เตือนปชช.42จ.ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน

เตือนปชช.42จ.ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 8 - 12 มีนาคม 2553 ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จะมีสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้เกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย และพืชผลทางการเกษตร ในพื้นที่เสี่ยงภัย 42 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 42 จังหวัดดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมการป้องกันอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยตัดโค่นกิ่งไม้ที่ไม่มั่นคงแข็งแรง บริเวณชุมชนและบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ดูแลผลผลิตทางการเกษตรเป็นพิเศษ รวมถึงตรวจสอบป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง รวมทั้งได้สั่งการให้ศูนย์ ปภ. เขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที



นายอนุชา กล่าวเตือนประชาชนว่า ในขณะที่เกิดพายุฤดูร้อน ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในยามฉุกเฉินให้เพียงพอ เช่น เครื่องอุปโภคบริโภค ไฟฉาย ไม้ขีดไฟ ถ่านไฟฉาย เทียนไข หลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้านขณะเกิดพายุ เพราะจะเสี่ยงต่อการโดนสิ่งของปลิวใส่หรือล้มทับ หากอยู่ในอาคารควรปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันแรงลมหอบพัดบ้านเรือน กรณีอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้หลบเข้าไปในอาคารหรือที่กำบัง เพื่อป้องกันมิให้กิ่งไม้ ต้นไม้ หรือเศษวัสดุปลิวใส่จนได้รับอันตราย แต่ไม่ควรหลบใต้ต้นไม้หรือป้ายโฆษณา เพราะอาจโดนล้มทับ ที่สำคัญ ไม่ควรหลบใต้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ไม่สวมเครื่องประดับประเภททองคำ ทองแดง เงิน ซึ่งมีส่วนประกอบของโลหะ และเป็นสื่อนำไฟฟ้า อีกทั้งควรงดใช้อุปกรณ์สื่อสาร ตลอดจนไม่ประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ทำนา เล่นกีฬา เพื่อป้องกันการถูกฟ้าผ่า

สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook