รัฐบาลเชิญสื่อทำความเข้าใจการเสนอข่าวคดียึดทรัพย์

รัฐบาลเชิญสื่อทำความเข้าใจการเสนอข่าวคดียึดทรัพย์

รัฐบาลเชิญสื่อทำความเข้าใจการเสนอข่าวคดียึดทรัพย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รัฐบาลเชิญผู้บริหารสื่อทำความเข้าใจการเสนอข่าวคดียึดทรัพย์ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อกลุ่มต่อต้าน พร้อมนำ กอ.รมน. และตำรวจ แจงผลการปฏิบัติงาน เริ่มจากใช้กฎหมายปกติ-ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมถ่ายทอดสัญญาณเสียงสดวันพิพากษา เปิดโอกาสทุกช่องเชื่อมต่อสัญญาณ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เชิญผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านสื่อสารมวลชน ทั้งโทรทัศน์ ทีวีดาวเทียม ภาคส่วนของวิทยุ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในฐานะที่ต้องนำข่าวสารที่ถูกต้องไปสู่ประชาชน โดยรัฐบาลเห็นว่าตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา อาจมีข่าวที่สร้างความสับสนเกิดขึ้น และอาจเป็นเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง เช่น เหตุการณ์เดือนเมษายน มีความพยายามนำข่าวที่ไม่เป็นจริงนำไปบิดเบือนสู่ความรุนแรง เช่น การยิงชาวบ้านที่นางเลิ้ง จึงเห็นว่าบทบาทสื่อสำคัญ ที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การเสนอข่าวในห้วงต่อไปได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าสถานการณ์จากนี้ไปจนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่จะมีการพิพากษาคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจมีการสร้างข่าวที่บิดเบือนข้อเท็จจริง โดยล่าสุดมีการนำคลิปเสียงที่ถูกตัดต่อของนายกรัฐมนตรีมาเผยแพร่อีกครั้ง เพื่อสื่อให้เห็นว่ารัฐบาลจะสร้างความรุนแรง หรือมีการรายงานแผนลับ ซึ่งแท้ที่จริงเนื้อหาเป็นการประชุมปกติ นอกจากนั้น เหตุการณ์ยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ใกล้ทำเนียบรัฐบาล หรือการวางระเบิดซีโฟร์ที่ศาลฎีกา ทั้งหมดเราเชื่อว่าเป็นความพยามที่สร้างข่าวสารที่บิดเบือนต่อเนื่องมาโดย ตลอด

อย่างไรก็ตาม การประชุมวันนี้ ได้เชิญกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ตำรวจนครบาล และ กทม. ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้อง ชี้แจงให้ทราบขั้นตอนการปฏิบัติของรัฐบาล หากเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ พร้อมยืนยันว่า การเตรียมการของรัฐบาลมีเป้าหมายสูงสุดคือ การป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง ต้องการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย

นายสาทิตย์ กล่าวว่า เป็นห่วงการชุมนุมที่ขณะนี้เคลื่อนไหวหลายรูปแบบ มีเป้าหมายและหวังผลทางการเมือง ทั้งในและต่างประเทศ โดยพยามสร้างข่าวที่บิดเบือนมาเป็นอาวุธรุกทางการเมือง แม้กระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เคลื่อนไหวที่ถี่ขึ้น จึงเห็นว่าหากสื่อช่วยชี้แจงทำความเข้าในใจ รวมทั้งให้เห็นขั้นตอนการทำงานของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง ทั้งที่มาและผลงานที่ผ่านมา ตลอดจนกันช่วยเข้มงวดเนื้อหาที่ถูกนำมาบิดเบือนและสร้างเงื่อนไข เช่น การเผยแพร่เอกสารลับต่าง ๆ อยากให้ข่าวสารออกมาสู่ประชาชนอย่างถูกต้อง

นายสาทิตย์ กล่าวด้วยว่า ในวันพิพากษาคดียึดทรัพย์ 26 กุมภาพันธ์ ทางกรมประชาสัมพันธ์ได้ประสานไปยังศาลฎีกา เพื่อถ่ายทอดสด โดยได้รับอนุญาตให้ถ่ายทอดได้เฉพาะเสียง ซึ่งจะมีการถ่ายทอดให้ประชาชนได้รับทราบคำพิพากษา ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 และวิทยุในเครือกรมประชาสัมพันธ์ โดยสถานีโทรทัศน์สามารถเชื่อมโยงสัญญาณได้

ด้าน พล.ต.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ยึดหลักยุติธรรมและเมตตาธรรม ให้ตำรวจเป็นผู้ปฏิบัติหลัก ใช้กฎหมาย และไม่ให้ยั่วยุ การปฏิบัติการต้องไม่สร้างเงื่อนไข การใช้กำลังควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนัก เป็นไปตามหลักสากล และหลักสิทธิมนุษยชน ใช้ความอดทนอดกลั้นถึงที่สุด โดยมีแผนกำหนดหลักปฏิบัติ 3 ขั้นตอน คือ 1.ใช้กฎหมายปกติของตำรวจที่มีอยู่ ช่วงแรกใช้ตำรวจล้วน ๆ ดูแลสถานการณ์ แต่หากสถานการณ์ยกระดับขึ้น จะขอทหารเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน แต่ยังจะใช้กฎหมายปกติ

โฆษก กอ.รมน. กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนที่ 2 การประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และขั้นตอนที่ 3 หากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น จะเสนอให้รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อคลี่คลายสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติเร็วที่สุด

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจ เจ้าหน้าที่สามารถดูแลได้ หากพบมีการระดมคนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จะยกระดับความเข้ม ขอกำลังหนุนจากอาสาสมัคร ส่วนเวลากลางคืนจะมีการตั้งจุดตรวจทุก สน.ตั้งแต่ 22.00-05.00 น. ตั้งอย่างน้อย 168 จุด ส่วนกรุงเทพฯ ชั้นใน มีจุดตรวจ 24 ชั่วโมง ใน 5 จุดหลัก คือ หน้ารัฐสภา หน้ากระทรวงการต่างประเทศ หน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณศาลฎีกา และบ้านสี่เสาเทเวศร์

โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการรักษาความปลอดภัยสถานที่ บ้านบุคคลสำคัญ และพื้นที่เป้าหมายตลอด 24 ชั่วโมง ติดตามสถาการณ์การข่าวตลอดเวลา โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ปรึกษา สบ 10 รับผิดชอบ และเจ้าหน้าที่อยากขอความร่วมมือจากประชาชนในการแจ้งเบาะแส โดยจะจัดหน่วยจู่โจมเคลื่อนที่เร็วพร้อมทุกสถานีออกไปเผชิญเหตุ

ด้าน พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่า กทม. ระบุว่า เพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชนที่ต้องการแจ้งเบาะแส จึงได้ตั้งศูนย์รักษาความปลอดภัยกรุงเทพมหานคร 1555 จำนวน 120 คู่สาย หากมีเหตุด่วนสามารถต่อโอนไปได้ที่ สน. หรือ 191 ได้ทันที ตลอดจนเชื่อมโยงกับ กอ.รมน.ได้ ดังนั้น คิดว่าการได้รับข้อมูลจะกว้างขึ้น โดยจะเปิดอย่างเป็นทางการในวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์นี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook