คงดอกเบี้ย

คงดอกเบี้ย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจประกาศออกมามีทิศทางที่ดีขึ้น และเห็นสัญญาณการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติทำให้เป็นที่จับจ้องว่าดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ ธปท. ใช้บริหารนโยบายการเงิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระดับ 1.25% ถือว่าต่ำมากเป็นประวัติการณ์นั้น ถึงเวลาเข้าสู่วงจรขาขึ้นแล้วหรือยัง

ทั้งนี้จากการพิจารณาข้อมูลในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องการฟื้นตัวรอบด้าน ทั้งปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยในส่วนปัจจัยภายในคือ ปัญหาความไม่แน่นอนในสถานการณ์ด้านการเมือง ที่ล่าสุดกลุ่มเสื้อแดงนัดรวมพลชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ วันที่ 14 มี.ค. นี้ และฝ่ายค้านเตรียมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเร็ววันนี้อีก นอกจากนี้ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. ที่กระทรวงพาณิชย์แถลงล่าสุดอยู่ที่ระดับ 3.7% จากเดิมในเดือน ม.ค. อยู่ที่ระดับ 4.1% แสดงให้เห็นว่าแรงกดดันเงินเฟ้อที่จะส่งผลให้ ธปท.เร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมีน้อยลง

อีกทั้งรัฐบาลตั้งเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมรายได้ในประเทศหรือจีดีพีในปีนี้ไว้ในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตัวเลขที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ทำให้ความจำเป็นใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำยังมีต่อเนื่องไปอีกระยะ ขณะที่การฟื้นตัวเศรษฐกิจต่างประเทศยังมีความเปราะบางจากปัญหาที่รุมเร้าในหลายด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐดีวันร้ายวัน

ดังนั้นมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไปในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่อาจทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักได้ เนื่องจากดอกเบี้ยที่สูงทำให้การใช้จ่าย การบริโภค ประเภทสินค้าคงทนหรือสินค้าเงินผ่อน เช่น บ้าน รถยนต์ลดลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่พึ่งพาเงินกู้ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงจึงฟันธงได้ว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 มี.ค. นี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ยังอยู่ระดับเดิม เพื่อรักษาการเติบโตเศรษฐกิจต่อไป.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook