การปลูกมันฝรั่งทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ปีละหลายครั้ง คือ ในช่วงฤดูแล้ง ประมาณ เดือนพฤศจิกายน-ต้นมกราคม ส่วนในฤดูฝนเริ่มปลูกได้ตั้งแต่พฤษภาคม-กันยายน คือ ถ้าปลูกเดือนพฤษภา ก็ไปเก็บเกี่ยวได้ประมาณสิงหาคม ถ้าปลูกเดือนมิถุนายน ก็ไปเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายน อย่างหน้าฝนจะมีช่วงของการปลูกได้ประมาณ 4 เดือน ในพื้นที่ อ.พบพระ แต่ละปีจะมียอดเงินหลังจากหักค่าใช้จ่ายในเรื่องของต้นทุน จากเกษตรกรที่ปลูกมันฝรั่ง หมุนเวียนในพื้นที่ 200 กว่าล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

เมื่อหลายปีก่อน เกษตรกรจำนวนไม่น้อย มีความเป็นอยู่คล้ายๆ กันคือ ครอบครัวมีฐานะไม่ค่อยมั่นคง มีรายได้จากอาชีพเกษตรกรไม่แน่นอน บ้านที่อยู่อาศัยไม่คงทนแข็งแรง มักสร้างจากไม้ไผ่เป็นองค์ประกอบหลัก ไม่มีเงินส่งลูกเรียนหนังสือสูงๆ ทำให้เด็กต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา แต่เมื่อ เลย์ เข้ามาสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกมันฝรั่ง ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นก็เริ่มมีอนาคตที่สดใส คุณภาพชีวิตดีขึ้นตามลำดับ เห็นได้จากการมีที่อยู่อาศัยมั่นคงแข็งแรงกว่าเดิมบางครอบครัวมีรถยนต์ใช้แทนรถอีแต๋น บ้างก็มีกำลังส่งลูกเรียนหนังสือถึงระดับมหาวิทยาลัยได้ ซึ่ง กี่ เกษตรกรผู้ฝ่าวิกฤตมาเป็นโอกาส ด้วยการเปลี่ยนมาปลูกมันฝรั่งแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในโครงการดังกล่าวมานานกว่าสิบปี ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

ความอดทนและการไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากของชายคนนี้ไม่เสียเปล่า เพราะ เลย์ เห็นถึงความพยายามและมุ่งมั่นตั้งใจในการทำไร่มันฝรั่งของเขาที่มีมาโดยตลอด จึงได้มอบรางวัล เกษตรกรดีเด่น เพื่อเป็นการส่งเสริมและให้กำลังใจเกษตรกรที่มีคุณสมบัติที่กำหนดไว้คือ มีความซื่อสัตย์ มีความขยันในการดูแลไร่มันฝรั่งในแปลงของตน รวมถึงทำการปลูกมันฝรั่งอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

"เมื่อผลผลิตมีคุณภาพดี ก็ขายได้ราคาดี ชีวิตผมก็ดีขึ้น ครอบครัวมีความสุข ตอนนี้ผมมีกำลังพอที่จะส่งเสียให้ลูกๆ เรียนหนังสือไปเรื่อยจนกว่าเขาจะไม่อยากเรียน ถ้าเป็นไปได้ในอนาคตก็อยากให้เขามีความรู้มากๆ แล้วกลับมาช่วยเราพัฒนาการปลูกมันฝรั่งต่อ เมื่อก่อนเราลำบากเพราะไม่มีความรู้ แต่พอมาเข้าโครงการนี้ชีวิตก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ถึงจะเหนื่อยแต่ก็ดีใจเพราะมีรายได้ที่มั่นคง ปีนี้เราคงเหนื่อยขึ้นเพราะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม แต่เมื่อคิดถึงผลตอบแทนแล้วก็หายเหนื่อยครับ" กี่ เกษตรกรนักสู้ กล่าวพร้อมปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม

ตะวันตรงหัวพอดี เมื่อเกษตรกรชาวม้งผู้นี้เล่าประสบการณ์ชีวิตของเขาที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ กว่าจะมาประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ เสร็จสิ้นลง เขาทอดตาตรงไปยังไร่มันฝรั่งซึ่งกินพื้นที่กว้างใหญ่จนเห็นไกลลิบๆ อีกครั้งด้วยความภาคภูมิใจ ก่อนจะขอตัวกลับไปทำภารกิจต่อ โดยมีภรรยาและลูกชาย ซึ่งเป็นกำลังใจสำคัญที่สุด เดินเคียงข้างไปด้วยกัน

นับเป็นหนึ่งตัวอย่างแห่งความสำเร็จของเกษตรกรที่ เลย์ ภาคภูมิใจ เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจทำโครงการดีๆ เพื่อเติมความสุขให้เกษตรกรในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผลิดอกออกผลออกมาให้เห็นแล้วเป็นจำนวนมาก และยังคงดำเนินต่อไปเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทยให้มีความก้าวหน้า พึ่งพาตนเองได้ มีรายได้ดีไม่แพ้กับอาชีพอื่นๆเลยทีเดียว

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook