เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง

เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ในการจัดทำสิ่งบ่งชี้หรือสินค้าทางภูมิศาสตร์ของไทย (Geographical Indication) เรียกกันย่อ ๆ ว่า จีไอ ทำแผนกันมาเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว จนถึงขณะนี้ ได้สินค้าที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ทั่วประเทศจำนวน 26 รายการ บางจังหวัดก็ยังไม่มี เพราะกว่าจะได้สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้น ไม่ใช่ได้กันมาง่าย ๆ ต้องพิสูจน์ให้เห็นกันชัดเจนว่า มีคุณภาพ ตัวสินค้ามาจากแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์นั้น ๆ เช่น แชมเปญฝรั่งเศส ชาดาร์จีลิ่งจากอินเดีย

สำหรับเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสี บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี แหล่งอารยธรรมมรดกโลก เมื่อ 5,000 ปีก่อน มีกลุ่มเขียนสีลายบ้านเชียง ทำเครื่องปั้นดินเผาทั้งของใหม่และทำเลียนแบบของเก่า ฝีมือชาวบ้านเชียงที่รวมกลุ่มกันแต่งแต้มลวดลายเขียนสีบ้านเชียงให้คงอยู่ในรูปแบบของที่ระลึก ของแต่งบ้าน จนได้เป็นหนึ่งในสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เครื่องปั้นดินเผา บ้านเชียง พอตเตอรี่ นอกเหนือไปจากภูมิปัญญาโอทอป

คุณตาเสริม ธำรงรัตน์ ปัจจุบัน เป็นประธานที่ปรึกษากลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงและของที่ระลึก ประเภทศิลปะประดิษฐ์ เล่าให้ฟังว่า ลายเขียนของบ้านเชียงนั้นจะมี 2 ลายคือ ลายตะขอและลายก้นหอย สีที่วาดลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผาบ้าน เชียง เดิมนั้นเป็นสีจากดินสีแดงที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 3-4 เมตร เอามาละลายน้ำและผสมกาว แต่ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตสีฝุ่นมีความก้าวหน้าไปมากจึงใช้สีฝุ่นที่ใช้ผสมลงในซีเมนต์แทนสีจากดิน ก็ได้คุณภาพสีออกมาไม่แพ้กัน

เสน่ห์ของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง อยู่ที่การเขียนลายโดยไม่ร่างเส้นเอาไว้ก่อน หรือฟรีแฮนด์ ผู้วาดลายจะมีเพียงพู่กันและสีลากเส้นลายตะขอและลายก้นหอย

ดินเหนียวที่ใช้ปั้นนั้น ก็เป็นดินเหนียวสีดำจากแหล่งดินในสกลนคร เอามาผสมกับหัวเชื้อ ปั้นขึ้นรูปแล้วเผาให้สุก จึงนำมาเขียนสี กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาฯ ยังใช้เทคนิคการปั้นทั้งแบบใช้มือและใช้เครื่อง เพื่ออนุรักษ์การปั้นแบบดั้งเดิมเอาไว้ ระยะเวลาเผาหากเป็นใบเล็กก็ใช้นานประมาณครึ่งวัน ใบใหญ่ก็เต็มวัน กรรมวิธีการเผาก็ยังเป็นแบบโบราณ ใช้ไม้และฟางข้าวเป็นเชื้อเพลิง

ชาวบ้านเชียงมีเรื่องตลกเล่าให้แขกมาเยือนฟังว่า ไม่ต้องกลัวว่า ของทำเลียนแบบของเก่าหรือทำเหมือนใหม่จะโดนจับ เพราะเดี๋ยวนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดรู้แล้วว่า ไม่ใช่ของเก่าแต่เป็นของทำเลียนแบบ ทางกลุ่มจะมีใบรับรองให้ว่าเป็นของทำเลียนแบบ หรือของปลอมแท้ๆ ไว้ให้ ราคาขายมีตั้งแต่ 10 บาทไปจนถึงสองหมื่นบาท

วิธีสังเกตของเก่าของใหม่บ้านเชียงนั้น คุณตาเสริมมีเคล็ดลับก็คือ ของเก่าแท้ ๆ ลวดลายจะไม่ละเอียดเหมือนของใหม่ เนื่องจากผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน แต่ของใหม่จะสวยมีลวดลายชัดเจน

นายมงคล สุระสัจจะ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ภาครัฐได้พยายามเข้าช่วยพัฒนาคุณภาพของงานหัตถกรรมในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด ผ่านโครงการโอทอป หรือหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ในอุดรธานี นอกจากกลุ่มงานเขียนสีบ้านเชียง ก็ยังมีกลุ่มผ้ามัดหมี่ย้อมครามพิบูลย์รักษ์ ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเสริมฝีมือชาวบ้านทั้งการทอ การย้อม ซึ่งในกลางปี 2553 จะมีโอทอปมิดเยียร์ ให้ชาวบ้านจากทั่วประเทศนำผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นมาจำหน่าย และปีนี้จะเปิดคัดสรรลงทะเบียนสินค้าโอทอปด้วย

ในโลกปัจจุบัน เราปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวัน การทำธุรกิจ สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ การอนุรักษ์และการพัฒนาต้องทำควบคู่กันไป เพื่อให้คนได้อยู่ในถิ่นเกิด มีงานทำและมีความสุขตามอัตภาพกันทั้งปี.

ปรารถนา ฉายประเสริฐ

prathana.chai@gmail.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook