สตง.แจงกมธ.ทหารแฉพิรุธ8หน่วยงาน

สตง.แจงกมธ.ทหารแฉพิรุธ8หน่วยงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จัดซื้อเครื่องจีที200

สตง. แจง กมธ.ทหาร พบการจัดซื้อเครื่อง จีที 200 กับเครื่องอัลฟา 6 ของมหาดไทย มีกลิ่นไม่ดี พบพิรุธ 8 หน่วยงานที่มีศื้อเครื่องมาใช้ จ่อสอบย้อนหลัง ผบ.ทอ. ปี 2548 กับ ผบ.ทบ. ปี 2550 ต้นตอจัดซื้อ เพื่อหาที่มาของเครื่องว่ามาได้อย่างไร ด้าน คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช ระบุ เตรียมลงไปแจงให้ทหารใน 3 จังหวัดภาคใต้เข้าใจว่าเครื่องใช้งานไม่ได้ 28 ก.พ.นี้ จ่อให้นักวิทยาศาสตร์จับมือกับของกองทัพผลิตเครื่องใหม่มาใช้แทน ถ้าคนกับงบประมาณพร้อม ยันภายใน 5-6 เดือน มีเครื่องตรวจจับระเบิดออกมาใช้ใหม่แน่นอน

กรณีที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ยืนยันว่า เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที 200 ที่กองทัพบกสั่งซื้อมาให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้งานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประสิทธิภาพใช้งานได้ดี และให้ทหารใช้งานต่อไป แต่หลังจากคณะกรรมการที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้ตรวจสอบทดลองใช้เครื่องแล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถใช้งานตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริง จึงสั่งให้หยุดใช้งานเครื่องดังกล่าว ขณะที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบพิรุธในการจัดซื้อเครื่องจีที 200 เจ้าปัญหานี้ ตามที่เสนอข่าวไปให้ทราบนั้น

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 ก.พ. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อชี้แจงผลการทดสอบเครื่อง จีที 200 ว่า ได้ประสานกองทัพแล้่าจะลงไปในวันที่ 28 ก.พ.นี้ เพื่อชี้แจงผลการทดสอบที่เป็น ไปตามหลักสถิติและหลักสากลให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เข้าใจ

อย่างไรก็ตาม ถ้าบุคลากรและงบประมาณมีความพร้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจะสามารถผลิตเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดตัวใหม่มาใช้แทน จีที 200 ได้ภายใน 5-6 เดือนนี้ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ของกระทรวงวิทย์ฯกับกองทัพ หรือเรียกว่ากองทัพนักวิทย์พบกองทัพไทย

ขณะเดียวกัน ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา โดยมี พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้พิจารณาถึงการจัดซื้อเครื่องตรวจจับยาเสพติด อัลฟ่า-6 ของกระทรวงมหาดไทย (มท.) พร้อมกับเชิญ นายวันชัย อุดมสิน รองอธิบดีกรมการปกครอง เข้าชี้แจง

นายวันชัย กล่าวว่า มท.ซื้อเครื่อง อัลฟ่า-6 ครั้งแรกในปี 2551 จำนวน 63 เครื่อง ราคาเครื่องละ 725,900 บาท เพราะตรวจสอบแล้วว่าเครื่องใช้งานได้ จากนั้นจัด ซื้อเพิ่มอีก 789 เครื่อง ตอนนี้อนุมัติซื้อแล้ว 479 เครื่อง โดยนำมาใช้ตรวจจับยาบ้าและ ยาไอซ์เท่านั้น ไม่มีอันตรายต่อชีวิตบุคลากร อีกทั้งไม่ได้เป็นการจัดซื้อที่ซับซ้อนเพราะเครื่องอัลฟ่า-6 ของทหารใช้ตรวจจับยาเสพติดเฉพาะตามแนวชายแดน ขณะที่ตำรวจใช้ตรวจจับตามเส้นทางลำเลียงขนส่งยาเสพติด ส่วน มท.ใช้ตรวจจับยาเสพติดตามชุมชน

จากนั้น นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการ สตง ชี้แจงต่อ กมธ. ว่า ขณะ นี้ สตง.พบปัญหาในการจัดซื้อเครื่องจีที 200 และอัลฟ่า-6 ที่มีอย่างน้อย 8 หน่วยงานใช้เครื่องมือเหล่านี้อยู่ โดยเริ่มมีสัญญาณให้ สตง.เข้าตรวจสอบตั้งแต่ปี 2548 ในการจัดซื้อของกองทัพอากาศ (ทอ.) พบข้อน่าสังเกตบางประการในการจัดซื้อที่ใช้วิธีให้หลายบริษัทเข้าแข่งขันทั้งที่มีของแค่ชิ้นเดียว แต่ให้หลายบริษัทมาแข่งแล้วฟันราคากัน ถือเป็นเรื่องแปลก เพราะสินค้าลักษณะนี้ไม่ใช่จะขายกันบ่อยเหมือนมอเตอร์ไซค์ ส่วนเครื่อง จีที 200 มีบริษัท เอวีเอ บริษัทเดียวที่ได้รับงาน ซึ่ง สตง.คงต้องตรวจสอบย้อนหลังไปถึงที่มาของทั้งหมดว่าได้มาอย่างไร โดยในปี 2548 รู้กันดีว่าใครเป็น ผบ.ทอ. และปี 2550 ใครคือ ผบ.ทบ.

ส่วน นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช. มหาดไทย กล่าวว่า มท.พร้อมที่จะให้ตรวจสอบเต็มที่ ขอให้นัดวันเวลาและกำหนดแนวทางวิธีการของคณะกรรมการในการตรวจสอบ ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีให้ มท.เตรียมรายงานการจัดซื้อให้ทราบ มท.ก็พร้อมดำเนินการไม่มีปัญหา.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook