ฮือฮา! พญานาคเล่นน้ำที่บึงโขงหลง

ฮือฮา! พญานาคเล่นน้ำที่บึงโขงหลง

ฮือฮา! พญานาคเล่นน้ำที่บึงโขงหลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชาวบ้าน อ.บึงโขงหลง จ.หนองคาย ฮือฮาพายุหมุนงวงช้างที่เกิดขึ้นเมื่อหลายวันก่อนที่บึงโขงหลง โดยเชื่อว่าเป็นพญานาคออกมาเล่นน้ำ เพราะเกิดในขณะที่ไม่มีพายุ ไม่มีลมพัด และเชื่อว่าพญานาคออกมาเล่นน้ำเนื่องจากคนในหมู่บ้านช่วยกันจัดระเบียบของบึงใหม่ ให้มีความสะอาดเรียบร้อย โดยพายุหมุนดังกล่าวเกิดขึ้นประมาณ 10 นาที 

อย่างไรก็ตาม ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัย และฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงปรากฏการณ์พายุงวงช้างว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่มักจะเกิดในน้ำ โดยเฉพาะในทะเลจะเห็นบ่อยกว่าในน้ำจืด สำหรับประเทศไทยเคยเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น แต่ไม่บ่อยนัก และไม่เป็นอันตราย เพราะมีขนาด 1% ของพายุทอร์นาโด

ทั้งนี้ลักษณะการเกิด "พายุงวงช้าง" หรือ "นาคเล่นน้ำ" มี 2 แบบ ได้แก่

1. เป็นพายุทอร์นาโด ที่เกิดขึ้นเหนือผืนน้ำ (ซึ่งอาจจะเป็นทะเล ทะเลสาบ หรือแอ่งน้ำใดๆ) โดยพายุทอร์นาโดจะเกิดขึ้นระหว่างที่ฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก เรียกว่า พายุฝนฟ้าคะนองแบบซูเปอร์เซลล์ (Supercell thunderstorm) และมีระบบอากาศหมุนวนที่เรียกว่า เมโซไซโคลน (Mesocyclone) จึงเรียกพายุนาคเล่นน้ำแบบนี้ว่า นาคเล่นน้ำที่เกิดจากทอร์นาโด (Tornado waterspout)

2. เกิดจากการที่มวลอากาศเย็น เคลื่อนผ่านเหนือผิวน้ำที่อุ่นกว่า โดยบริเวณใกล้ๆ ผิวน้ำมีความชื้นสูง และไม่ค่อยมีลมพัด (หรือถ้ามีก็พัดเบาๆ) ผลก็คืออากาศที่อยู่ติดกับผืนน้ำซึ่งอุ่นในบางบริเวณจะยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้อากาศโดยรอบไหลเข้ามาแทนที่ จากนั้นจึงพุ่งเป็นเกลียวขึ้นไป แบบนี้เรียกว่า "นาคเล่นน้ำ" (True waterspout) ซึ่งมักเกิดในช่วงอากาศดีพอสมควร (fair-weather waterspout) อาจเกิดได้บ่อย และประเภทเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากในช่วงที่เกิดมักจะมีพายุฝนฟ้าคะนองร่วมอยู่ด้วย

แต่ความแตกต่างของ 2 แบบนี้ก็คือ นาคเล่นน้ำที่เกิดจากทอร์นาโดจะเริ่มจากอากาศหมุนวน (ในบริเวณเมฆฝนฟ้าคะนอง) แล้วหย่อนลำงวงลงมาแตะพื้น คืออากาศหมุนจากบนลงล่าง ส่วนนาคเล่นน้ำของแท้จะเริ่มจากอากาศหมุนวนบริเวณผิวพื้นน้ำ แล้วพุ่งขึ้นไป คืออากาศหมุนจากล่างขึ้นบน ในช่วงที่อากาศพุ่งขึ้นเป็นเกลียววนนี้ หากน้ำในอากาศยังอยู่ในรูปของไอน้ำ เราจะยังมองไม่เห็นอะไร แต่หากอากาศขยายตัวและเย็นตัวลงถึงจุดหนึ่ง ไอน้ำก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำจำนวนมาก ทำให้เราเห็นท่อหรือ "งวงช้าง" เชื่อมผืนน้ำและเมฆ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "พายุงวงช้าง"

โดยส่วนใหญ่มีความยาวประมาณ 10 - 100 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมีตั้งแต่ 1 เมตร ไปจนถึงหลาย 10 เมตร โดยในพายุอาจมีท่อหมุนวนเพียงท่อเดียวหรือหลายท่อก็ได้ แต่ละท่อจะหมุนด้วยอัตราเร็วในช่วง 20-80 เมตรต่อวินาที กระแสลมในตัวพายุเร็วถึง 100 - 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจสูงถึง 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถคว่ำเรือเล็กๆ ได้สบาย ดังนั้น ชาวเรือควรสังเกตทิศทางการเคลื่อนที่ให้ดี แล้วหนีไปในทิศตรงกันข้าม นอกจากนี้ พายุชนิดนี้ยังสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วตั้งแต่ 3 - 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่ค่อนข้างช้าประมาณ 18 - 28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ พายุนี้มีอายุไม่ยืนยาวนัก คืออยู่ในช่วง 2 - 20 นาที จากนั้นก็จะสลายตัวไปในอากาศอย่างรวดเร็ว

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook