ฮุน เซน ร้องไทย รับผู้สังเกตการณ์อินโดฯ

ฮุน เซน ร้องไทย รับผู้สังเกตการณ์อินโดฯ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สำนักข่าวดืม อัม ปึล (DAP) ของกัมพูชา และ สำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานวานนี้ (10) อ้างคำกล่าวของ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เรียกร้องให้ไทยตอบรับข้อเสนอของรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานนะประธานหมุนเวียนอาเซียน ในการส่งผู้สังเกตการณ์ไปยังพื้นที่พิพาท และข้อเสนอให้การจัดประชุมข้อพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชา ในวันที่ 24-25 มีนาคม นี้ พร้อมกล่าวยืนยันว่า กัมพูชา ได้ตอบรับข้อเสนอดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ สมเด็จฮุน เซน ยังกล่าวด้วยว่า ถ้าไทยไม่ตอบรับอินโดนีเซีย ตนจะทำการร้องเรียนไปยัง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและอาเซียน ให้รู้ว่า ฝ่ายไหนที่รักสันติและต้องการยุติปัญหาความขัดแย้งพรมแดนอย่างจริงจัง ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น ฝ่ายกัมพูชา ได้แจ้งไปยัง อินโดนีเซียเรียบร้อยแล้ว ถึงตำแหน่งที่ตั้งของผู้สังเกตการณ์และระยะเวลาสำหรับภารกิจ การตรวจสอบ และ "หากไทยเห็นชอบกับข้อเรียกร้องของอินโดนีเซีย กัมพูชาก็จะส่งหัวหน้าคณะทูตไปประชุมกรรมาธิการชายแเดน

ข้อเรียกร้องของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีขึ้น หลังจากที่ นายมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้ส่งหนังสือถึง นายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศไทย และรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนอื่น ๆ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ระบุว่า กัมพูชา ได้ตอบกับร่างของ TOR และข้อเสนอจัดประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา หรือ GBC และคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม จัดทำหลักเขตแดนทางบก หรือ JBC ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ในระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคมนี้แล้ว และตนก็หวังว่า จะได้ยินการตอบสนองเชิงบวกจากไทย และเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือนแล้ว นับแต่การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ซึ่งทางอินโดนีเซียเอง ก็เชื่อเสียเหลือเกินว่า ทุกฝ่ายจะต้องสำนึกได้ว่า มีภารกิจที่ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้ ในจดหมายฉบับเดียวกัน นายมาร์ตี ยังกล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ในเงื่อนไขของ TOR และขอให้ทั้งไทยและกัมพูชา หันไปใช้ TOR ฉบับใหม่นี้

ด้าน สมเด็จ ฮุน เซน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงบางอย่างในTOR รวมถึง การรับประกันว่า TOR จะไม่ดำเนินการใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ , การรักษาความปลอดภัย หรือ ผลประโยชน์สำคัญของรัฐ และผลการเจรจาการปักปันเขตแดนระหว่างสองประเทศ ส่วนการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น คือ การลดระยะเวลาของผู้สังเกตการณ์ จาก 12 เดือน เหลือ 9 เดือน เนื่องจาก อินโดนีเซีย เหลือเวลาการเป็นประธานหมุนเวียนอาเซียน อีกเพียง 9 เดือน แต่อย่างไรเสีย กัมพูชา ก็เห็นด้วยอย่างยิ่งกับ TOR ฉบับใหม่ และได้ตอบสนองทางบวกกลับไปยังอินโดนีเซียแล้ว เมื่อวันพุธ

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวด่วนกัมพูชา (CEN) รายงานวันเดียวกัน อ้างการเปิดเผยของ นาย กอยเกือง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ว่า ทางกระทรวงฯ ได้รับหนังสือจากอินโดนีเซีย ที่เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลง เงื่อนไขข้อตกลง หรือ TOR สำหรับ วางกำลังผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย ในพื้นที่พิพาทพรมแดนไทย-กัมพูชา ในหลายประเด็น ซึ่ง นายกอย เกือง เองไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ เพียงแต่กล่าวว่า ทางกัมพูชา จะยอมรับข้อเปลี่ยนแปลงทั้งหมด รวมถึง ประเด็นที่ได้รับการแก้ไขใหม่ใน TOR
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook