โทรขู่ มาร์ค วันละกว่า100สาย เจ้าตัวไม่หวั่น-มุ่งแก้วิกฤติศก.

โทรขู่ มาร์ค วันละกว่า100สาย เจ้าตัวไม่หวั่น-มุ่งแก้วิกฤติศก.

โทรขู่ มาร์ค วันละกว่า100สาย เจ้าตัวไม่หวั่น-มุ่งแก้วิกฤติศก.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศิริโชค ระบุโทรศัพท์ข่มขู่ อภิสิทธิ์ วันละกว่า100สาย นายกฯใช้เวลาวันหยุด ช่วยลูกพรรคหาเสียงเลือกตั้งซ่อม ส.ส. วอนขอเสียงรัฐบาลเพิ่มเพื่อความมั่นคง ไม่หวั่นข่าวลอบทำร้ายเดินหน้าแก้ปัญหาชาติให้เห็นผลภายใน 2-3 เดือน เอแบคโพลล์เผยผลสำรวจระบุรัฐบาลปชป.ชอบธรรม เมื่อเวลา 06.40 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปช่วยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 10 และ มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ที่สวนธนบุรีรมย์ ในการปฏิบัติภารกิจของนายกฯวันนี้มีการจัดกำลังดูแลรักษาความปลอดภัยมากเป็นพิเศษ โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่ ศรภ. และเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ กว่า 100 นาย พล.ต.ต.วรัญวัส การุณยธัช ผู้บังคับการ น. 8 กล่าวว่า มีการจัดกำลังรักษาความปลอดภัยตามปกติ เนื่องจากนายกฯเป็นบุคคลสำคัญ แต่กำชับให้ดูแลเป็นพิเศษมากขึ้น หลังมีข่าวลอบทำร้าย โดยมีการจัดเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ จาก สน.ราชบูรณะ มาดูแลรักษาความปลอดภัย ต่อมาเวลา 07.00 น.นายอภิสิทธิ์ ไปหาเสียงที่ตลาดใหม่ทุ่งครุ 61 ปากซอยประชาอุทิศ 61 จากนั้น 07.15 นายอภิสิทธิ์ขึ้นรถตระเวนหาเสียงตลอดพื้นที่สุขสวัสดิ์ ราษฎร์บูรณะ เวลา 8.10 ไปเดินหาเสียงที่เขตบางบอน บางขุนเทียน เวลา 09.05 นายอภิสิทธิ์ เดินทางไปสำนักงาน ส.ส.ของนายสากล ม่วงสิน ส.ส.ปชป. โดยขึ้นรถปราศรัย กล่าวกับประชาชนที่มามอบดอกไม้ให้กำลังใจว่า ขอบคุณทุกคนที่มาให้กำลังใจวันนี้ได้ดอกไม้เยอะมาก และยังได้แหวนอีก 2 วง วันนี้มาขอความกรุณา 2 เรื่อง คือ 1. การเลือกตั้งซ่อม ส.ส .และ 2. การเลือกผู้ว่า กทม.ในวันที่ 11 มค.นี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากจะอยากได้คนดีมาช่วยตนทำงานแล้ว การเลือกตั้งยังมีความหมายในการเมืองระดับชาติด้วย เพราะปี ที่ผ่านมา ประเทศประสบปัญหาอย่างมาก คนไทยมีความทุกข์จากปัญหาเศรษกิจที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก รวมทั้งการเมืองทั้งปี ก็มีความสับสนวุ่นวาย ในตอนที่ตนเป็นฝ่ายค้านก็พยายามช่วยแก้ปัญหาทุกโอกาส แต่สุดท้ายรัฐบาลก็มีปัญหาข้อกฎหมายต้องเปลี่ยนตัวนายกฯถึง 2 ครั้ง จนครั้งสุดท้ายตนได้รับเลือกเป็นผู้นำรัฐบาล ตนตั้งใจว่าถึงเวลาที่บ้านเมืองต้องเดินไปข้างหน้า ปัญหาของประชาชนควรได้รับการแก้ไข เพื่อให้คนไทยมีความสามัคคี โดยเราได้พบปะพูดคุย เชิญชวนคนต่างพรรคให้มาช่วยทำให้ประเทศ เดินไปข้างหน้า ซึ่งก็ได้พรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องการเห็นประเทศสงบมาร่วมกันทำงาน "ขณะนี้ เราได้เริ่มทำงานในฐานะรัฐบาลหลังแถลงนโยบายเสร็จ ซึ่งครั้งนี้ที่ไม่ได้แถลงนโยบายที่รัฐสภา เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่พอใจ ปัญหาการเมืองที่กิดขึ้น และไปชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ผมไม่อยากเห็นความสูญเสียอีก ถ้าจะสั่งให้ตำรวจสั่งสลายการชุมนุม เพื่อเปิดเส้นทางก็สามารถทำได้ แต่ไม่ทำ เพราะไม่อยากเห็นคนไทยตีกัน เหมือนช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และตำรวจที่มีแต่โล่ ก็เปิดทางไม่ได้ ประธานรัฐสภาจึงย้ายการประชุมไปที่กระทรวงการต่างประเทศ วันนี้ถือว่ารัฐบาลเข้าทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว" นายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า และในวันนั้นตนเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาช่วยเหลือเกษตรกร และตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป รัฐบาลจะเริ่มทำงานอย่างจริงจัง และจะมีการประชุมแก้ปัญหาเศรษฐกิจในวันพุธนี้เกี่ยวกับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลต้องการบรรเทาปัญหาของปีที่แล้ว ภายใน 1 เดือน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะออกมา และประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียนในเดือน กพ. จะเป็นการเรียกความเชื่อมั่นจากเวทีโลกได้ "การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ครั้งนี้ที่มีความสำคัญทางการเมือง เพราะตอนนี้เสียงรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้านเพียงเล็กน้อย ผลการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะมีความหมายต่อรัฐบาลจึงขอให้เลือกตั้ง เพื่อให้เสียงของรัฐบาลเพิ่มขึ้น เพื่อให้รัฐบาลมีความมั่นคง แต่ก็ไม่ใช่ว่าฝ่ายรัฐบาลจะเข้มแข็งเพียงอย่างเดียว ฝ่ายค้านต้องเข้มแข็งในการตรวจสอบด้วย เสียงฝ่ายค้านก็เข้มแข็งพอสมควรแล้ว" นายอภิสิทธิ์ กล่าวและว่า การที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายนอกสภาก็เป็นการตรวจสอบรัฐบาลอย่างหนึ่ง รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นการทำหน้าที่ ในการเลือกผู้ว่าฯ กทม.จริงแล้ว นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม. ยังอยู่ในตำแหน่งได้ แต่ไม่สามารถทำหน้าที่ต่อได้ ปชป.จึงเห็นว่าจะไม่เป็นธรรมกับประชาชน นายอภิรักษ์จึงลาออกเพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งใหม่ การเมืองในวิถีประชาธิปไตย ตนไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น รัฐบาลจะอยู่ครบหรือไม่ แต่ตนจะทำงานสุดความสามารถ หลายเรื่องแม้เราจะควบคุมไม่ได้ แต่จะให้ความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต แก้ปัญหาให้ผ่านไปได้ เชื่อว่าต่อไปประเทศไทยจะมีความมั่นคงได้อย่างแน่นอน เมื่อเวลา 09.30 นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์กรณี การปราศรัยที่แสดงความเป็นห่วงเสถียรภาพรัฐบาลว่า ไม่เช่นนั้น เพราะจริง ๆ เรายังเป็นเสียงข้างมากในสภา แต่ต้องการให้ประชาชนสนับสนุน เพื่อให้เกิดความมั่นคงมากขึ้น เมื่อถามว่าประเมินหรือไม่ในการเลือกตั้งซ่อม สส. จะเป็นจุดเปลี่ยนให้เกิดการเปลี่ยนขั้วอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่คิดอย่างนั้น แต่เราต้องเดินหน้าขอคะแนนเสียง ขอการสนับสนุจากประชาชนให้มากที่สุด เพราะต้องยอมรับว่าที่นั่งสส.ที่ว่าง ส่วนใหญ่เป็นของฝ่ายค้าน ระบุยังไม่ทราบความคืบหน้า"สุเทพ"เจรจา"ทักษิณ" นายอภิสิทธิ์ ตอบข้อถามถึงความคืบหน้าในการเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องถามนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพราะตนยังไม่ได้สอบถาม เมื่อถามว่า หลายฝ่ายเกรงว่าถ้ามีภาพการเจรจา กับ พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่เป็นผลดี นายกฯ กล่าวว่าตนย้ำว่าการเจรจา คือการพูดคุย ทำความเข้าใจกัน ว่ารัฐบาลยืนยันไม่มีการกลั่นแกล้งใคร รัฐบาลให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ภายใต้กรอบกฎหมาย และต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ถ้ามีอะไรที่จะทำให้ราบรื่นได้ก็อยากจะทำความเข้าใจกัน แต่ไม่มีเรื่องการต่อรองผลประโยชน์แน่นอน รัฐบาลไม่ทำเด็ดขาด ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ จะต่อรองขอแลกกับคดีความ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มี เรื่องนี้ชัดเจนรัฐบาลถือว่า การต่อรองเรื่องคดีความคงเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่ให้ความมั่นใจได้คือไม่มีการกลั่นแกล้ง จะให้ความเป็นธรรม เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะหวั่นไหวว่า พอมีการเปลี่ยนขั้ว จะมีการกลั่นแกล้ง ใช้อำนาจบีบในเรื่องต่าง ๆ เรายืนยันว่าไม่มี ทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ มั่นใจในความบริสุทธิ์ ก็ต้องพร้อมที่จะมีต่อสู้ ตามกระบวนการยุติธรรม ผู้สื่อข่าวถามว่าอยากให พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาต่อสู้คดี ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่ ้เพราะคิดว่าเป็นเรื่อง ปกติ และเราต้องการให้ทุกคนยอมรับกระบวนการยุติธรรมของไทย เพื่อเป็นการยืนยันว่า บ้านเมืองของเรามีมาตรฐาน นี่คือสิ่งที่เราต้องการสื่อสารด้วย "พงษ์เทพ"เผย"ทักษิณ"ระบุ"สุเทพ"ยังไม่ติดต่อ นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกประจำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวในรายการวิทยุอสมท. เอฟเอ็ม 100.5 เมกะเฮริทซ์ กรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯระบุว่าจะเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯและคนใกล้ชิดให้ยุติความเคลื่อนไหวที่สร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองว่า ตนเพิ่งโทรศัพท์คุยกับอดีตนายกฯเมื่อวันที่ 3 ม.ค.และทราบว่านายสุเทพยังไม่ได้ติดต่อไป และไม่เคยรับทราบว่าติดต่อผ่านคนใกล้ชิดด้วย เข้าใจว่าคงจะเป็นการให้ข่าวเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพราะจริงๆแล้วนั้นตนเคยพูดแล้วว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไม่ได้เป็นเรื่องระหว่างอดีตนายกฯกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นเรื่องระหว่างประชาธิปไตยกับสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มันเป็นความเห็นที่แตกต่างและต่อสู้ทางความคิด นายพงษ์เทพ กล่าวว่า ตนคิดว่า นปช.และคนเสื้อแดงเท่าที่ตนเคยสัมผัสในการปราศรัยนั้น คนกลุ่มนี้รักประชาธิปไตย อยากเห็นความเสมอภาคที่เท่าเทียมกันและประชาชนเป็นเจ้าของะชาธิปไตย อดีตนายกฯที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เพราะเคยเป็นนายกฯที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ และ โดน คมช.ยึดอำนาจ อดีตนายกฯจึงเป็นเสมือนตัวแทนประชาธิปไตย อดีตนายกฯไม่มีอำนาจชี้นำประชาชนเพราะคนกลุ่มนี้มาด้วยอุดมการณ์ และตอนนี้มีขบวนการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยโดยประกอบด้วยหลายส่วน พรรคประชาธิปัตย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งในกลไกนี้เท่านั้น เรื่องนี้มันไม่ใช่การคุยเพื่อเกี้ยเซี้ย ประนีประนอมยอมความกัน การยึดทำเนียบ การปิดสนามบิน มันเป็นความร่วมมือของหลายฝ่าย เช่นทหาร บางพรรคการเมือง อมาตยาธิปไตย สื่อบางแขนง นายพงษ์เทพกล่าวและว่าหากให้เดาใจอดีตนายกฯนั้นว่าจะคุยกับนายสุเทพหรือไม่นั้นเท่าที่ทราบเป็นการแสดงออกทางสื่อมวลชนแต่ในความจริงนั้นยังไม่มีการติดต่อใดๆกับอดีตนายกฯเลย เรื่องนี้ไม่ใช่การเจรจาระหว่างอดีตนายกฯกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯหรือนายสุเทพ เพราะมันเป็นเรื่องของขบวนการประชาธิปไตยกับขบวนการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เมื่อถามว่า หากแกนนำทั้งสองขั้วมาเจรจากันนั้น ปัญหาอาจยุติและสร้างประชาธิปไตยที่สังคมต้องการ อาจเป็นทางออกได้ นายพงษ์เทพ กล่าวว่า การสร้างประชาธิปไตยนั้น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องคุยกับอดีตนายกฯหรอกเพียงแต่สร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นจริงๆแต่ยอมรับว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องมีความตั้งใจที่แน่วแน่ของกลไกหลายอย่างแต่รัฐบาลที่ไม่ได้มาตามกลไกประชาธิปไตยในรูปแบบที่ควรจะเป็นและถูกต้องนั้น ถามว่าจะสร้างประชาธิปไตยได้อย่างไร เห็นง่ายๆไม่มีใครปฏิเสธว่ารัฐบาลชุดนี้มีที่มาจากทหารบางส่วน เมื่อถามว่าในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯนั้น ก็โดนกล่าวหาว่าเป็นประชาธิปไตยผูกขาด นายพงษ์เทพ กล่าวว่า ประชาธิปไตยในช่วงนั้นจะมีข้อบกพร่องอย่างใดแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งที่มาจากประชาชนและสามารถปรับได้ เพราะแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อใช้ไปแล้วก็มีข้อบกพร่องบางส่วน ตอนนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เชิญนักวิชาการมาพิจารณาว่าจะแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างไร เพียงแต่ตอนนั้นผลของเรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้น เพราะมีการยุบสภาไปก่อนจึงไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เมื่อถามว่าอดีตนายกฯจะมีแนวทางการสร้างความปรองดองในสังคมได้อย่างไร นายพงษ์เทพ กล่าวว่า ต้องสร้างความเสมอภาคในสังคมให้เกิดขึ้น รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เห็นแก่หน้าฝ่ายใดและไม่รับธงจากฝ่ายใดมาตัดสินแบบขัดหลักยุติธรรมรวมทั้งกลไกรัฐที่ถูกต้อง เช่น กกต.และ ปปช.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คมช.และเข้ามาทำหน้าที่นั้น บุคคลเหล่านี้จะกุมกลไกสำคัญได้อย่างไรและใครจะเชื่อถือ เพราะ คมช.แต่งตั้งบุคคลเหล่านี้เข้ามาแล้วตามรัฐธรรมนูญที่นิรโทษกรรมไว้แล้ว ถามว่าสังคมไทยมองเห็นอภิสิทธิ์ชนแล้วและจะอยู่กันอย่างไร เมื่อถามว่าหากอดีตฯนายกฯจะยอมคุยกับนายสุเทพนั้นจะมีเงื่อนไขใดบ้าง นายพงษ์เทพ กล่าวว่า ไม่ต้องคุยกับอดีตนายกฯเลยเพียงแต่จัดทำกระบวนการต่างๆให้เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นไปโดยแท้จริงและไม่มีอำนาจนอกระบบ อำนาจประชาธิปไตยต้องเป็นของประชาชน ไม่ใช่อยู่กับอภิสิทธิ์ชนเพียงไม่กี่คน การอยู่ร่วมกันโดนสงบสุขในประเทศนั้นต้องจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์ให้ทุกฝ่ายโดยเหมาะสมและมีเหตุผล ตรงนี้สังคมไทยจะอยู่ได้อย่างสงบ เมื่อถามว่า แต่อดีตนายกฯและรัฐบาลน่าจะคุยกันเพื่อหาทางออกให้สังคมได้ นายพงษ์เทพกล่าวว่า อดีตนายกฯเป็นคนไทยคนหนึ่งใน 63 ล้านคน ขอเพียงจะจัดสรรผลประโยชน์ให้อดีตนายกฯเท่าเทียมกับคนไทยทุกคนก็พอแล้ว โดยขอความเป็นธรรมที่คนไทยคนหนึ่งควรได้รับและไม่ขออภิสิทธิ์อะไร นายกฯวางแผนการทำงานให้เห็นผลใน2-3เดือนข้างหน้า นายอภิสิทธิ์ ตอบข้อถามที่ว่า รู้สึกอย่างไรที่มีโหรออกมาทำนายอายุรัฐบาล ว่า สามารถทำได้ เพราะตนไม่ก็ทราบ และไม่สามารถบอกได้ การเมืองในวิถีทางประชาธิปไตย แต่ตราบเท่าที่อยู่ ก็จะทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญกว่า เราพยายามวางแผนการทำงานให้เห็นผลใน 2 - 3 เดือนข้างหน้า อย่างน้อยต้องทำให้ประเทศของเราเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน และเวทีโลก ผู้สื่อข่าวกรณีที่โหรทำนายว่ารัฐบาลจะอยู่นานสุด 6 เดือน เร็วสุดไม่เกิน 3 เดือน นายกฯ กล่าวว่า อยู่ที่การทำงานของเรา และอยู่ที่การเมืองในสภา ตนจะทำให้ดีที่สุด ส่วนผลจะเป็นอย่างไร คิดว่าขณะนี้ไม่มีใครทราบ ผู้สื่อข่าวถามว่าภาระหน้าที่ ในการเป็นนายกฯ หนักกว่าที่คิดหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คิดอยู่แล้วว่าบ้านเมืองขณะนี้มีวิกฤติ และเข้าใจสถานการณ์นี้ เป็นอย่างดี "ศิริโชค"ระบุโทรศัพท์ข่มขู่"อภิสิทธิ์" วันละกว่า100สาย นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลาพรรคประชาธิปัตย์ คนสนิทนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการโทรศัพท์ข่มขู่นายอภิสิทธิ์ว่า เรื่องดังกล่าวมีมาตั้งแต่หลังโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาฯช่วงแรกๆแต่ละวันเกิน 100 สาย มีทั้งการโทรศัพท์เข้ามายังมือถือ มีทั้งการส่งข้อความผ่านเอสเอ็มเอส ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย อย่างไรก็ตามนายอภิสิทธิ์มักจะรับโทรศัพท์เอง และก็ชี้แจงอธิบายทำความเข้าใจ โดยไม่ได้วิตกหรือเกรงกลัว ซึ่งก็มีบางคนที่เข้าใจ แต่บางคนก็ยังไม่เข้าใจ นายอภิสิทธิ์จึงบอกว่าให้อดทนและชี้แจงกันต่อไป ระยะหลังนายกรัฐมนตรีมีภารกิจมาก ตนก็จะเป็นผู้รับโทรศัพท์แทนบ้าง ทั้งนี้จากการสอบถามคนที่โทรศัพท์เข้ามา ส่วนใหญ่จะบอกว่ารู้เบอร์นายกรัฐมนตรีมาจากรายการวิทยุชุมชนคนรักแท๊กซี่ นายกรัฐมนตรีท่านชอบรับโทรศัพท์เอง เพราะเป็นคนสู้ และต้องการชี้แจงข้อเท็จจริง และยืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนเบอร์อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามในส่วนของการข่าวก็ยอมรับว่ามีการรายงานเข้ามาเป็นระยะ แต่ไม่ถึงขั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกวางระเบิดเครื่องบิน สายการบินไทย ส่วนที่คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ออกมาระบุว่าให้เอาหลักฐานการถูกข่มขู่มาชี้แจงนั้น ก็ไม่รู้ว่าท่านคิดได้อย่างไร เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดช่วงวันที่ 30 ธ.ค.2551-3 ม.ค.2552 อย่างที่คุณณัฐวุฒิกล่าวอ้าง ทำไมถึงเก่งเรื่องการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างนี้ มิน่าถึงไม่ได้เป็น ส.ส.สักที สงสัยเป็นเพราะมีข้อมูลอย่างนี้นี่เองนายศิริโชค กล่าว นายศิริโชคกล่าวว่าสำหรับการดูแลรักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้แต่ทหารนั้นก็ไม่เป็นความจริง ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ก็มาจากศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ซึ่งก็มีการสนธิกำลังทั้งทหารและตำรวจ จริงๆแล้วเวลาที่ไปไหนมาไหนเป็นการส่วนตัวนายกรัฐมนตรีไม่อยากให้มี รปภ.แต่เจ้าหน้าที่ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของเขา อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีไม่มีศัตรูที่ไหน ถึงวันนี้ถ้ามีก็มีเพียงไม่กี่คน ส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์ ดังนั้นจึงไม่เป็นปัญหาในการลงพื้นที่ หากมีภารกิจนายกรัฐมนตรีก็พร้อมที่จะเดินทางไป "อภิสิทธิ์"ยืนยันทำหน้าที่ตามปกติไม่หวั่นข่าวลอบทำร้าย นายอภิสิทธิ์ ตอบคำถามถึงข่าวลอบทำร้าย ว่า ตนไม่ประมาท โดยตนก็ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ เมื่อถามว่าจากการตรวจสอบใครเป็นคนต้องการทำร้าย นายกฯ กล่าวว่า จะมีกลุ่มที่เคลื่อนไหว บางทีอาจจะเป็นเรื่องของอารมณ์ก็ได้ เมื่อถามว่า ความรุนแรงอยู่ระดับไหน นายกฯ กล่าวว่า บางทีคำพูดต่าง ๆ ที่ใช้ก็อาจจะเกินเลยไป เมื่อถามว่ารุนแรงถึงขั้นเตรียมก่อเหตุหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตอนที่มีการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา แม้ว่าแกนนำ จะประกาศว่าทุกอย่างไม่มีปัญหาอะไร แต่คนที่เข้าไปอยู่ในนั้น ก็รายงานว่ามีน้ำกรดและอาวุธด้วย ซึ่งเราไม่รู้ว่าแกนนำจะรู้หรือไม่ เขาอาจจะไม่ทราบก็ได้ แต่ก็อาจจะมีคนบางกลุ่ม ที่อาจจะมีอารมณ์รุนแรง เป็นเตรื่องที่เราไม่ประมาท เมื่อถามว่า กลัวหรือไม่ เพราะต้องลงพื้นที่ตลอด นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีสิทธิกลัว เราอาสามาทำหน้าที่ ก็ต้องเดินหน้าทำงาน ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง แต่ก็ไม่ได้ตั้งตนในความประมาท ส่วนจะต้องเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปอลดภัยหรือไม่นั้น เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ เอแบคโพลล์เผยผลสำรวจระบุรัฐบาลปชป.ชอบธรรม ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย กับการเข้าสู่อำนาจของพรรคประชาธิปัตย์ ในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู ขอนแก่น สกลนคร เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ระนอง และพัทลุง จำนวนทั้งสิ้น 3,169 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2551 - 3 มกราคม 2552 ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 70 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์ เมื่อถามถึงการคาดการณ์ต่อสังคมไทยในปี พ.ศ. 2552 ในมุมมองของประชาชนต่อเรื่องบรรยากาศทางการเมือง สถานการณ์เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ของคนในสังคม วัฒนธรรมประเพณีไทย และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ว่าจะดีขึ้น ดีเหมือนเดิม แย่เหมือนเดิม หรือว่าแย่ลง ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.5 ระบุว่า คาดว่าบรรยากาศทางการเมืองจะแย่ลง และร้อยละ 24.6 คาดว่าจะแย่เหมือนเดิม ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.3 คาดว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจจะแย่ลงไปอีก และร้อยละ 20.0 คาดว่าจะแย่เหมือนเดิม นอกจากนี้ ร้อยละ 58.5 คาดว่าความสัมพันธ์ของคนในสังคมจะแย่ลง และร้อยละ 22.4 คาดว่าจะแย่เหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนที่ถูกศึกษานึกถึงวัฒนธรรมประเพณีไทย ผลสำรวจพบว่า ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 42.2 คาดว่าจะยังคงดีเหมือนเดิม และร้อยละ 10.8 จะดีขึ้น ในขณะที่ ร้อยละ 22.3 คาดว่าจะแย่ลง และร้อยละ 17.4 คาดว่าจะแย่เหมือนเดิม และเมื่อคาดการณ์ถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พบว่า ร้อยละ 35.3 คาดว่าจะแย่ลง ร้อยละ 25.0 คาดว่าจะแย่เหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 28.7 คาดว่าจะดีเหมือนเดิม และเพียงร้อยละ 4.2 เท่านั้นที่คาดว่าความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจะดีขึ้น ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความชอบธรรมของพรรคประชาธิปัตย์ในการเข้าสู่อำนาจหลังการเมืองเปลี่ยนขั้ว ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.9 ระบุว่ามีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ร้อยละ 14.4 ระบุว่าไม่มีความชอบธรรม และร้อยละ 14.7 ระบุไม่มีความเห็น เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามออกตามภูมิภาค พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในทุกภูมิภาคมองว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจหลังการเมืองเปลี่ยนขั้ว คือภาคเหนือร้อยละ 68.0 ภาคกลางร้อยละ 73.8 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 55.2 ภาคใต้ร้อยละ 88.8 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 63.1 อย่างไรก็ตาม ที่น่าสังเกตคือ ประชาชนในสามภูมิภาคคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 29.7 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 23.8 และภาคเหนือร้อยละ 16.2 ที่มองว่าไม่มีความชอบธรรม ที่เหลือไม่มีความเห็น โดยประชาชนในภาคกลางมีประชาชนที่ไม่ออกความเห็นร้อยละ 18.8 ภาคเหนือร้อยละ 15.8 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 13.1 ที่ไม่แสดงความเห็นต่อประเด็นคำถามดังกล่าว แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการเข้าสู่อำนาจเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์มีความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อถามถึง จุดยืนทางการเมืองของประชาชนว่า อยู่ฝ่ายใด ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.9 ขออยู่ตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด คือ ขอเป็นพลังเงียบ ในขณะที่ ร้อยละ 26.4 สนับสนุนรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และเพียงร้อยละ 5.7 ไม่สนับสนุน เมื่อจำแนกกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำ กลุ่มคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตบ้าง และกลุ่มคนที่ไม่เคยใช้เลย ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ขออยู่ตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด คือคนใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำร้อยละ 58.6 คนใช้อินเทอร์เน็ตบ้าง ร้อยละ 70.1 และคนที่ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ตเลย ร้อยละ 69.2 ขอเป็นพลังเงียบ แต่ที่น่าสนใจคือ คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำมีสัดส่วนสูงกว่าทุกกลุ่มที่แสดงจุดยืนสนับสนุนรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ คือ ร้อยละ 34.5 ส่วนคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตบ้าง และกลุ่มคนที่ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ตเลย มีอยู่ ร้อยละ 25.3 และร้อยละ 25.2 ที่สนับสนุนรัฐบาล ส่วนร้อยละที่เหลือคือประมาณร้อยละ 5 ของทุกกลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล ในผลวิจัยครั้งนี้ เมื่อจำแนกจุดยืนทางการเมืองของประชาชนออกตามเขตพื้นที่ คือกลุ่มคนในเขตเทศบาล กลุ่มคนที่อยู่นอกเขตเทศบาล และกลุ่มคนที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร พบว่า คนส่วนใหญ่ในทุกพื้นที่ขออยู่ตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ขอเป็นพลังเงียบ เช่นกัน ดร.นพดล กล่าวว่า ผลวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงคาดการณ์ว่าสังคมไทยในปี 2552 ยังคงมีปัญหาย่ำแย่ในเรื่องหลักๆ หลายด้าน เช่น บรรยากาศทางการเมือง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ของประชาชนในสังคม อย่างไรก็ตาม ในมิติด้านวัฒนธรรมประเพณีไทย น่าจะเป็นทางออกทางหนึ่งที่สำคัญสำหรับการฟื้นฟูบรรยากาศทางการเมืองและสังคมไทยได้ดี ถ้าหากวัฒนธรรมประเพณีไทย จะนำมาซึ่ง ความรักความสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูล มีน้ำใจ ไมตรีจิตต่อกัน และการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมทางศาสนาด้วยกัน เช่นทำบุญ ตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลน่าจะอาศัยช่องทางในบทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานราชการอื่นๆ ด้านสังคม เป็นตัวเชื่อมประสาน ใจร้าว และร่องรอยของความแตกแยกในสังคมของประชาชนที่มีจุดยืนทางความคิดหรืออุดมการณ์ที่แตกต่าง นอกจากนี้ นัยสำคัญของข้อมูลผลวิจัยที่ค้นพบในครั้งนี้อีกประการหนึ่งคือ จำนวนของประชาชนที่มีจุดยืนทางการเมืองหลังเปลี่ยนขั้วรัฐบาลแตกต่างไปจากการสำรวจก่อนหน้านี้ คือ หลังเปลี่ยนขั้วสลับข้างการเป็นรัฐบาลของฝ่ายการเมือง ก็มีประชาชนกลุ่มหนึ่งหันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ในจำนวนพอๆ กันกับช่วงสมัยที่อดีตพรรคพลังประชาชนเคยได้รับ แต่ที่แตกต่างไปจากการวิจัยก่อนหน้านี้คือ กลุ่มคนไม่สนับสนุนผู้ที่เป็นรัฐบาลลดลงเหลือเพียงประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น จากเดิมที่เคยพบประมาณร้อยละ 10 - 15 และบางครั้งสูงถึงร้อยละ 20 เลยทีเดียว ซึ่งนัยของตัวเลขครั้งนี้อาจสอดคล้องกับแนวคิดของประชาชนบางกลุ่มที่เคยสัมภาษณ์เจาะลึกไว้ว่า ใครก็ได้มาเป็นรัฐบาลหรือเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ขอให้ทำประเทศชาติสงบสุข ประชาชนอยู่ดีมีสุข ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มการเมืองร่วมรัฐบาลต้องใช้โอกาสนี้เร่งแสดงผลงานให้ปรากฏต่อสาธารณชน ทำงานรวดเร็วฉับไวแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันในทุกภูมิภาค อย่าทำให้ประชาชนผิดหวังซ้ำซากอีกต่อไป ผ.อ.เอแบคโพลล์ กล่าว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook