เผยการเมืองไทยต้องเปลี่ยนแปลงคดีทักษิณไม่จบ

เผยการเมืองไทยต้องเปลี่ยนแปลงคดีทักษิณไม่จบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
องค์กรอิสระ-นักวิชาการ-นักการเมืองชี้การเมืองไทยต้องเปลี่ยนแปลง ฟันธงคดีแม้วยังไม่จบเสี่ยอ๋อยตั้งคำถามสังคมไทยจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้อย่างไร เผยปม 2 มาตรฐานชนวนปะทะเดือด สวด หล่อโย่ง สวนทาง ปชต. พร้อมถล่ม ป.ป.ช. เกียร์ว่างไม่ตรวจสอบ กองทัพ ฉาวโฉ่ ฟาก อ.ลิขิต ธีรเวคิน ย้ำต้องคงสถาบันกษัตริย์เป็นประมุขเอาไว้ ด้าน วิชา มหาคุณ แย้มไม่อยากออกงานสังคม หวั่นคนจ้องล็อบบี้ ยกคดีทุจริตสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ อำนาจเถื่อน แรงมาก วอนปลัดกระทรวงโต้โผต้านงาบ

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ มูลนิธิสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย จัดเสวนาเรื่อง ประเทศไทยหลังวันที่ 26 ก.พ. 53 นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ไม่ยึดว่าหลังวันที่ 26 ก.พ. จะเกิดอะไรขึ้น แต่มองว่าวันที่ 26 ก.พ. เป็น การตกผลึกทางการเมือง การปกครองสมัยใหม่ที่ตกทอดมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ต้องการให้การเมืองไทยดีขึ้น โดยเฉพาะการแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน คดีนี้เป็นการชี้ถึงการร่ำรวยผิดปกติซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ และชี้ให้เห็นว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ถูกใช้รองรับการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิด โดยเฉพาะการเปลี่ยน ดาวเทียมหลักเป็นดาวเทียมสำรอง

นายวิชา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ไม่ค่อยอยากออกงานกลางคืนพบหน้าผู้คน เนื่องจากออกไปไหนมักมีคนเข้ามาบอกว่าอย่าทำอะไรแรงนัก บ้างก็มาต่อว่า หรือบางครั้งก็มาให้ข้อมูลคอร์รัปชั่น แค่เรื่องแอร์พอร์ต ลิงก์ ก็สร้างขึ้นมาจากความทุจริตจนถึงขณะ นี้ก็ยังเปิดใช้ไม่ได้ ช่องทางการทุจริตมันง่ายมาก ทุกภาคส่วนต้องอย่านิ่งเฉย ป.ป.ช. ทำให้ตายก็แก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าทุกกระทรวงไม่ยืนหยัดขึ้นมา ปลัดแต่ละกระทรวงต้องมีหลักการที่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร

การสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ ข้อสอบ 140 คน ลายมือเหมือนกัน ตอบเหมือนกัน จนกรรมการ ป.ป.ช. ที่รับเรื่องนี้บอกไม่ไหวแล้ว ต้องให้กรรมการคนอื่นลงมาช่วย เรื่องนี้เป็นการใช้อำนาจที่แรงมาก ถ้าเราหยุดคอร์รัปชั่นไม่ได้ บ้านเมืองเราจะไปไม่รอด เราต้องเริ่มทำความเข้าใจว่า จริยธรรมสาธารณะต้องมาก่อนประโยชน์ส่วนตน กรรมการ ป.ป.ช. ระบุ

นายลิขิต ธีรเวคิน ผอ.โครงการปริญญาเอก วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยลัยเกริก กล่าวว่า วัฒนธรรมทางการเมืองไทย ไม่เหมือนที่ใดในโลก เพราะมี 5 ส. คือ 1.สี 2.สื่อ 3.สัญลักษณ์ 4.ไสยศาสตร์ และ 5.เสียงพยากรณ์ อย่างไรก็ดีภาคชนบทเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น มีความตื่นตัวมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่จบ คำถามที่ยากที่สุด คือ จะทำอย่างไรต่อไปในอนาคต ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นมาก เหมือน ต้นไม้ประชาธิปไตยที่งอกงามเร็วเกินไปจนอาจตายได้เร็ว ดังนั้น ต้องมีการสร้างระบบ ที่ตอบสนองต่อความเจริญทางการเมืองได้ในทุกส่วน แต่ที่สำคัญระบบเก่า นั่นคือ การมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เอาไว้

ขณะที่ นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา กล่าวในเวทีเดียวกันว่า หลังวันที่ 26 ก.พ. ยังมีคดีค้างอยู่อีก 11 คดี และอยู่ในชั้น ป.ป.ช. อีก 4 คดี ทั้งนี้ตนเพิ่งกลับจากภาคอีสานได้เห็นการปลุกระดม แต่ไม่ทราบว่าจะได้ตามที่คาดไว้หรือไม่ เพราะทุกอย่างต้องอยู่ที่เม็ดเงิน อย่างไรก็ตามวันที่ 13-14 มี.ค. อาจมีกลุ่มฮาร์ดคอร์มาทำให้วุ่นวายบ้าง แต่เชื่อว่าในการชุมนุมจะไม่มีความรุนแรง รัฐบาลจะคุมสถานการณ์ได้ ไม่ยุบสภา และไม่มีเหตุปฏิวัติ เพราะไม่มีเงื่อนไขให้เกิด และถ้ามีปฏิวัติ ทุกสีจะมุ่งเป้าไปที่สีเขียว ซึ่งขณะนี้ก็มีปัญหาหลายอย่าง เช่น เรื่องซื้อตะเกียบ มาใช้งานสอบสวน อยากได้อะไรจนลืมนึกถึงความชอบธรรม

วันเดียวกัน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดงานราชดำเนินเสวนาเรื่อง สังคมไทยเรียนรู้อะไรจากคดียึดทรัพย์ โดย ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นักวิชาการบางคนบอกว่าอย่าใช้รัฐประหารแก้คอร์รัปชั่น เพราะจะละลายความชอบธรรมและกระบวน การยุติธรรมจะเสียความชอบธรรมนั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะกระบวนการยุติธรรมมีอิสระเป็นตัวของตัวเอง ใช้เหตุผลในการตัดสิน ไม่ใช้อำนาจในการตัดสิน

ส่วนที่มีข้อทักท้วงว่าคำพิพากษา ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทบต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น นัก วิชาการรายนี้ กล่าวว่า เป็นความเข้าใจผิด เพราะศาลฎีกาฯ ไม่ได้พิพากษาว่าคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาฯ พิพากษาว่าคนใช้กฎหมายเป็นคนผิด เพราะใช้กฎหมายสรรพสามิตไปเอื้อประโยชน์ และพิพากษาให้ยึดทรัพย์เฉพาะส่วนที่เพิ่ม โดยผิดปกติเท่านั้น

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ออกมาระบุว่าถ้าไม่มีรัฐประหาร ไม่มีคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จะไม่มีความยุติธรรม เป็นความคิดที่เป็นอันตรายต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นและระบอบประชาธิปไตย เพราะการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ได้อยู่ที่คดียึดทรัพย์เท่านั้น อีกทั้ง คตส. ก็แต่งตั้งมาจากคนที่ปฏิปักษ์ต่อกันอย่างชัดเจนทำให้ กระบวนการยุติธรรมได้รับผลกระทบ คือ ทำรัฐประหารแล้วผสมผสานด้วยตุลาการภิวัตน์ ทำให้คนอาจมองคดีนี้เป็นส่วนของกระบวนการตุลาการภิวัตน์หรือไม่

คณะรัฐประหารตั้งองค์กรต่าง ๆ ทั้ง คตส. ป.ป.ช. กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) องค์กรเหล่านี้จึงไม่มีความเป็นอิสระ มีสังกัดชัดเจน นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ ยังมีปัญหาการสร้างระบบตรวจสอบที่ไม่เป็นอิสระ เช่น เรื่องจีที 200 เรื่องบอลลูน ที่เห็นชัดมาก เพราะอยู่บนยอดน้ำแข็ง แต่ไม่มีใครดำน้ำได้ เพราะเย็นจัด องค์กรที่ตรวจสอบคอร์รัปชั่นเป็นพวกเดียวกัน เกื้อกูลกันมาตั้งแต่การเข้ามามีอำนาจและการดำรงอยู่ การถอดถอน เราจึงได้กระบวนการตรวจสอบการคอร์รัป ชั่นที่ล้มเหลว ไม่สามารถไปอธิบายความชอบธรรมของระบบนี้ทั้งหมดได้ อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ระบุ

นายจาตุรนต์ ตั้งข้อสังเกตว่า จากปัญหานี้ทำให้เกิดการแบ่งขั้วที่เข้มข้นขึ้นยิ่ง กว่าในช่วงใด ๆ ที่ผ่านมา และจะส่งผลให้สังคมไทยไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น เพราะ คิดคนละทาง บางคนนิยมรัฐประหาร อีกส่วนบอกว่าการยึดอำนาจทำให้ไม่เป็นประชา ธิปไตยและไม่ยุติธรรม ปัญหาที่ตามมา คือ สังคมไทยต้องก้าวไปสู่ความเปลี่ยน แต่จะเลี่ยงความรุนแรงในสังคมได้อย่างไร.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook