คกก.สอบคดีสินบนอุโมงค์นัดประชุม21ม.ค.หลังญี่ปุ่นขอข้อมูล สตง.บันทึกกล่าวโทษสมัคร-สหัสเข้าข่ายผิด

คกก.สอบคดีสินบนอุโมงค์นัดประชุม21ม.ค.หลังญี่ปุ่นขอข้อมูล สตง.บันทึกกล่าวโทษสมัคร-สหัสเข้าข่ายผิด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อัยการกรุงโตเกียวประสานทางการไทยสอบสวนคดีทุจริตบริษัท นิชิมัตสึ ฯ ติดสินบนอุโมงค์ 125 ล้านบาท อธิบดีอัยการฝ่ายคดีตปท.ยังไม่เห็นหนังสือ ปลัด กทม. ไม่ทราบ รองปลัด กทม. ในฐานะประธานสอบบอกยังไม่คืบหน้าหาหลักฐานไม่ได้ สะพัดคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนัดประชุม 21 ม.ค. สตง. ทำบันทึกกล่าวโทษเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ชื่อผู้ที่เข้าข่ายทำผิดสมัคร -สหัส และข้าราชการ

เมื่อวันที่ 14 มกราคม หนังสือพิมพ์อาซาฮีของญี่ปุ่นรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวในรัฐบาลไทยว่า ทีมสอบสวนของสำนักงานอัยการกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นได้ประสานขอความร่วมมือจากทางการไทยในการสอบสวนคดีทุจริตติดสินบนกรณีการประมูลโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ-ลาดพร้าวของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งสำนักงานอัยการญี่ปุ่นระบุว่า บริษัท นิชิมัตสึ คอนสตรั๊คชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลในโครงการดังกล่าว ได้ทำการติดสินบนเจ้าหน้าที่ไทยเป็นเงินจำนวน 200 ล้านเยน อัยการสูงสุด กล่าวว่า ได้รับหนังสือขอความร่วมมือจากต่างประเทศมา 1 ฉบับ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นกรณีของอัยการญี่ปุ่นขอความร่วมมือเรื่องอุโมงค์ใต้ดินหรือไม่

แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า ทางการไทยกำลังพิจารณาตรวจสอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับกรณีนี้ที่ทางสำนักงานอัยการกรุงโตเกียวได้นำมามอบให้ และจะตัดสินว่ากรณีนี้เข้าข่ายการติดสินบนภายใต้กฎหมายของไทยหรือไม่

ข่าวแจ้งว่า จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวใกล้ชิดกับบริษัท นิชิมัตสึ ระบุว่า กทม.ได้จัดประมูลโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ-ลาดพร้าวเมื่อปี 2546 ซึ่งบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทนิชิมัตสึและบริษัทผู้รับเหมาท้องถิ่นเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการนี้ไปด้วยมูลค่า 6,600 ล้านเยน ในขณะนั้นบริษัทนิชิมัตสึและบริษัทรับเหมาของไทยได้ตกลงกันว่าจะให้แต่ละฝ่ายร่วมกันลงขันจ่ายเงินค่าสินบนฝ่ายละ 200 ล้านเยนให้แก่บุคคลหนึ่งซึ่งภายหลังได้เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงใน กทม. โดยนิชิมัตสึได้มอบเงินสินบนในส่วนของตนที่เอามาจากกองทุนผิดกฎหมายของบริษัทให้แก่บริษัทผู้รับเหมาของไทยไป

รายงานข่าวระบุอีกว่า กรณีสินบนการประมูลโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำนี้กลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2551 แม้ทาง กทม.จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาสอบสวนกรณีนี้ แต่คณะทำงานชุดดังกล่าวก็ไม่พบว่ามีการกระทำผิดใดๆ ขณะที่บริษัทนิชิมัตสึได้ถูกสำนักงานอัยการกรุงโตเกียวตรวจสอบ หลังจากนายคาสุฮิโกะ ทาคาฮาระ อดีตรองหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการต่างประเทศของบริษัทนิชิมัตสึถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหายักยอกเงินกองทุนลับของบริษัทในโครงการต่างประเทศไป

ด้านนายชัยเกษม นิติศิริ อัยการสูงสุด กล่าวว่า ได้รับหนังสือขอความร่วมมือจากต่างประเทศมา 1 ฉบับ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นกรณีของอัยการญี่ปุ่นขอความร่วมมือเรื่องอุโมงค์ใต้ดินหรือไม่ ซึ่งได้ส่งเรื่องให้กับอธิบดีฝ่ายคดีต่างประเทศไปพิจารณา

ขณะที่นายศิริศักดิ์ ปิยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีต่างประเทศ กล่าวว่า ยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าวเนื่องจากอยู่ระหว่างการอบรม โดยขอเวลาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเสียก่อน

วันเดียวกัน นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัด กทม. กล่าวถึงกรณีที่อัยการกรุงโตเกียวได้เสนอหลักฐานคดีการเรียกรับสินบนกว่า 125 ล้านบาท ในโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ-ลาดพร้าว ในสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ว่าฯกทม. มายังรัฐบาลไทย ว่า ยังไม่ทราบ เห็นแต่ข่าวเท่านั้น หากมีการส่งหลักฐาน หรือข้อมูลมาจริง กทม.อาจจะส่งหนังสือเพื่อประสานขอข้อมูลดังกล่าว ส่วนความคืบหน้าในการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่มีการตั้งนายสมศักดิ์ กลั่นพจน์ รองปลัด กทม. เป็นประธานสอบนั้น ได้ตรวจสอบมาแล้ว 30 วัน ทั้งเอกสารและบุคคล หากได้ข้อมูลหลักฐานที่อัยการญี่ปุ่นส่งมายังรัฐบาลไทย เชื่อว่าจะทำให้การสอบสวนรวดเร็วขึ้น

ด้านนายสมศักดิ์ กลั่นพจน์ รองปลัด กทม. ในฐานะประธานสอบสวน กล่าวว่า สอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบหาหลักฐานได้ ก่อนหน้านี้เคยทำหนังสือข้อข้อมูลทุจริตดังกล่าวกับรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยอ้างว่าเป็นข้อมูลลับ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อ ส่วนหลักฐาน และข้อมูลที่อัยการญี่ปุ่นส่งมาให้รัฐบาลไทย เข้าใจว่าน่าจะส่งมาให้กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่ง กทม.คงต้องรอให้รัฐบาลส่งข้อมูลมาให้ กทม.ก่อน

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 21 มกราคมนี้ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ได้นัดประชุมเพื่อกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำบันทึกกล่าวโทษกรณีการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำดังกล่าว มาให้ กทม.ดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดย สตง.ได้ส่งเรื่องถึง กทม. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 และให้เวลา กทม.ดำเนินการภายใน 90 วัน นอกจากนี้ สตง.ยังแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการของ กทม.ได้แจ้งให้สำนักการระบายน้ำ (สนน.) รวบรวมข้อมูลส่งให้คณะกรรมการ แต่ สนน.ขอเลื่อน อ้างว่าเป็นข้อมูลเก่า 5-6 ปี จำเป็นต้องใช้เวลารวบรวมนาน

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า สำหรับบันทึกที่ สตง.ส่งมานั้น ระบุว่า จากการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ-ลาดพร้าว พบว่า มีผู้บริหารระดับสูงของ กทม. และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง มีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่โปร่งใสหลายประเด็น ทั้งการกำหนดราคากลางเกินกว่าความเป็นจริง มีเหตุให้ กทม.เสียหาย การกระทำที่ผิดขั้นตอนระเบียบการประกวดราคา ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน ส่วนหลักฐานการจ่ายสินบน สตง.ระบุว่า แม้จะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนจากทางการญี่ปุ่น แต่โดยภาพรวมก็พอฟังได้ว่าการดำเนินการไม่เป็นไปตามหน้าที่ จึงเห็นว่ามีความผิดแล้ว จึงดำเนินการกล่าวโทษ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานราชการ

ทั้งนี้ สตง.ยังระบุรายชื่อผู้ที่เข้าข่ายกระทำความผิดมาด้วย ประกอบด้วย นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯกทม. นายสหัส บัณฑิตกุล อดีตรองผู้ว่าฯกทม. รวมถึงข้าราชการที่อยู่ในคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาด้วย อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ กทม.ยังไม่สามารถแจ้งผลกลับไปที่ สตง.ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook