หงา คาราวาน-พิศมัย-สุประวัติ ศิลปินแห่งชาติประจำปี 53

หงา คาราวาน-พิศมัย-สุประวัติ ศิลปินแห่งชาติประจำปี 53

หงา คาราวาน-พิศมัย-สุประวัติ ศิลปินแห่งชาติประจำปี 53
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงวัฒนธรรมประกาศศิลปินแห่งชาติ ปี 53 ทั้งหมด9คนแล้ว มี หงา คาราวาน พิสมัย วิไลศักดิ์ และสุประวัติ ปัทมสูต ด้วย

สวธ.ประกาศศิลปินแห่งชาติ ปี 53 จำนวน 9 คน ใน 3 สาขา อาทิ สาขาวรรณศิลป์ “สุรชัย จันทิมาธร หรือหงา คาราวาน” สาขาศิลปะการแสดง “พิสมัย วิไลศักดิ์-สุประวัติ ปัทมสูต” และสาขาทัศนศิลป์ “เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี” อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งหมดจะเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันศิลปินแห่งชาติ 24 ก.พ.

นายสมชาย  เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า ตามที่ วธ.มอบหมายให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ดำเนินการสรรหาศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะให้เป็นมรดกล้ำค่าของแผ่นดิน มายกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปัจจุบันในปี 2553 คณะอนุกรรมการอำนวยการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติได้คัดเลือกผลงานสร้างสรรค์งาน ศิลปะของศิลปินเพื่อนำเสนอคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติพิจารณา คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินผู้มีความสามารถ และอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจนโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อสาธารณชนเป็น ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2553 ได้แก่ 1.สาขาทัศนศิลป์ นายธงชัย รักปทุม (จิตรกรรม) ซึ่งเป็นอดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วธ.ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้านจิตรกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ นายเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี (สถาปัตยกรรมไทย) อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางประนอม ทาแปง (ประณีตศิลป์-ศิลปะผ้าทอ) ชาวแพร่ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการทอผ้าเป็นเลิศ ที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือการทอผ้าตีนจกที่สวยงาม

2.สาขาวรรณศิลป์
ได้แก่ นายสมบัติ พลายน้อย (สารคดี เรื่องสั้น) เป็นนักประพันธ์ที่สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องรวมเวลากว่า 6 ทศวรรษ และผลงานเขียนกว่า 100 เรื่อง นายสุรชัย จันทิมาธร (เรื่องสั้น สารคดี กวีนิพนธ์) เป็นทั้งนักเขียน กวี และคีตศิลปิน มีผลงานเขียนทั้งเรื่องสั้น บทกวี นวนิยาย และบทเพลงเพื่อชีวิตของวงคาราวาน และ 3.สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ นายควร ทวนยก (ดนตรีพื้นบ้าน) เป็นนายปี่ให้คณะหนังตะลุงและโนราหลายคณะในหลายจังหวัดภาคใต้ ผศ.พันเอกพิเศษชูชาติ พิทักษากร (ดนตรีสากล) เป็นครูผู้พัฒนาหลักสูตรวิชาการดนตรีในโรงเรียนดุริยางค์และผู้ควบคุมวง ดุริยางค์ แสดงในวาระสำคัญ ๆ ของชาติทั้งในและต่างประเทศ นางสาวพิสมัย วิไลศักดิ์ (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์-นักแสดง) เป็นนักแสดงและครูสอนศิลปะการแสดง และนายสุประวัติ ปัทมสูต (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์-ผู้กำกับ นักแสดง) เป็นศิลปินที่มากประสบการณ์มีความตื่นตัวที่จะพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพอยู่ เสมอ

นายอภินันท์ โปษยานนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติ เมื่อปี 2527 และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปีแรกปี 2528 จนถึงปัจจุบัน (2553) มีศิลปินสาขาต่าง ๆ ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ รวมแล้ว 212 คน เสียชีวิตไปแล้ว 87 คน และมีชีวิตอยู่ 125 คน  สำหรับผู้ได้รับการยกย่องในครั้งนี้จะได้รับเงินตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท และสามารถเบิกเงินสวัสดิการเพื่อการรักษาพยาบาลได้ตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย และหากเสียชีวิตจะมีค่าช่วยเหลืองานศพ 15,000 บาท ค่าจัดทำหนังสือที่ระลึก 120,000 บาท

ทั้งนี้ ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2553 จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันศิลปินแห่งชาติ และในวันดังกล่าวจะมีงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ศิลปินแห่งชาติ พร้อมพิธีเปิดนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook