คนแก่พุ่งแรงงานขาดหนัก

คนแก่พุ่งแรงงานขาดหนัก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วัยทำงานสั้นลงภาคการผลิตวุ่น กลุ่มวิชาชีพหนีทำงานต่างแดน

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยในไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2552 ว่า การจ้างงานรวมในไตรมาส 4 ของปี 52 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.8% เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต อุตสาหกรรม ก่อสร้างและภาคบริการ โดยเฉพาะโรงแรม ภัตตาคารและการค้า ที่จ้างงานเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ภาพรวมในปี 52 พบว่าปัญหาการว่างงานลดน้อยลงมากโดยมีอัตราว่างงานเฉลี่ยทั้งปีที่ 1.5% ซึ่งเป็นระดับปกติ

นอกจากนี้ ผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานลดลงจากที่มีจำนวนสูงสุดที่ 250,557 คน ในไตรมาส 1 ของปี 52 เหลือเพียง 123,708 คน ในไตรมาสที่ 4 ปี 52 รวมทั้งปี 52 มีการจ้างงานเฉลี่ย 37.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.8% ถือว่าเป็นอัตราที่น่าพอใจ

ทั้งนี้มีประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง คือ การตึงตัวของตลาดแรงงาน ทั้งการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ เนื่องจากทักษะฝีมือและสาขาความเชี่ยวชาญของแรงงาน ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด เห็นได้จากเดือน ม.ค. 53 ตำแหน่งงานว่างมีมากกว่าจำนวนผู้สมัครงานและมีการบรรจุงานไม่มาก ทั้งที่มีคนว่างงาน รวมทั้งต้องระวังการขาดแคลนแรงงานในอนาคต เนื่องจากไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อย่างรวดเร็ว ส่งผลใหังคนในวัยทำงานมีสัดส่วนลดลง

จากจำนวนแรงงานในปัจจุบันทั้งสิ้น 38.32 ล้านคน อยู่ในช่วงอายุ 40-59 ปี 15.76 ล้านคน คิดเป็น 41.1% ขณะที่ช่วงอายุ 25-39 ปี ซึ่งเป็นช่วงกำลังคนในวัยทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีจำนวน 14.49 ล้านคน คิดเป็น 37.8% ขณะที่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 11% ของประชากรทั้งประเทศ 65 ล้านคน และผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 270,000 คน เสียชีวิตปีละ 200,000 คน เป็นตัวเลขบ่งชี้ให้รัฐบาลต้องเตรียมดูแลสวัสดิการสังคมให้คนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้เมื่อไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่ สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีได้ในปี 58 ไทยต้องเผชิญการไหลออกของแรงงานมีฝีมือและกลุ่มวิชาชีพ เช่น ปัจจุบันอาชีพแพทย์ไหลไปทำงานในต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งสัญญาณตลาดแรงงานตึงตัวต่อเนื่องยังเป็นแรงกดดันต่อค่าจ้าง ราคาสินค้า และค่าครองชีพโดยรวมให้สูงขึ้นในระยะต่อไปได้ ที่สำคัญ ในปัจจุบันระบบการจ่ายค่าจ้างส่วนใหญ่ยังอิง กับระดับการศึกษามากกว่าทักษะหรือความสามารถเฉพาะ ทำให้ผลตอบแทนแรงงานบางกลุ่มไม่สะท้อนผลิตภาพที่แท้จริง และค่าจ้างแท้จริงโดยเฉลี่ยยังเพิ่มขึ้นน้อย จึงควร ปรับมาใช้ระบบการจ่ายค่าจ้างตามสมรรถนะหรือความเชี่ยวชาญ เหมือนในอุตสาหกรรมพาณิชย์นาวี และปิโตรเคมี คนที่จบระดับ ปวส. เงินเดือน 30,000 บาท หรือทำงานเดินเรือทะเล เดือนละ 60,000 บาท

นางสุวรรณีกล่าวว่าปี 52 เป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของไทยเพราะคนไทยได้รับความช่วยเหลือ สวัสดิการสังคม บริการทางสังคมและหลักประกันมากขึ้น แต่การพัฒนางานคุ้มครองทางสังคมยังไม่ประสบความสำเร็จในเชิงคุณภาพ เพราะขาดการขับเคลื่อนที่ต่อเนื่องซ้ำซ้อน มีปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มเป้าหมายและความซับซ้อนของปัญหามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องเพิ่มการลงทุนด้านสวัสดิการสังคม จัดทำระบบฐานข้อมูลประชากรของประเทศ ทั้งในระดับพื้นที่ จำแนกกลุ่มคนตามวัยอาชีพ เพศและรายได้ เพื่อจัดทำกลุ่มเป้าหมายในการให้ความคุ้มครองทางสังคมประเภทต่าง ๆ ชุม ชนใช้ศักยภาพของตนเองและทุนทางสังคมมาใช้ในการจัดสวัสดิการและบริการให้กับคนในชุมชน.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook