บ้าน-คอนโดฯเทกระจาดขาย

บ้าน-คอนโดฯเทกระจาดขาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ชิ่งหนีมาตรการรัฐสิ้นสุด28มี.ค. สคบ.เตือนผู้บริโภคระวังสัญญา

นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจากการเช่าซื้อที่อยู่อาศัยเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ราย เนื่องจากถูกผู้ประกอบการผิดสัญญา, โฆษณาเกินจริง และไม่คืนค่าจองกรณีมีปัญหาการทำธุรกรรม ดังนั้นต้องการตักเตือนผู้บริโภคให้รอบคอบในการทำสัญญาเช่าซื้อที่อยู่อาศัยก่อนที่มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์จะสิ้นสุดในวันที่ 28 มี.ค. นี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการซื้อขายมาก อาจส่งผลให้ล่าช้า จนซ้ำเติมให้ผู้บริโภคต้องเสียภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ช่วงทำสัญญาจองซื้อบ้านผู้บริโภคควรเจรจากับผู้ขายเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน เพื่อขอคืนค่าจองได้ในกรณีที่การทำธุรกรรมล่าช้าจนมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์หมดอายุ และผู้บริโภคไม่ต้องการรับภาระภาษี ค่าธรรมเนียมการโอนที่แพง เนื่องจากจะเป็นหลักฐานร้องเรียนกับสคบ. หากผู้ประกอบการไม่คืนค่าจอง

ช่วง 1 เดือนก่อนขึ้นค่าธรรมเนียมการโอนจาก 0.01% เป็น 2% ค่าจดจำนองจาก 0.01% เป็น 1% และภาษีธุรกิจเฉพาะ จาก 0.11% เป็น 3.3% จะมีการซื้อบ้านกันมาก ซึ่งอาจทำให้การทำธุรกรรมล่าช้าโดยเฉพาะการขอสินเชื่อที่อาจใช้เวลเดือนกว่าจะรู้ผล

นายจิรชัย กล่าว ว่า สคบ. พร้อมช่วยเหลือผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ เพราะหากมาตรการสิ้นสุดลง ทำให้ผู้ประกอบการอาจปรับ ขึ้นราคาบ้านทันที 5-7% ดังนั้นหากผู้บริโภคเห็นว่ามีการปรับราคาสูงเกินจริงก็ร้องเรียนที่สคบ. ให้เชิญผู้ประกอบการชี้แจงถึงต้นทุนที่ปรับเพิ่ม เพื่อให้ผู้ซื้อได้พิจารณาเลือกซื้อสินค้าที่ถูกใจมากที่สุด แต่ตามกฎหมายคงไม่มีอำนาจในการควบคุมห้ามปรับราคาบ้าน

สำหรับการร้องเรียนเกี่ยวกับภาค อสังหาริมทรัพย์ในงบประมาณ 52 มี 2,575 ราย ประกอบด้วย ไม่ปลูกสร้าง, ก่อสร้างแต่ไม่แล้วเสร็จ, ไม่ปฏิบัติตามที่โฆษณา, มีการก่อสร้างแล้วเสร็จแต่เก็บงานไม่เรียบร้อย, ไม่ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์, มีการชำรุดหลังปลูกสร้าง, กู้ไม่ผ่าน, กู้ได้ไม่เต็มจำนวนที่ขอกู้, ไม่จัดทำสาธารณูปโภค, ก่อสร้างไม่ตรงแบบแปลน, ก่อสร้างล่าช้า, พื้นที่จอดรถเป็นรอยแตกร้าว, กรรมการหมู่บ้านบริหารงานไม่โปร่งใส, ก่อสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐานและ ไม่สามารถแบ่งแยกโฉนดที่ดิน เป็นต้น

ส่วนสถิติการร้องเรียนเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วยปีงบประมาณ 45 จำนวน 1,891 ราย, ปีงบประมาณ 46 จำนวน 2,195 ราย, ปีงบประมาณ 47 จำนวน 2,121 ราย, ปีงบประมาณ 49 จำนวน 3,936 ราย, ปีงบประมาณ 50 จำนวน 2,470 ราย, ปีงบประมาณ 51 จำนวน 2,190 ราย และปีงบประมา 52 จำนวน 2,574 ราย

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาล ไม่ต่ออายุมาตรการฯ สมาคมอาคารชุดไทยจะรอให้วัดผลจากการประกาศยกเลิกมาตรการเป็นเวลา 3 เดือนก่อนว่า ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง หากยอดขายชะลอตัว จะยื่นให้ภาครัฐทบทวนเรื่องนี้ใหม่แต่เบื้องต้นคาดการณ์ว่าปีนี้ยอดการโอนจะลดลง 5%

ราคาที่อยู่อาศัยมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการกลับมาใช้ค่าธรรมเนียมการโอน ค่าจดจำนองและภาษีเฉพาะเฉลี่ย 4.2% โดยภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น แม้เป็นส่วนที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย แต่ที่สุดแล้วเป็นต้นทุนที่ต้อง บวกให้ผู้บริโภคแบกรับ ซึ่งยังไม่นับรวมต้นทุนค่าก่อสร้าง ที่ดิน ที่มีความผันผวนอยู่ แต่ก่อนวันที่ 28 มี.ค.นี้ ผู้ประกอบการต้องเร่งทำความเข้าใจกับผู้บริโภคถึงสิทธิประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการตัดสินใจโอนบ้านพร้อมอยู่ หรือคอนโดฯ สร้างเสร็จให้ทันก่อนหมดมาตรการฯ.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook