สัตวแพทย์ห่วงวัดเป็นพื้นที่เสี่ยงระบาดโรคพิษสุนัขบ้า

สัตวแพทย์ห่วงวัดเป็นพื้นที่เสี่ยงระบาดโรคพิษสุนัขบ้า

สัตวแพทย์ห่วงวัดเป็นพื้นที่เสี่ยงระบาดโรคพิษสุนัขบ้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สัตวแพทย์ห่วงประชาชนละเลยปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า นำมาซึ่งการสูญเสีย แนะให้เร่งนำสุนัขเลี้ยงไปพบแพทย์และดูแลให้ฉีดวัคซีนตามกำหนดเวลา ห่วงสุนัขในวัดเสี่ยงแพร่ระบาดมากที่สุด เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ แนะทางการเข้าดูแลฉีดวัคซีนสำรวจทำประวัติ ขณะที่สัตวแพทยสมาคมฯ เปิดให้ชุมชนร้องขอให้เดินสายเข้าไปฉีดวัคซีนให้สุนัข

ส.พญ.อัจฉริยา ไศละสูต สัตวแพทย์ในศูนย์สัตวแพทย์อาสา สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าว่า รู้สึกไม่สบายใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น และยังพบว่าประชาชนละเลยการป้องกันโรคอย่างถูกวิธี อาจเป็นเพราะมีการโหมรณรงค์จนประชาชนรู้สึกเคยชินกับเรื่องของโรคพิษสุนัข บ้า ทั้งที่เป็นโรคสัตว์ติดต่อถึงคนที่อันตรายมาก และรักษาไม่ได้ และทางที่ดีที่สุดคือการป้องกัน โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ ซึ่งจะฉีดให้สุนัขตั้งแต่อายุ 3 เดือน และฉีดอีกครั้งเมื่ออายุครบ 6 เดือน จากนั้นฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง

ส.พญ.อัจฉริยา กล่าวว่า ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งในปัจจุบัน คือการที่ผู้ประกอบการจำหน่ายสุนัขอาจซื้อวัคซีนมาฉีดเอง ซึ่งต้องตรวจสอบว่ามีคุณภาพดีพอหรือไม่ ตลอดจนการเก็บรักษา ระยะเวลาการฉีด การคุ้มกันโรค ซึ่งหากปฏิบัติไม่ถูกต้องอาจทำให้ภูมิคุ้มกันโรคขึ้นไม่สูงพอ นอกจากนั้น การที่มีสุนัขอยู่รวมกันจำนวนมากเปิดโอกาสให้โรคติดต่อกันได้ง่าย ผ่านทางน้ำลายของสัตว์ที่ป่วย เช่น การเลียแผลกันก็จะทำให้ติดโรค

ส.พญ.อัจฉริยา ยังกล่าวเตือนให้ผู้เลี้ยงสัตว์ทุกคนดูประวัติการฉีดวัคซีนของสุนัขทุกตัวใน ช่วงที่กำลังเข้าสู่ฤดูร้อนนี้ หากไม่แน่ใจให้ปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อตรวจดูให้ชัดเจน และต้องพาสุนัขไปฉีดวัคซีนเพื่อให้ได้ภูมิมากที่สุด ส่วนกรณีจะนำสุนัขใหม่เข้ามาในบ้าน ให้นำไปฉีดวัคซีนป้องกันก่อน ส่วนโรคอื่นๆ นั้นส่วนใหญ่ควบคุมได้และไม่เป็นอันตรายถึงคน เช่น โรคพยาธิ ภูมิแพ้ ไข้หัดสุนัข ลำไส้อักเสบ

"ถ้าเป็นสุนัขบ้าน คงไม่มีปัญหา เพราะน่าจะมีการดูแลอย่างดี แต่เป็นห่วงกรณีการเลี้ยงสุนัขในกลุ่มใหญ่ เช่นในวัด หรือสถานที่ที่มีการเลี้ยงมากๆ และดูแลได้ไม่ทั่วถึง" ส.พญ.อัจฉริยา กล่าว

ส.พญ.อัจฉริยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การอยู่รวมกันของสุนัขภายในวัด ซึ่งมีที่มาจากคนที่เลี้ยงไม่ไหวแล้วนำมาปล่อยโดยขาดความรับผิดชอบนั้น เป็นสภาพที่เสี่ยงอย่างยิ่งต่อการแพร่เชื้อพิษสุนัขบ้า ถ้ามีตัวใดตัวหนึ่งเป็นก็จะติดต่อกันอย่างรวดเร็ว เพราะวัดไม่มีรั้วรอบขอบชิด อาจมีตัวที่มีเชื้อวิ่งเข้ามากัดหรือเลียสุนัขตัวอื่น ๆ รวมทั้งยังมีความเสี่ยงต่อบุคคลที่เข้าไปในวัด รวมถึงเด็กๆ ที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้วไปแหย่สุนัขเล่นจนถูกกัด ดังนั้น ทางวัดควรแจ้งทางเขต/อำเภอ หรือทางราชการให้เข้ามาดูแลสำรวจประชากรสุนัข ฉีดวัคซีน ทำแผนในการทำหมันต่อไป

ส.พญ.อัจฉริยา กล่าวว่า ทางราชการควรเร่งสำรวจฉีดวัคซีนให้กับสุนัขในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ทางสัตวแพทยสมาคมฯ ก็มีโครงการร่วมกับภาคเอกชนในการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนักอย่างเต็ม ที่ โดยแสวงหาความร่วมมือจากชุมชน ซึ่งการเข้าพื้นที่ฉีดวัคซีนแม้โดยไม่รู้ประวัติการฉีด ก็ช่วยหยุดโรคได้ระดับหนึ่ง ชุมชนใดต้องการให้ทางสัตวแพทยสมาคมฯ เข้าไปในพื้นที่ สามารถติดต่อได้ที่โทรศัพท์ 02 255 1309 โทรสาร 022528773

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook