สพภ.ผลักดันหลักการ PES พร้อมนำร่องที่เขาอ่างฤาไน

สพภ.ผลักดันหลักการ PES พร้อมนำร่องที่เขาอ่างฤาไน

สพภ.ผลักดันหลักการ PES พร้อมนำร่องที่เขาอ่างฤาไน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. จัดสัมมนา เรื่อง แนวทางผลักดันหลักการ PES (Payment for Ecosystem Service) ให้เป็นรูปธรรมในประเทศไทย เพื่อระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดย สพภ.ได้ร่วมกับกรมอุทยานฯ และนักวิชาการ ศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับโครงการนำร่อง PES ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน

            นายเสมอ ลิ้มชูวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สพภ. กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นการสร้างความเข้าใจในหลักการ PES คือ การจ่ายค่าตอบแทนให้กับชุมชนหรือผู้ที่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยผู้ที่มีบทบาทในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือผู้ให้บริการควรได้รับ ค่าชดเชยหรือค่าตอบแทน และผู้ที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือผู้ที่ได้รับจากระบบนิเวศควร ต้องจ่ายเพื่อแลกกับบริการทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือประโยชน์ที่ได้รับ โดยจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้มีบทบาทในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ อาจอยู่ในรูปของตัวเงินหรือสิ่งตอบแทนอื่นที่ไม่ใช่เงิน โดยเห็นว่าหลักการ PES จะเป็นแนวทางที่จะพัฒนามูลค่าเศรษฐกิจของทรัพยากรชีวภาพทางตรงอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่ดูแลรักษาธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ จึงควรมีการนำแนวทาง PES มาประยุกต์ใช้ให้เป็นรูปธรรมในประเทศไทย

พร้อมกันนี้ ยังได้พิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายการดำเนินงานด้าน CSR จากภาคเอกชนไปสู่ PES อีกทางหนึ่ง ขณะนี้ สพภ.ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในการเตรียมการดำเนินงานโครงการนำร่องจ่ายค่าตอบแทนให้ชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นหลักประกันความยั่งยืนด้านการใช้ประโยชน์และการบริหารตามหลักการ PES ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนต่อไป

            นอกจากนี้ ในวันที่ 23-24 กันยายน สพภ.จะจัดมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ปี 2553 เรื่อง “2553 ปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ จุดเริ่มต้นของการสร้างเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพอย่างยั่งยืน” ณ ลานเอนกประสงค์ ชั้น 2 ศูนย์ราชการฯ อาคารบี ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ การอภิปราย การสัมมนาทางวิชาการ กิจกรรมสาระบันเทิงต่างๆ และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรชีวภาพของชุมชน สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0 2141 7808

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook