รายงานพิเศษ : โครงการรณรงค์ยุติความรุนแรง ต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว

รายงานพิเศษ : โครงการรณรงค์ยุติความรุนแรง ต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ปัจจุบันปัญหาสังคมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวมากขึ้น ด้วยเหตุนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงมีโครงการการรณรงค์ยุติความรุนแรง ต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวลดลง จากสถิติความรุนแรงในครอบครัวปี 2552 มีการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและคนในครอบครัว 73 รายต่อวัน หรือทุก 2 นาที จะมีผู้ถูกกระทำความรุนแรง 1 ราย และที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ที่กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิด เช่น สามี หรือคนในครอบครัวมากถึงร้อยละ 80 ซึ่งเป็นสถิติที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหา นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัญหาสังคมถือเป็นปัญหาหลักในการก่อให้เกิดการกระทำความรุนแรง แผนเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างด้านพื้นฐาน การลงทุน จนลืมพัฒนาปัญหาทางด้านสังคมทำให้สังคมพัฒนาไปช้า และก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาข่าวการกระทำความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งความรุนแรงในสังคม ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาจึงได้ออกกฎหมาย พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้กระทำความผิด และให้ความสำคัญถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยไม่เน้นการลงโทษผู้กระทำความผิดในทันทีแต่เป็นการตักเตือนผู้ที่กระทำผิด ซึ่งหากพบเห็นการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที ซึ่งสามารถแจ้งได้ทั้งตำรวจ หรือแจ้งศูนย์ประชาบดี หากผู้ที่เห็นการกระทำความผิดแล้วไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ ถือว่ามีความผิดด้วย รวมทั้งหากมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ไม่รับแจ้งก็สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ เพราะถือเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากมาตรการทางกฎหมายแล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังได้รณรงค์เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิด เชื่อว่าเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาทางสังคมได้ ที่ผ่านมาได้รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากทำให้ประชาชนได้รับรู้สิทธิของตนเองมากขึ้น และขณะเดียวกันยอดของการกระทำความรุนแรงในทางจิตวิทยานั้น ลดลงแต่ในทางตัวเลขสูงขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ไม่มี พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว ผู้ถูกกระทำไม่กล้าที่จะออกมาเรียกร้องหรือแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ แต่ภายหลังจากที่มี พระราชบัญญัติ ฉบับนี้แล้ว ทำให้กล้าที่จะออกมาเปิดเผยและกล้าที่จะแจ้งเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจึงทำให้มีตัวเลขสูงขึ้น นายอิสสระ เชื่อว่า ต่อไปตัวเลขของการกระทำความรุนแรงก็จะลดลง และยังเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะประสบผลสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ได้ขอความร่วมมือจากประชาชน ให้ร่วมกัน ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรง และหากพบเห็นการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ขอให้ช่วยกันแจ้งเจ้าหน้าที่ และอยากให้ทุกครอบครัวหันมาใส่ใจคนในครอบครัวกันให้มากขึ้น หันหน้าเข้าหากัน สร้างความรักให้แก่ครอบครัว เพื่อป้องกันการเกิดความรุนแรง ให้สังคมอยู่ด้วยกันอย่างมีสันติสุข โดยเริ่มต้นจากครอบครัวก่อนเป็นอันดับแรก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook