เสียงสันติวิธี ''อย่าตีกันอันนี้ดีแน่''

เสียงสันติวิธี ''อย่าตีกันอันนี้ดีแน่''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มีคำถามเกิดขึ้นมาทันทีว่า พลังเงียบ หรือกลุ่มคนที่ ไม่ต้องการเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมไทยโดยเฉพาะการชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดงวันที่ 14 มี.ค. มาช้าเกินไปหรือเปล่า ทีมการเมืองเดลินิวส์ ได้สัมภาษณ์ นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้นำเสนอแนว ทาง ยุติความรุนแรง

** อะไรดลใจที่ทำให้มาพูดคุยกับคุณวีระ มุสิกพงศ์ ประธานนปช.

เราได้ข่าวว่า จะมีการชุมนุม แล้วทางฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้ชุมนุมก็ประเมินว่าจะมากันเป็นแสนคน ถ้าเราไม่ระวัง จะเป็นฉนวนนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย เพราะอารมณ์มันร้อนแรง ทางศูนย์การศึกษาและพัฒนาสันติวิธีจึงอดเป็นห่วงไม่ได้ แม้ฝ่ายผู้ชุมนุมจะบอกว่าสันติและรัฐบาลจะยึดสันติ แต่คำพูดอย่างเดียวคงไม่พอ มันต้องมีการจัดระบบงาน แนวคิดอันแรกคือว่า เรื่องความรุนแรงจะผลักให้เป็นเรื่องของรัฐบาลหรือผลักให้เป็นเรื่องของผู้ชุมนุม ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ หากจะทำให้สันติจริง ๆ ต้องร่วมมือกัน ต้องรับผิดชอบร่วมกัน และต้องมีระบบงานที่ดี ระบบงานที่ดีแปลว่า 1. ต้องมีคน 2. มีแผนงาน 3. มีเครื่องมือ ในส่วนของแผนงานก็ต้องว่าไป หากเกินเหตุแบบนี้จะรับมืออย่างไร ก็หมายความว่าการมีแผนงานคือการวางระดับชั้นควบคุม ทางฝ่ายผู้ชุมนุมก็ต้องมีคนส่วนกลางและคนรับผิดชอบในแต่ละส่วน แยกย่อยลงไปจนถึงระดับคนกลุ่มเล็ก ๆ

ที่สำคัญจะต้องมีระบบสื่อสารที่ดี แล้วจะต้องมีการฝึกระงับเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อระงับเหตุเบื้องต้น และต้องมีแผนที่จะอธิบายกับผู้มาชุมนุมว่า อย่าใช้อารมณ์ พูดง่าย ๆ ก็คืออย่าลุแก่โทสะ จะต้องควบคุมสติ ผมจึงอยากฝากข้อความเหล่านี้ไปยังผู้ชุมนุมผ่านคุณวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. ก็ต้องดูว่า ข้อเสนอ อย่างนี้การชุมนุมจะรับได้หรือไม่ ซึ่งคุณวีระก็บอกว่ารับได้ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี

** ก่อนหน้านี้บทบาทศูนย์สันติวิธีหายไปแต่กลับออกมาในช่วงที่สถานการณ์ใกล้สุกงอม

ยอมรับว่าก็ใช่ที่ศูนย์สันติวิธีเงียบไปเพราะเรากำลังรับฟังข่าว อยู่ ถ้าจำกันได้ก่อนหน้านี้วันที่ 26 ก.พ. ที่มีการตัดสินคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เขาบอกว่าจะรุนแรง รัฐบาล ก็เตรียมการตั้งรับมากมาย ช่วงนั้นเราประเมินดูแล้วไม่มีอะไรน่าห่วง เราจึงไม่ได้ทำอะไร แต่พอมาช่วงนี้ ข่าวคราวที่เข้ามามันแรงก็เกิดความ ห่วงใยมากขึ้น เพราะเหตุการณ์วันที่ 14 มี.ค. จะไม่เหมือนวที่ 26 ก.พ. เนื่องจากรัฐก็ยืนยันว่าจะมาเป็นแสน ฝ่ายผู้ชุมนุมก็บอกว่าจะมาหลักล้าน เราเลยเฉยไม่ได้ต้องแสดงบทบาทในทางสันติ

** บทบาทตอนนี้ช้าไปหรือไม่

ช้าดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

** มีการตั้งข้อสังเกตว่าที่ออกมาช่วงนี้อาจจะได้รับสัญญาณเพื่อให้มีคนกลางเจรจาก่อนการชุมนุม

ไม่มีสัญญาณจากใครแน่นอนพูดกันตามจริงมีเพื่อนคนหนึ่งโทรศัพท์มาหาผม พูดคุยถึงแนวทางที่จะทำให้บ้านเมืองอยู่อย่างสันติ ผมจึงต้องหาข้อมูลพอจะเริ่มประชุมครั้งแรกกับองค์กรสิทธิมนุษยชน ประมาณหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันฝ่ายสมาคมนักข่าวฯ ก็ออกโรง ซึ่งเวลาก็กระชั้นชิดแล้วเมื่อได้ข้อสรุปแนวทางจึงได้มาพูดคุยแต่ก็ยอมรับว่าเราออกตัวช้าไปหน่อย เนื่องจากฟังข่าวครั้งแรกก็ยังไม่เป็นห่วง แต่พอข้อมูลเข้ามามากจึงเกิดความวิตก เห็นว่าต้องมาพูดคุยเสนอแนวทาง

** สถานการณ์ที่ประชาชนแตกแยกเป็นสองฝ่ายมองว่าประชาชนควรทำตัวอย่างไรดี

ง่ายนิดเดียว ข้อแรกประชาชนต้องเป็นผู้เฝ้าดูอย่างรู้เท่าทัน เหมือนกับการแข่งขันฟุตบอลที่ผู้ชมก็ต้องรู้กติกาว่าอย่างไหนสันติเพราะการแข่งขันบอลมันสามารถตบตากรรมการได้ ซึ่งคนดูก็ต้อง ดูว่าแบบนี้มันล้ำหน้าหรือไม่ ข้อสองประชาชนต้องแลกเปลี่ยนกัน เหตุผลของฝ่ายไหนรับได้รับไม่ได้จะเกิดสันติหรือไม่สันติ แล้วก็แสดงออก อยากให้ประชาชนโฟนอินเข้าไปตามสื่อวิทยุโทรทัศน์ ไม่สนับสนุนความรุนแรง ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดกระแสของสังคมและถ้าทำอีกขั้นหนึ่งขึ้นไป ประชาชนไม่ควรดูเฉย ๆ ต้องทำหน้าที่นักข่าวพลเมืองให้ถือเครื่องบันทึกเสียง และใช้โทรศัพท์มือถือที่มีกล้องถ่ายภาพเหตุการณ์ไว้เป็นหูเป็นตาป้องกันเหตุร้าย เพื่อให้ คนที่คิดประสงค์ร้ายรู้ว่ามีการจับตาดูอยู่จะได้ไม่กล้าทำบาป แบบนี้ประชาชนก็ช่วยได้ ขณะเดียวกันสื่อก็ต้องเปิดพื้นที่ให้ ส่วนรัฐก็มีหลัก ฐานเล่นงานคนร้ายบ้านเมืองก็จะไปได้

** การเจรจาเพื่อหาแนวทางสันติกับคนสองฝ่ายควรที่จะเจรจา กับคนที่มีอำนาจสูงสุดเช่น พ.ต.ท.ทักษิณ

ขั้นตอนนั้นจะเริ่มได้มันต้องพ้นด่านตรงนี้ไปก่อน หมาย ความว่าชุมนุมกันแล้วไม่มีความรุนแรงโดยร่วมมือไม่ให้เกิดความรุนแรงเพราะการร่วมมือจะช่วยสร้าง เนื่องจากขณะนี้มันไม่มีความ ไว้วางใจ ถ้าร่วมมือระงับความรุนแรงได้ความไว้วางใจก็จะตามมา ก็จะคุยกันได้ บ้างไม่เช่นนั้นทั้งสองฝ่ายจะไม่คุยกันเลย ผมคิดว่าเป็นสิ่งดีที่รัฐบาลตั้งคุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. มาพูดคุยกัน อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณที่ดี

** พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าต้องการให้นิรโทษ กรรมและคืนทรัพย์ขณะที่รัฐบาลยืนยันว่าต้องเคารพกฎหมายแล้วจะคุยกันรู้เรื่องหรือ

เรื่องจุดยืนมันคุยกันไม่ได้หรอก แต่ที่นอกเหนือจากจุดยืนคือยังมีผลประโยชน์ คุณค่า ความต้องการพื้นฐาน การขยายพื้นที่เพื่อพูดคุยกัน ถ้าคุณมัวแต่เอาจุดยืนก็คุยกันไม่ได้ บอกไปซ้ายก็ไปขวา มันก็ไปกันคนละทาง แต่ถ้าบอกว่าเราจะไปซ้ายเพื่ออะไร แต่ถ้าไม่มีการพูดคุยกันเลยก็ไม่สันติ ไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหนศูนย์สันติวิธีก็จะพยายามให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกัน ขณะเดียวกันเราก็จะก้าวข้ามความขัดแย้ง เพราะความขัดแย้งในอดีตต่างฝ่ายต่างช้ำมาเยอะแล้ว มาถึงวันนี้คุณเอาประเทศไทยเป็นตัวตั้งได้ไหม เราอยากเห็นภาพ วิสัยทัศน์สิ่งที่ดีงาม ในอนาคตเราอยากเห็นอย่างไร ถ้าเราสร้างภาพร่วมได้ มันก็จะเคลื่อนตัวไปข้างหน้า อดีต ปัจจุบันจะได้เคลื่อนไปสู่อนาคต นี่คือ กุศโลบาย แต่ถ้ามาบอกว่าต้องแก้ไขปัญหาในอดีต ซึ่งปัญหามันเยอะมันก็ผ่านไปไม่ได้ อย่างไรเราก็ต้องอยู่ร่วมกันอยู่แล้ว

** ถ้าถอยกันคนละก้าว รัฐบาลประกาศยุบสภา ขณะที่กลุ่มเสื้อแดงเลิกชุมนุมจะสันติไหม

ถอยกันคนละก้าวบางทีก็ดี บางทีก็ไม่ดีถามว่ามันแก้ปัญหาหรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ อย่าตีกัน อันนี้ดีแน่ แล้วจะร่วมมือกันในเรื่องไหนต่อไปอันนี้ค่อยว่ากันอีกที แต่ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องตกลงกันหมดเห็นดีเห็นงาม เหมือนกันหมด

** หลังจากนี้จะติดตามข้อเสนอที่นำมามอบให้แต่ละฝ่าย อย่างไร

อย่างไรก็ต้องติดตาม ซึ่งผมได้ขอเบอร์โทรศัพท์แกนนำ นปช. ไว้แล้ว เส้นทางการสื่อสารระหว่างผมกับคุณวีระ มีอยู่แล้ว ก็เอาใจช่วยทุกฝ่ายเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook