วุฒิสภานัดถอดถอน นพดล 12 มี.ค.

วุฒิสภานัดถอดถอน นพดล 12 มี.ค.

วุฒิสภานัดถอดถอน นพดล 12 มี.ค.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นพดล ปัทมะ ยืนยันไม่มีส่วนทำให้ไทยเสียดินแดนพื้นที่ทับซ้อน เขาพระวิหาร ปัดเอื้อประโยชน์ให้อดีตนายกรัฐมนตรีท้ามีหลักฐาน มารับเงินล้านได้เลย วุฒิสภา นัด 2 ฝ่าย ยื่นเอกสารแถลงปิดสำนวน 9 มี.ค. และนัดประชุมถอดถอน 12 มี.ค.

การประชุมวุฒิสภานัดพิเศษ มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน พิจารณาดำเนินการถอดถอน นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีเห็นชอบให้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งในส่วนของ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาได้มอบหมายให้ นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้แจง ขณะที่นายนพดล ปัทมะ ผู้ถูกกล่าวหา ได้เดินทางเข้าชี้แจงด้วยตนเอง คำถามของสมาชิกรวม 44 คำถาม ส่วนใหญ่มุ่งเน้นผลกระทบต่อการลงนามในแถลงการณ์ร่วม

นายวิชัย กล่าวว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา มีผลต่อความเห็นคณะกรรมการมรดกโลก แม้จะไม่มีการนำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา แต่คณะกรรมการบางคนยังเชื่อตามคำแถลงการณ์ของ 2 ประเทศ พร้อมเห็นว่าการพ้นจากตำแหน่งของนายนพดล ไม่ทำให้การไต่สวนของ ป.ป.ช.สิ้นประโยชน์ลง ยืนยันว่าดำเนินการทุกอย่างตามหลักฐานและขั้นตอน ไม่ใช้ความรู้สึกส่วนตัว และไม่วินิจฉัยนอกสำนวน

ขณะที่ นายนพดล ชี้แจงว่า เนื้อหาในแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย- กัมพูชา ไม่มีตอนใดที่รัฐบาลไทยขอสละสิทธิ์ในการทวงคืนปราสาทพระวิหาร ส่วนที่ไม่ขอรื้อฟื้นคดีเป็นเพราะคำตัดสินของศาลโลกตัดสินถือว่าเป็นที่สิ้นสุด อีกทั้งการรื้อฟื้นคดีสามารถทำได้ภายใน 10 ปี หลังมีคำพิพากษา แต่ขณะนั้นเวลาได้ล่วงเลยมา 47 ปีแล้ว จึงพ้นเวลาที่จะรื้อฟื้นคดีได้ มั่นใจว่าตนเองมีส่วนทำให้พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ไม่ถูกกัมพูชานำไปขึ้นทะเบียนพร้อมตัวปราสาทพระวิหารในครั้งนั้น และทำให้กัมพูชายอมรับเป็นครั้งแรกว่ามีพื้นที่ทับซ้อนรวมอยู่ด้วย

นายนพดล กล่าวว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไม่มีผลต่อการตัดสินคดีของคณะกรรมการมรดกโลก เพราะได้แจ้งระงับไม่ให้คณะกรรมการนำเข้าสู่การพิจารณาตามที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว นอกจากนี้ยังย้ำว่าดำเนินการทุกอย่างเพื่อปกป้องดินแดน ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งในเรื่องสัมปทานพลังงาน และสถานที่บันเทิงครบวงจรตามที่มีการตั้งข้อสังเกต หากมีหลักฐานว่าตนมีส่วนทำให้ผู้ใดได้รับประโยชน์ ขอให้มารับเงิน 1 ล้านบาทได้ทันที

นายนพดล กล่าวว่า ยอมรับว่ากระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ไม่ได้เสนอให้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ไม่ได้จงใจกระทำการฝ่าฝืน หรือขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าว การตีความกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ อาจไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการนิติธรรม และอาจสร้างความเสียหายในบ้านเมืองได้

ภายหลังตอบข้อซักถาม ประธานวุฒิสภาได้นัดให้ทั้ง 2 ฝ่าย ยื่นเอกสารแถลงปิดสำนวนในวันที่ 9 มีนาคม และนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อลงมติว่าจะถอดถอน นายนพดล หรือไม่ ในวันที่ 12 มี.ค. เวลา 10.00 น

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook