เจรจาสันติภาพ''อาเจะห์''

เจรจาสันติภาพ''อาเจะห์''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
การเจรจาของรัฐบาลกับกลุ่ม นปช. อาจเป็นหนทางยุติปัญหา เหมือนกรณี อาเจะห์ กับตำนานการต่อสู้ที่แตกต่างทางแนวคิดจนนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2519 หลังรัฐบาลอินโดนีเซีย พยายามเอาอาเจะห์มารวมและให้อยู่ในอาณัติ ทำให้มีขบวนการต่อสู้เกิดขึ้นในรูปแบบสงครามกองโจรมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก อีกทั้งมีการปราบปรามจากรัฐบาลขนาดหนัก คาดว่ามีผู้เสียชีวิตไปประมาณ 15,000 คน

เมื่อความรุนแรงไม่สามารถยุติปัญหาที่เกิดขึ้น ย่อมมีแนวทางดับไฟแห่งความรุนแรง แนวทางเจรจาสันติภาพจึงเกิดขึ้น ผู้นำของขบวนการอาเจะห์เสรีที่สำคัญรวมทั้ง ฮะซัน ดี ติโร ได้ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่สวีเดน กลุ่มนี้เริ่มเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลเมื่อราว พ.ศ. 2533 โดยการประสานงานของรัฐบาลสวีเดน จากนั้น ขบวนการอาเจะห์เสรี ได้แตกแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มดั้งเดิม (แนวร่วมปลดปล่อยชาติอาเจะห์แห่งสุมาตรา) และกลุ่มสภาแห่งรัฐขบวนการอาเจะห์เสรี แต่ยังคงมีการลอบสังหารผู้นำกลุ่มกันอยู่ การเจรจาจึงยังไม่คืบหน้าไปเท่าใดนัก

แต่หลังสึนามิพัดเข้าใส่จังหวัดอาเจะห์ ทำให้ขบวนการอาเจะห์เสรีประกาศสงบศึกเมื่อ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2547 และยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอินโดนีเซีย หลังจากนั้นได้มีการประชุมเจรจาสันติภาพระหว่างกันเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ที่ประเทศฟินแลนด์และมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2548 จนนำไปสู่การถอนกำลังทหารจากรัฐบาล และมีการนิรโทษกรรม การปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง ยอมให้เลือกตั้ง ผู้นำกองโจรจึงวางอาวุธ เพื่อเข้าร่วมกระบวนการสร้างสันติภาพ จนนำไป สู่การเลือกตั้งในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2549 สะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งว่า ทั้งสงคราม การใช้กำลัง เมื่อประลองกันไปแล้ว สุดท้ายก็ต้องกลับมาเจรจากัน.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook