ปิดฉาก7วันอันตรายตาย 367 ศพ เจ็บ 4,107 คน

ปิดฉาก7วันอันตรายตาย 367 ศพ เจ็บ 4,107 คน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
(6ม.ค.) เวลา 11.00 น. ที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สรุปสถิติอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 วันที่ 5 ม.ค. 2552 เกิดอุบัติเหตุรวม 275 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 32 คน ผู้บาดเจ็บ 297 รวม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2551 - 5 ม.ค. 2552 ได้เกิดอุบัติเหตุรวม 3,824 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 367 คน ผู้บาดเจ็บ 4,107 คน โดย ศปถ. รับเป็นเจ้าภาพหลักในการร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องนำสถิติอุบัติเหตุไปวางแผนป้องกันอุบัติเหตุทางถนนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเร่งแก้ปัญหาการกระทำผิดกฎจราจร โดยบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด ดำเนินคดีขั้นสูงสุด ตลอดจนประสาน อปท. ร่วมป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงในการขับรถของเด็กและเยาวชน

โดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนคนที่ 1 เป็นประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 วันที่ 6 ม.ค. 2552ว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 5 ม.ค. 2552 เป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ในช่วง 7 วันระวังอันตราย เกิดอุบัติเหตุรวม 275 ครั้ง น้อยกว่าปี 2551 ( 354ครั้ง) จำนวน 79 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 22.32 มียอดของผู้เสียชีวิต 32 คน เท่ากับปี 51 ( 32 คน) ส่วนผู้บาดเจ็บ 297 คน น้อยกว่าปี 51 (389 คน) จำนวน 92 คน คิดเป็นร้อยละ 23.65

// //

รมว.มหาดไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 27.64 เมาสุรา ร้อยละ 23.27 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.89 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 54.91 บนถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 38.54 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงกลางคืน ร้อยละ 65.45 โดยเฉพาะช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 34.18 ผู้บาดเจ็บและ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน (อายุ 25 - 49 ปี) ร้อยละ 48.94 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 18 ครั้ง

รมว.มหาดไทย ระบุว่า จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด 4 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา 33 คน โดยได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,943 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 77,587 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 593,015 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการ 3 ม. 2 ข. 1 ร. รวม 61,052 ราย ไม่มีใบขับขี่ 17,245 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 15,023 ราย

นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ศปถ.ได้สรุปอุบัติเหตุทางถนน 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2551 - 5 ม.ค.2552 เกิดอุบัติเหตุสะสมรวม 3,824 ครั้ง น้อยกว่าปี 51 ยอดของผู้เสียชีวิตรวม 367 คน น้อยกว่าปี 51 ที่มียอดอยู่จำนวน 401 คน ขณะที่ผู้บาดเจ็บรวม 4,107 คน ซึ่งจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุรวมสูงสูด ได้แก่ เชียงราย 118 ครั้ง จังหวัดที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ยโสธร ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตรวมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 21 คน จังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต มี 7 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร สกลนคร นครพนม แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี กระบี่ และระนอง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่เพชรบูรณ์ 136 คน

ผมรู้สึกมีความสุขที่ยอดสถิติลดลง เพราะเคยฟันธงไว้ว่าให้ยอดลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ถึงผลออกมาลด10-15 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าพอใจแล้ว จังหวัดที่มียอดอุบัติเหตุสูง ก็จะเตือนให้มีมาตรการเข้มงวดกว่าเดิม ซึ่งสถิติก็ยังพบว่าส่วนใหญ่อุบัติเกิดจากรถมอเตอร์ไซค์ ผมจึงเสนอให้มีการตีเส้นทางเดินรถมอเตอร์ไซค์โดยเฉพาะ เหมือนต่างประเทศ ซึ่งเรื่องหลายฝ่ายต้องศึกษารายละเอียดเพื่อหาแนวทางอีกครั้ง นายชวรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุทางถนนตลอดช่วง 7 วันระวังอันตราย พบว่า สาเหตุและพฤติกรรมเสี่ยง เกิดจากการเมาแล้วขับ ร้อยละ 41.06 โดยยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.23 และเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี เป็นกลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุดถึงร้อยละ 43.88 ส่วนใหญ่เกิดในช่วงเส้นทางตรง ร้อยละ 57.74 บนถนนนอกเขตทางหลวงแผ่นดินในเขตชุมชน หมู่บ้าน ร้อยละ 34.15 และ ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 33.75 ช่วงกลางคืนเป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ 67.34

ด้านนายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระยะยาวของประเทศ ศปถ.จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในเทศกาลปีใหม่ 2552 มาวิเคราะห์ ประมวลหาสาเหตุ เพื่อนำไปใช้วางแผนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนทั้งในช่วงปกติและเทศกาลสำคัญให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ศปถ.พบว่า ยังมีผู้กระทำผิดกฎจราจรจำนวนมาก จะประสานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายและวินัยจราจรอย่างเคร่งครัด ให้ดำเนินคดีในอัตราโทษขั้นสูงสุด หากผู้กระทำผิดกฎจราจรเป็นเด็กและเยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยจะเป็นเจ้าภาพในการส่งเสริมและประสานความร่วมมือกับผู้นำชุมชน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบ เพื่อป้องปรามและควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงในการขับรถของเด็กและเยาวชน นายอนุชา กล่าว

นายอนุชา กล่าวต่อว่า จะแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเสี่ยง โดยเร่งฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการขับขี่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ยังคงเป็นการเมาแล้วขับ ทางศปถ.จะประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดกวดขันการจำหน่ายสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของร้านค้าให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง

เลขานุการฯ ศปถ. กล่าวว่า ในส่วนของอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากสภาพความบกพร่องของเส้นทาง จะประสานให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับปรุงแก้บริเวณที่เป็นจุดเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะทางร่วม ทางแยก ระหว่างทางหลวงแผ่นดินกับถนนทางหลวงชนบท ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้การปิดศูนย์เป็นสัญลักษณ์ยุตติการรณรงค์ แต่จะมีมาตรการป้องกันตลอดปี โดยมีกรรมการหลายชุดเป็นฝ่ายดำเนินการ

นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ไม่อยากให้การรณรงค์เป็นไฟไหม้ฟาง ผู้ว่าฯต้องไปพูดคุยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้ามามีส่วนร่วม โดยตนจะให้นายสุธ มากบุญ รองปลัดกระทรวง ทำเป็นคะแนนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในเรื่องยอดการลดอับติเหตุในท้องถิ่น นอกจากนี้ ท้องถิ่นต้องกำชับประชาชนให้มีวินัยจราจร โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีใบขับขี่รถยนต์

ด้าน น.พ .แท้จริง ศิริพานิช เลขามูลนิธิเมาไม่ขับกล่าวภายหลังการแถลงว่า ตนอยากให้มีการเปิดศูนย์อย่างต่อเนื่อง ไม่นั้นประชาชนจะรู้ว่าหมดช่วงการรณรงค์ ซึ่งจริงๆแล้วศูนย์สามารถรายงานผลอุบัติเหตุเป็นรายสัปดาห์พื่อให้ผู้ขับขี่ตระหนักถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ควรผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มานั่งประชุมด้วย เพื่อว่าจะหาแนวทางช่วยลดอุบัติเหตุได้อย่างไร ซึ่งตนเห็นว่าขายได้ แต่ต้องมาช่วยกันบ้าง

ตะลุยข่าว : THE GREEN POLICE กองปราบฯ สู่ศตวรรษที่ 21

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกสามารถระงับยับยั้งปัญหาอาชญากรรมให้ลดลงและควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้ ตรงกันข้ามกับประเทศไทย กลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และมีการกล่าวถึงในระดับนานาชาติว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook