รู้หรือไม่? สงกรานต์สมัย ร.6 มีวันหยุดราชการติดต่อกัน 19 วัน บางกระทรวงหยุด 31 วัน

รู้หรือไม่? สงกรานต์สมัย ร.6 มีวันหยุดราชการติดต่อกัน 19 วัน บางกระทรวงหยุด 31 วัน

รู้หรือไม่? สงกรานต์สมัย ร.6  มีวันหยุดราชการติดต่อกัน 19 วัน บางกระทรวงหยุด 31 วัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้หรือไม่ ข้าราชการสมัย ร.6 มีวันหยุดราชการช่วงสงกรานต์ ยาวนานติดต่อกัน 19 วัน บางกระทรวงหยุด 31 วัน 

ในราชกิจจานุเบกษาสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศกำหนดวันหยุดราชการนักขัตฤกษ์ โดยได้กำหนดวันสำคัญทางราชการและทางศาสนาให้ข้าราชการได้หยุดพักผ่อน ซึ่งในสมัยนั้นวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี และวันสงกรานต์ก็เป็นวันสำคัญทางประเพณีและวัฒนธรรมของคนไทย จึงมีการกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการติดต่อกันนานหลายวัน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริว่า “ข้าราชการที่ได้รับราชการอยู่ทุกวันนี้ สมควรจะได้มีเวลาพักผ่อนร่างกายบ้าง แลตามนักขัตฤกษ์ที่ได้หยุดการ ก็มิใช่วันที่จะหยุดพัก แลการที่เคยหยุดกันมาก็แตกต่างไปตามหมู่ตามกระทรวง หาเปนการสมควรไม่ จึงควรให้เปนระเบียบอันเดียวกัน คือการหยุดนั้นมี 3 อย่าง สำหรับได้พักผ่อนร่างกายบ้างอย่างหนึ่ง หยุดเพื่อแสดงความเคารพต่อพระบรมราชวงษ์อย่างหนึ่ง เพื่อเคารพต่อพระสาสนาอีกอย่างหนึ่ง จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มต้นหยุด ตั้งแต่มีนาคม พุทธศักราช 2456 นี้เปนต้นไป”

ประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2456 (นับศักราชแบบใหม่ตรงกับ พ.ศ. 2457) จึงกำหนดวันหยุดราชการ ดังนี้ 

  • วันทำบุญพระบรมอัฐิและพระราชพิธีฉัตรมงคล ตั้งแต่วันที่ 9-12 พฤศจิกายน รวม 4 วัน
  • วันเฉลิมพระชนมพรรษา ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม ถึงวันที่ 3 มกราคม รวม 5 วัน
  • วันวิสาชบูชา รวม 3 วัน (ขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำเดือน 6)
  • วันเข้าพรรษา รวม 7 วัน (ขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1-5 ค่ำเดือน 8)
  • วันมาฆบูชา รวม 1 วัน (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)

โดยในการพระราชพิธีตรุษสงกรานต์และนักขัตฤกษ์ กำหนดให้หยุดราชการตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 15 เมษายน รวม 19 วัน

อ้างอิง : ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 30 หน้า 533 วันที่ 30 มีนาคม 2456

ต่อมา รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริว่า “งานในน่าที่ข้าราชการกระทรวงยุติธรรมต้องกระทำเปนงานหนักมาก แลบางคราวถ้ามีคดีฟ้องร้องกันมาขึ้น ก็ต้องรีบเร่งทำงานอยู่เกินเวลาปรกติเนือง ๆ เพื่อมิให้คดีเนิ่นช้ากว่าการที่ควร จึ่งควรให้มีเวลาพักผ่อนร่างกายได้ยาวกว่า 19 วันเป็นพิเศษ เพื่อจะได้มีกำลังปฏิบัติราชการในน่าที่ให้ดำเนินดียิ่งขึ้น…”

ดังนั้น จึงทรงมีพระบรมราชโองการประกาศ ลงวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2457 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการกระทรวงยุติธรรมหยุดราชการเพิ่มเติม จากเดิมตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 15 เมษายน เป็นตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 27 เมษายน รวมเป็นเวลา 1 เดือน

อ้างอิง : ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 31 หน้า 57 วันที่ 12 เมษายน 2457

กระทั่งเมื่อเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงทรงมีพระราชดำริว่า ข้าราชการสามารถลาหยุดได้ตามกฎของแต่ละกระทรวงอยู่แล้ว และทรงเห็นควรให้ยกเลิกการหยุดยาวตั้งแต่ต้นปีนั้นเสีย จึงทรงมีพระบรมราชโองการประกาศกำหนดวันหยุดราชการเสียใหม่ ดังนี้

  • วันตรุษสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 1-3 เมษายน รวม 4 วัน
  • วันจักรี 6 เมษายน
  • วันวิสาขบูชา รวม 3 วัน (ขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำเดือน 6)
  • วันเข้าพรรษา รวม 3 วัน (ขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำเดือน 8)
  • วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 23 ตุลาคม
  • วันเฉลิมพระชนมพรรษา ตั้งแต่วันที่ 7-9 พฤศจิกายน รวม 3 วัน
  • วันพระราชพิธีฉัตรมงคล ตั้งแต่วันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ รวม 3 วัน

โดยวันที่ 13 เมษายน ถูกกำหนดให้เป็นวันสงกรานต์และวันหยุดราชการเมื่อ พ.ศ. 2491 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook