กกอ.ตีกลับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิครูป.ตรี

กกอ.ตีกลับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิครูป.ตรี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ชี้ตอบโจทย์ผิด-ยกฟินแลนด์ต้นแบบ

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะทำงานจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ได้เสนอร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ให้ กกอ.พิจารณา ซึ่ง กกอ.ได้พิจารณาแล้วมีมติให้คณะทำงานฯ นำร่างดังกล่าวกลับไปทบทวนอีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่ายังไม่สามาถตอบโจทย์ของการผลิตครูที่แตกต่างไปจากเดิมได้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าจะทำอย่างไรให้ครูที่ล้าสมัย สามารถตามเด็กได้ทัน เพราะครูในอนาคตต้องเป็นครูที่ทันสมัย เชี่ยวชาญในรายวิชาที่สอน และต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องการใช้เทคโนโลยี เพื่อติด ตามงานวิชาการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และนำมาปรับสอน้แก่เด็กได้เรียนรู้และตามทันโลกได้

ประธาน กกอ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ครูที่สอนในแต่ละวิชา จะต้องจบในสาขาวิชานั้น ๆ มา เช่น ครูสอนวิทยาศาสตร์ ต้องจบเอกวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่จบเอกวิชาใดมาก็ได้ อาทิ ประเทศฟินแลนด์ กำหนดชัดเจนว่า ผู้ที่จะมาเป็นครูในสาขาใดจะต้องจบในวิชาเอกนั้น และจากการกำหนดเช่นนี้ทำให้มีการยุบคณะศึกษาศาสตร์มาเป็นเพียงภาควิชาหนึ่งในคณะต่างๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ และถ้าคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ของไทยจะเป็นอย่างนี้บ้างก็ต้องยอมรับความเจ็บปวด เพื่ออนาคตทางการศึกษาของชาติ ทั้งนี้คณะทำงานชุดดังกล่าวจะต้องไปทบทวนร่าง โดยจะต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาหารือ และปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

ด้าน ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ กกอ. กล่าวว่า ในแต่ละประเทศะมีวิธีการผลิตครูที่แตกต่างกันไป ซึ่งประเทศ ไทยน่าจะดูรูปแบบของประเทศที่ประสบความสำเร็จแล้ว และ นำมาปรับให้เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งส่วนตัวตนมองว่า ครูต้องทำหน้าที่เป็นผู้บริหารหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจะต้องหาวิธีทำให้เด็กมีความรู้ครบถ้วนตามหลักสูตร ดังนั้นการพัฒนากรอบมาตรฐานการผลิตครูจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อเป็น แนวทางการผลิตครู ให้ตรงต่อความต้องการของผู้ใช้ ทั้งนี้จากที่ตนได้ไปดูงานที่ประเทศฟินแลนด์ พบว่า การผลิตครูแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ระดับประถมศึกษา ครูคนเดียวสามารถสอนได้ทุกวิชา แต่ระดับมัธยมศึกษาครูต้องจบตรงสาขาเท่านั้น ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดี.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook