สกศ.ระดมกึ๋นชงมาร์คสร้างสี่ใหม่ปฏิรูปศึกษา

สกศ.ระดมกึ๋นชงมาร์คสร้างสี่ใหม่ปฏิรูปศึกษา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ชี้การทดสอบระดับชาติทุกช่วงชั้นจำเป็น

รศ.ดร.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมระดมความคิดและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ว่า ได้มีการนำข้อเสนอของการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบมาหารือ ซึ่งได้มีการนำเสนอข้อสังเกตใน 4 ประเด็น ดังนี้ 1.การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ ที่ประชุมเห็นว่านอกจากจะมีคุณภาพทางวิชาการแล้วจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม และเห็นด้วยที่จะต้องมีการจัดการทดสอบระดับชาติในทุกช่วงชั้น รวมถึงต้องมีการสร้างมาตรฐานของโรงเรียนให้ใกล้เคียงกัน 2.การพัฒนาครูยุคใหม่ ควรมีการศึกษาหรือวิเคราะห์เทียบเคียงว่าครูที่อยู่ในภาครัฐและนอกภาครัฐ ต้องการได้รับการช่วยเหลือดูแลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ อย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันควรมีการถ่ายทอดประสบกา์ของครูที่เก่ง ๆ 3.การพัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีจิตวิญญาณแสวงหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ และการมีสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ เพื่ออตอบสนองความต้องการของคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ ทั้ง 2 ส่วนเกิดความสมดุล แต่ปัญหาคือ วันนี้ทั้ง 2 ส่วนยังมีน้อยมาก

เลขาธิการ สกศ. กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 4. การพัฒนาระบบบริหารจัดการใหม่ ซึ่งที่ประชุมพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสถานศึกษา ที่ทำได้แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆยังไม่เต็มที่ โดยมีข้อเสนอว่าไม่ควรทำเป็นมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติเดียว แต่ต้องทำตามความพร้อมของสถานศึกษาไม่จำเป็นต้องรอทำไปพร้อม ๆ กัน และต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ปกครอง อย่างไรก็ตามสกศ.จะสรุปประเด็นต่าง ๆ เสนอที่ประชุมในการสัมมนาแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา สี่ใหม่ อย่างเป็นรูปธรรม ในวันท่ 12 ก.พ.นี้ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปนโยบายการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 15 ก.พ.นี้

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนได้กำหนดให้ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เป็นนโยบายหลักที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ซึ่งในวันที่ 15 ก.พ.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปนโยบายการศึกษาในทศวรรษที่สองเป็นครั้งแรก และจะจัดสมัชชาปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในวันที่ 6-7 มี.ค. เพื่อสร้างกระแสให้ทุกภาคส่วนเกิดความตื่นตัวในการเข้ามามีส่วนร่วมปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง แต่ก็มั่นใจว่าหากสามารถวางระบบและรากฐานที่ดีได้ ก็จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายได้ในอนาคตแน่นอน.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook