ปชป.ปูนบำเหน็จ นาม ยิ้มแย้ม นั่งกุนซือ รมว.ยธ. หวั่นเป็นเป้านิ่งโจมตี

ปชป.ปูนบำเหน็จ นาม ยิ้มแย้ม นั่งกุนซือ รมว.ยธ. หวั่นเป็นเป้านิ่งโจมตี

ปชป.ปูนบำเหน็จ นาม ยิ้มแย้ม นั่งกุนซือ รมว.ยธ. หวั่นเป็นเป้านิ่งโจมตี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ปชป.ตกรางวัล"นาม ยิ้มแย้ม"อดีตประธาน คตส. เชิญนั่งเก้าอี้ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม "สุเทพ" ส่งซิกให้ "พีระพันธ์" ทาบทาม เจ้าตัวตอบรับทันที พร้อมขอ"รถ-คนขับ"ประจำตำแหน่ง อ้างมีปัญหาสุขภาพ คนในพรรคค้านเสียงขรม หวั่นเปิดช่องให้ฝ่ายค้านโจมตี เคยมีข้อครหาช่วย"อภิรักษ์"หลุดคดีรถดับเพลิง แถมยังเป็นคนทำสำนวนยุบ ทรท. รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์แจ้งว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 มกราคม จะมีนำรายชื่อที่ปรึกษาและเลขานุการรัฐมนตรีบางส่วนเข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่อพิจารณา อาทิ นางอัญชลี วานิช เทพบุตร เป็นรองเลขานุการนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี), น.พ.พิทักษ์ ฐานบัญชา อดีตผู้สมัครส.ส.เขต 5 กทม. เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายวิทยา แก้วภราดัย), นายเอกชัย ทรงอำนาจเจริญ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายวิฑูรย์ นามบุตร), นายก้องศักดิ์ ยอดมณี เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกรณ์ จาติกวณิชย์), นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ลูกเขยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม(นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค) ข่าวแจ้งว่า ในส่วนของรัฐมนตรีหน้าใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ทุกคน จะมีผู้บริหารพรรคโดยเฉพาะนายสุเทพ เทือกสุบรรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนคัดสรรบุคคลที่จะเข้ามานั่งในตำแหน่งที่ปรึกษาและเลขานุการรัฐมนตรี ซึ่งมีหลายคนที่เมื่อถูกเสนอชื่อในที่ประชุม ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากบรรดารัฐมนตรี อาทิ นายประพันธ์ คูณมี นายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ และนายสำราญ รอดเพชร อดีตผู้สมัครส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เพราะรัฐมนตรีหลายคนหวั่นว่า จะมีภาพของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา เช่นเดียวกับการเชิญนายนาม ยิ้มแย้ม เข้ามาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรนีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ถูกแกนนำพรรคหลายคนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะแกนนำพรรคหลายคนหวั่นว่าจะกลายเป็นเป้าถูกโจมตีจากฝั่งตรงข้าม ที่สำคัญก่อนหน้านี้นายนาม เคยถูกกล่าวหาว่าพยายามช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์จากการทำสำนวนคดียุบพรรคไทยรักไทย และคดีรถดับเพลิง ที่มีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตกเป็นจำเลย ข่าวแจ้งว่า การทาบทาม นายนาม เข้ามานั่งเป็นที่ปรึกษาดังกล่าว นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รับคำเสนอแนะจากของนายสุเทพ โดยให้เหตุผลว่า นายนาม มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับข้อกฏหมาย อีกทั้งยังมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับคดีทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลายคดี น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของกระทรวงยุติธรรม จากนั้น นายพีระพันธุ์ ได้ต่อโทรศัพท์ไปทาบทาม และได้รับการตอบรับจากนายนาม เป็นที่เรียบร้อย โดยมีข้อแม้ว่า จะต้องมีรถประจำตำแหน่งพร้อมคนขับ เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องสุขภาพ อนึ่ง นายนาม ยิ้มแย้ม เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหามีกระบวนการว่าจ้างพรรคการเมืองให้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนายนาม มีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทยและให้ดำเนินคดีกับคณะกรรมการบริหารพรรค ในขณะนั้นบรรดาสมาชิกพรรคไทยรักไทยกล่าวหานายนามว่า มีความสนิทสนมกับนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แต่นายนามออกมาปฏิเสธ กระทั่งวันที่ 30พฤษภาคม 2540 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย เมื่อเกิดเหตุรัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปัตย์อันมีพระมห กษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยมีนายนาม ยิ้มเย้ม เป็นประธาน คตส.หยิบคดีการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร (กทม.) มูลค่า 6,700ล้านบาท ขึ้นมาสอบสวนหาผู้กระทำผิด โดยให้นายประเสริฐ บุญศรี เป็นประธานอนุกรรมการฯ แต่ปรากฎว่าคตส.ไม่เห็นชอบกับสำนวนการสอบสวนของอนุฯคตส.ถึง 3 ครั้ง เป็นเหตุให้นายประเสริฐ บุญศรี ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ว่ากันว่า สาเหตุที่คตส.ชุดใหม่ตีกลับสำนวนคดีรถดับเพลิงฯ เพราะอนุฯ คตส.ไม่สามารถให้เหตุผลว่า ทำไมจึงไม่มีชื่อนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น อยู่ในกลุ่มผู้ร่วมกระทำผิด ต่อมานายนาม ยิ้มแย้ม ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานอนุฯ คตส.คดีรถและเรือดับเพลิงฯ ปรากฎว่า ผลการสอบสวนคดีนี้ยืดเยื้อ จนกระทั่งคตส.หมดวาระลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 สำนวนคดีรถและเรือดับเพลิงฯ ส่งต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) พิจารณา จากนั้นปปช.มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 กับสำนวนรถและเรือดับเพลิงฯที่มี นายวิชา มหาคุณ เป็นประธานอนุฯสอบสวน โดยผู้ร่วมกระทำผิดในคดีนี้มีชื่อนายอภิรักษ์พ่วงอยู่ด้วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook