สภาที่ปรึกษาเอกชน...การเตรียมพร้อมสำหรับ AEC

สภาที่ปรึกษาเอกชน...การเตรียมพร้อมสำหรับ AEC

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจต่อประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นอย่างมาก ดังนั้นเวลาที่เหลือก่อนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการ จึงมีไว้สำหรับประเทศ และภาคส่วนต่าง ๆ ในการเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จึงเป็นที่มาของการร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซีย ในการตั้งสภาที่ปรึกษาของเอกชน เพื่อรองรับ AEC ในอีก 5 ปีข้างหน้า สภาที่ปรึกษาของเอกชนคืออะไร? การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาของเอกชน เกิดขึ้นจากการคัดเลือกนักธุรกิจจากทั้งสองประเทศที่มีความสนใจทำธุรกิจร่วมกันเข้ามาเป็นกลุ่มนำร่องสานความสัมพันธ์เพื่อเดินหน้าทำธุรกิจร่วมกันต่อไปในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอ อุตสาหกรรมก่อสร้าง และพลังงานทดแทน โดยการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาของเอกชนโดยความร่วมมือไทย-มาเลเซียในครั้งนี้ ก็เพื่อให้ภาคเอกชนมาเลเซีย-ไทย มีโอกาสที่จะแสวงหาความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกัน เพื่อร่วมกันออกไปทำธุรกิจและลงทุน ตลอดจนเจาะตลาดการค้าและการลงทุนทั้งภูมิภาคอาเซียนด้วยกันและเพื่อรองรับการที่อาเซียนจะปรับไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี ค.ศ. 2015 ความสัมพันธ์และเป้าหมายของมาเลเซียและไทย มาเลเซีย และไทย เป็นพันธมิตรและเป็นคู่ค้าระหว่างกันมายาวนาน ปัจจุบันไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของมาเลเซีย ในขณะที่มาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย ด้วยมูลค่าการค้าระหว่างกัน 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี อย่างไรก็ตามความร่วมมือระหว่างกันจะเป็นโอกาสอันดีของทั้งสองประเทศในการทำการค้าร่วมกันของนักธุรกิจทั้งสองประเทศเพื่อรองรับการเปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียนและการรวมของอาเซียนเป็น AEC ความร่วมมือกับมาเลเซีย นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย เข้าหารือเรื่องความร่วมมือเศรษฐกิจ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย กับดาโต๊ะ สรี มุสตาปา โมฮัมเม็ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (MITI) ประเทศมาเลเซีย และเข้าพบหารือกับ ตัน ศรี เบอร์นาร์ด จิลุค ดอมปก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเพาะปลูกและโภคภัณฑ์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทย และมาเลเซีย ทำให้เกิดมิติใหม่ความสัมพันธ์ของมิตรประเทศที่ฝ่ายเอกชนไทยและเอกชนมาเลเซียจะร่วมมือและผนึกกำลังทางธุรกิจร่วมกันออกไปบุกตลาดประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศนอกกลุ่มอาเซียนต่อไปภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ โดยจะมีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษามาเลเซีย-ไทยขึ้นอีกครั้งด้วยการคัดเลือกนักธุรกิจจากทั้งสองประเทศที่มีความสนใจร่วมทำธุรกิจร่วมกันเข้ามาเป็นกลุ่มนำร่องสานความสัมพันธ์เพื่อเดินหน้าทำธุรกิจร่วมกันต่อไปในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอ อุตสาหกรรมก่อสร้าง และพลังงานทดแทน ความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน ฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้เสนอให้มีความร่วมมือระหว่างกันเพราะไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ และการเข้ามามีบทบาทของ CIMB GROUP มาเลเซีย ที่จะเข้ามามีส่วนสนับสนุนภาคเอกชนไทยร่วมกับรัฐบาลไทย เพื่อให้เอกชนไทย และมาเลเซียออกไปเปิดตลาด ความร่วมมือด้านการเพาะปลูกและโภคภัณฑ์ ในด้านการเพาะปลูกและโภคภัณฑ์ไทยและมาเลเซีย ตกลงร่วมกันที่จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเทคนิคเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันตั้งแต่การบริหารจัดการ ฟาร์ม ผลผลิต เมล็ดพันธ์จนถึงการแปรรูป เพราะประเทศมาเลเซียเป็นผู้นำในพืชเศรษฐกิจชนิดนี้กว่าไทยอยู่มาก ขณะที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องไบโอดีเซล ไทยจะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคนิคในส่วนนี้ร่วมกันกับประเทศมาเลเซียต่อไป ความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียในครั้งนี้ สะท้อนแนวคิดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ว่ามีพลังมากกว่าการดำเนินเดี่ยวมาก เพราะแต่ละประเทศต่างมีจุดอ่อนและจุดแข็งแตกต่างกันไป การแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ เพื่อเตรียมพร้อม เติมความขาดของกันและกันให้เต็ม อย่างเช่นการร่วมมือของไทยกับมาเลเซียในการตั้งสภาที่ปรึกษาของเอกชนครั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมกับการก้าวสู่การเป็น AEC ในอีกห้าปีข้างหน้า เรียกได้ว่าใครเตรียมตัวพร้อมกว่า ก็ย่อมได้ประโยชน์เร็วกว่าจากการเป็นประชาคมฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook