การเมืองดึงดัชนีอุตฯสะดุด

การเมืองดึงดัชนีอุตฯสะดุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ทรุดครั้งแรกใน 6 เดือน เร่งรัฐปลุกความเชื่อมั่น

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 53 อยู่ที่ระดับ 114.5 ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.ย.52 เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง และเป็นช่วง ตัดสินคดียึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ผู้ประกอบการเป็นห่วงเสถียรภาพการทำงานของรัฐบาล รวมถึงทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และการแข็งค่าของเงินบาทจนผู้ส่งออกเสียเปรียบคู่แข่ง

ทั้งนี้ปัจจัยที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการโดยด่วน เช่น อยากให้ควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองไม่ให้เกิดความรุนแรงซึ่งจะช่วยให้กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง, เร่งแก้ไขปัญหาโครงการมาบตาพุดอย่างเร่งด่วน, ส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศให้มาก, สนับสนุนการจัดหาแรงงานต่างด้าวและลดขั้นตอนในการจัดจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อ ให้แรงงานมีเพียงพอต่อความต้องการของ ภาคอุตสาหกรรม, คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการ, สนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของธุรกิจเอสเอ็มอี, เร่งลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเสริมศักยภาพการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมระยะยาว

แม้ว่าดัชนีเดือนก.พ. จะลดลงแต่ยังอยู่ในระดับเกิน 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เพราะคำสั่งซื้อมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นมั่นใจว่าการส่งออกของไทีนี้ขยายตัวเกิน 15% แน่นอน ส่วนไตรมาส 2 ของปี (เม.ย.-มิ.ย.) ก็ยังมีสัญญาณที่ดีเช่นกัน แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังคือ เศรษฐกิจโลก หากไม่ผันผวนอย่างรุนแรงโอกาสที่การส่งออกของไทยลดลงก็จะน้อยตามไปด้วย

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนล่วงหน้า ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 111 ในเดือนม.ค. มาอยู่ที่ระดับ 114.6 ในเดือนก.พ. เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมประเมินว่ายอดคำสั่งซื้อรวม ยอดขายรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการจะปรับตัวดี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังคงกังวลในเรื่องต้นทุนประกอบการในอนาคตที่อาจปรับตัวสูงขึ้นอีก จากราคาน้ำมัน ราคาน้ำตาล และวัตถุดิบอื่น

ส่วนอุตสาหกรรมที่ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก, เฟอร์นิเจอร์, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, โรงเลื่อย, โรงอบไม้, ก๊าซ, พลังงานทดแทน, สมุนไพร เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมที่ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น สิ่งทอ, เครื่องประดับ, ปูนซีเมนต์, ไม้อัด, เครื่องปรับอากาศ, อาหาร, ยา, ผู้ผลิตไฟฟ้า, ปิโตรเคมี, ผลิตภัณฑ์ยาง,พลาสติก เป็นต้น

ทั้งนี้ภาคเอกชนเป็นปัญหาสถาน การณ์ทางการเมือง แต่หากไม่มีการปิดระบบขนส่งที่สำคัญของประเทศ เช่น สนามบิน และท่าเรือที่ใช้สำหรับการขนส่งสินค้า ภาคอุตสาหกรรมก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมมากนัก หากจะกระทบคงเป็นภาค บริการ, การท่องเที่ยว และผู้ที่มาติดต่อธุรกิจในไทยที่ต้องเลื่อนหรือยกเลิกการเข้ามาเจรจาธุรกิจในไทย เพราะเกรงว่าจะเดินทางเข้าออกไม่สะดวก

ภาคเอกชนกำลังหารือกันอยู่ถึท่าทีต่อการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นหรือไม่ แต่คิดว่าต้นเดือนเม.ย.กลุ่มผู้ชุมนุมก็น่าจะแยกย้ายกันกลับบ้านเพื่อฉลองเทศกาลสงกรานต์ก่อนแล้วค่อยกลับมาใหม่ ซึ่งวันที่ 5 เม.ย.นี้ ภาคเอกชนคงจะมีการแถลงถึงจุดยืนในเวที กกร.

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รักษาการรองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ผลการสำรวจความเชื่อมั่นครั้งนี้พบว่าผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาการลงทุนในมาบตาพุด เพราะอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ โดยเท่าที่สอบถามนักธุรกิจญี่ปุ่นค่อนข้างพอใจกับการชี้แจงของกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลังที่ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา ทำให้นักธุรกิจญี่ปุ่นมีความมั่นใจว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นชั่วคราว โดยเฉพาะบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นที่เป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำของโรงงานเหล็กในมาบตาพุด และบริษัทดาวเคมีคอลยังเชื่อมั่นที่จะลงทุนต่อ

นอกจากนี้ภายในเดือน เม.ย. 53 จะได้ข้อสรุปของประเภทกิจการที่กระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง และการจัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะรับสมัครผู้มาเป็นกรรมการขององค์กรอิสระถึงวันที่ 26 มี.ค. 53 และคัดเลือกให้ได้ 13 คน.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook